บ้านสันตะลุง เมืองแห่งพลังงานทดแทน ที่มีวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง


บ้านสันตะลุง ต.ท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จ.ลพบุรี คือการท่องเที่ยวแนวทัศนศึกษาแบบได้สาระ เพราะเป็นเมืองต้นแบบพลังงานทดแทนระดับชุมชน มีโครงการแก้มลิงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำ และแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง โดยมีพระราชกระแสอธิบายว่า

“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อย ๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”

ปัจจุบันชาวบ้านสันตะลุงมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้ประโยชน์ใช้สอย และทำการเกษตร พร้อมส่งต่อความรู้การทำแปลงผักกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลง โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ใคที่มาเที่ยวสามารถมาเลือกตัดผักปลอดสารใส่ตะกร้าได้เลย มีผักคะน้า กรีนโอ้ค ผักบุ้ง และยังสามารถเดินเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมากมาย

พื้นที่อ่างเก็บน้ำบริเวณคลองสันตะลุง ได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์แบบลอยน้ำ ความเย็นของน้ำช่วยทำให้การทำงานของแผงโซล่าเซลล์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และแผงโซล่าเซลล์บดบังแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบผิวน้ำ ทำให้ช่วยลดการเติบโตของสาหร่ายใต้น้ำ พลังงานไฟฟ้าที่ได้ก็ไปใช้กับปั้มน้ำเพื่อรดน้ำต้นไม้ในแปลงผักปลอดสาร

พาราโบล่าโดม เป็นเรือนโดมขนาดใหญ่เป็นระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก โดมจะรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบแสงกระจาย เมื่อพลังแสงรับเข้าภายในหลังคาคลุมด้วยโพลีคาร์บอเนตเคลือบยูวี มีคุณสมบัติเป็นชนวน ได้ความร้อนสูงมากกว่า 2 เท่า ประมาณ 60 องศา ความร้อนที่ถูกเก็บไว้ในโดมนี้ จะทำให้ผลผลิตต่างๆ อบแห้งเร็ว สะอาด และป้องกันแมลง

คุณสมจิต จันทรศรี ใช้โดมพาราโบล่าอบกล้วยตาก ภายใต้แบรนด์ Bananao จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบานานาว ซึ่งได้ไปเรียนรู้ศึกษาดูงาน จึงเริ่มทำกล้วยตากด้วยพาราโบล่าโดมประมาณ 2 ปีที่แล้ว

คุณสมจิตใช้กล้วยน้ำว้าพันธุ์มะลิอ่อง ให้ความหอมหวานมากกว่า หลังจากที่ได้เครือกล้วยดิบมาแล้ว ต้องทำการบ่มให้เหลืองสุกก่อน โดยห่มผ้ายางอย่างน้อย 24 ชม. และรอให้ผลกล้วยเหลืองสุก จากนั้นก็ปอกเปลือกและนำมาทับให้แบน ก่อนนำเข้าโดมอบแห้ง ใช้เวลา 2-3 วัน แต่ละวันต้องกองเก็บ พอเช้าก็นำไปกล้วยเรียงตาก จนแห้งได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บานานาว โทร. 063 197 3520

โครงการก๊าซชีวภาพระดับชุมชนจากฟาร์มสุกร เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นในช่วง พ.ศ. 2556 – 2558 โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะนาวเป็นเจ้าของโครงการ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนาโครงการร่วมกับศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มีวัตถุประสงค์ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแปรสภาพก๊าซมีเทนที่กักเก็บได้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อใช้หุงต้มในครัวเรือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองจากการพัฒนาพลังงานทดแทนท้องถิ่น เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันตำบลท่ามะนาวมีฟาร์มสุกรกว่า 20 ฟาร์ม นำบ่อหมักก๊าซบ่อดิน ทำสถานีจ่าย จุดดักน้ำ แรงดันก๊าซช่วงหัวและช่วงท้าย ต่อท่อไปถึงบ้านชุมชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายก๊าซเพียงเดือนละ 55 บาท โดยปล่อยก๊าซชีวภาพวันละ 2 เวลาคือช่วงเช้า 5.00 – 9.00 น และช่วงเย็น 16.00 – 21.00 น. ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก จากแต่ละเดือนจ่ายค่าแก๊สหุงต้มเดือนละ 200 – 300 บาท ส่วนมูลสัตว์ยังสามารถนำไปเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งได้ลดความเค็มและไม่มีกลิ่น ใช้ในการเกษตรพืชสวนพืชไร่

