บ้านห้วยโป่ง ดินแดนอัศจรรย์ ที่มีภูเขาสูงที่สุดในลพบุรี


บ้านห้วยโป่ง หมู่ 1 ต.ห้วยโป่ง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี มีการตั้งรกรากกว่า 100 ปีมาแล้ว ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านเขาพุคา นำโดยหมื่นต้น (ต้นตระกูลน้อยเจริญ) ได้อพยพหนีโรคระบาดจากบ้านเขาพุคา ซึ่งสมัยนั้นบ้านเขาพุคาตั้งอยู่ระหว่างเขาสะพานนาคและเขาพุคา มีโบสถ์เก่าร้างอยู่ ซึ่งมีโบราณวัตถุคือ ลูกนิมิต 5 ลูก เป็นลูกหินขนาดใหญ่ ปัจจุบันอยู่ที่วัดเขาวงพระจันทร์

ช่วงที่เกิดโรคระบาด ชาวบ้านได้อพยพหนีแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานกันใหม่ ส่วนที่ย้ายไปบ้านห้วยโป่ง ก็ได้มีจัดตั้งเป็นตำบลห้วยโป่งในเวลาต่อมา

ที่มาของชื่อห้วยโป่ง เนื่องจากพื้นที่นี้อยู่นี้อยู่ติดสระใหญ่และบริเวณบ่อน้ำโบราณของหมู่บ้าน มีดินโป่ง ซึ่งเป็นดินพิเศษที่มีเกลือแร่ สัตว์ป่า พวกเก้ง กวาง ช้าง ต่างมากินดินโป่งจะเป็นหลุมลึก บริเวณลำน้ำห้วยโป่ง ซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาวงพระจันทร์ และเขาพุคาไหลมารวมกัน ปัจจุบันต้นน้ำนี้คืออ่างเก็บน้ำห้วยโป่ง ที่กักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคประจำหมู่บ้าน

ผัดไทยโบราณเขาวง เป็นร้านชื่อดังประจำถิ่น ก่อนถึงเขาวงพระจันทร์จะเห็นรถจอดเรียงรายกันริมทาง มีเคล็ดลับคือความกลมกล่อมแทบไม่ต้องปรุง วัตถุดิบคัดสรรมาอย่างพิเศษ เส้นก๋วยเตี๋ยวสดสั่งพิเศษ เนื้อเหนียวนุ่ม เพิ่มความน่าทานด้วยโรยหน้าแผ่นเกี้ยวกรอบชิ้นเล็กทานแกล้มกับเส้นเข้ากันอย่างลงตัว เท่านี้ยังไม่พอใส่กากหมูหอมกรอบมันยิ่งซุปเปอร์อร่อยเชียว

เขาวงพระจันทร์ตั้งอยู่บนภูเขา สูงกว่าระดับน้ำทะเล 650 เมตร และเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดลพบุรี มีองค์พระใหญ่ “พระศุภโชค” ตั้งตะหง่านโดดเด่นบนยอดเขา เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย สามารถเดินขึ้นสู่ยอดเขาด้วยทางบันไดราว 3,790 ขั้น ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2 ชั่วโมง

เมื่อถึงยอดเขาจะมองเห็นวิวทิวทัศน์กว้าง 360 องศา สวยงามคุ้มค่า ทางบันไดทุก ๆ 500 ขั้น จะมีป้ายบอกไว้เพื่อมีกำลังใจพิชิตเป้าหมาย

เหล่าพุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มานมัสการรอยพระพุทธบาท สักการะเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายองค์

หลังจากหลวงปู่ฟักได้ปักกรดอยู่บนเขา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 และเริ่มพัฒนาวัดเขาวงพระจันทร์เรื่อยมา ตั้งแต่ปี 2537 ก็ได้เริ่มสะสมของเก่า

ซึ่งของของเก่าที่ได้ ส่วนใหญ่ลูกศิษย์นำมาถวายหลายหมื่นชิ้น บางชิ้นมีอายุเป็น 1,000 ปี บางชิ้นก็เป็นของแปลก เช่น ต้นปลักขิก

อย่างเหรียญโลหะพระขนาดใหญ่เกือบ 1 ฟุต แต่ละเหรียญระบุชื่อหลวงพ่อ ระบุปีที่ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงราวประมาณปี พ.ศ. 2400
อาคารพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ชั้น ชั้น 1 จัดแสดงโบราณวัตถุ ชั้น 2 จัดแสดงพระเครื่อง ชั้