เตาอั้งโล่ปั้นดินของลุงคำ วงเวียน ได้คิดค้นนำหัวแก๊สใส่ในเตาดิน เพื่อต่อเข้ากับท่อก๊าซชีวภาพ เป็นเตาซุปเปอร์อั้งโล่ 2 in เลือกใช้กับถ่านก็ใส่แผ่นรังผึ้ง หรือสลับมาใช้หัวแก๊สก็ได้ การปั้นเตาอั้งโล่

การทำเตาอั้งโล่ต้องเลือกดินเหนียวใกล้ริมแม่น้ำ นวดดิน หมักดินไว้ประมาณ15 วัน แล้วนำขี้เถ้าแกลบดำมาผสม เพื่อนำไปปั้นเตาโดยใส่ในบล็อกแม่พิมพ์ ปรับแต่งด้วยมือ ทิ้งรอให้แห้งประมาณ 2 คืน ก่อนนำไปเผา เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อผลิตเตาเศรษฐกิจพอเพียง มีอายุใช้งานนานถึง 2 ปี เตาซุปเปอร์อั้งโล่ โทร. 089 540 5156

คุณลุงถัน นวลแสงเป็นปราชญ์ท้องถิ่นและเป็นนักประดิษฐ์ คิดเครื่องรีดไม้ไผ่ได้พลังงานจากการปั่นจักรยาน เป็นการออกกำลังกายไปในตัว ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอีกด้วย

 

การขึ้นรูป เมื่อได้ไม้ไผ่เส้นแบนๆ จะนำไปประกอบทำเป็นขอบเข่ง หลังจากสานไม้ไผ่เพื่อเป็นฐานจึงนำใส่แบบ เพื่อให้ได้รูปทรงเข่งแล้วก็ประกอบขอบเป็นเข่งปลาทู ดัดให้รูปทรงกลม ใช้ไม้ไผ่เส้นแบนที่รีดใส่เป็นขอบด้านในอีกชั้น เพื่อความแข็งแรงของเข่งปลาทู

ลุงถันนั่งทำเข่งปลาทูด้วยความชำนาญอย่างคล่องแคล่ว เครื่องไม้เครื่องมือในแต่ละกระบวนการผลิต ล้วนเป็นฝีมือการผลิตและต้นคิดของคุณลุงเอง ลุงถัน นวลแสง สานเข่งปลาทู โทร 087 9333159

ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงวัย คุณย่าคุณยายกำลังนั่งล้อมวงตัดกระดาษหลากสี พับม้วนเป็นกลีบดอกไม้ บางคนก็เป็นแผนกม้วนก้านใส่เกสรดอกไม้ บางคนทำไปร้องเพลงไปอย่างอารมณ์ดี

คุณยายบอกว่า “มาที่นี่เกือบทุกวัน สนุก มีเพื่อน มีสังคม นั่งคุยไปทำไปกันเพลิน ๆ ทำให้ชีวิตมีค่าความหมาย คนมาซื้อของเราก็ดีใจ”

โชคดีของอำเภอชัยบาดาลมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ลุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาน้ำจืดนานาชนิด เมนูแนะนำได้แก่ ปลานิลทอด ปลาร้าสับ

โดยเฉพาะต้มยำปลาคังเนื้อนุ่ม สดส่งตรงจากแม่น้ำป่าสัก ที่อร่อยจนต้องขอเบิ้ล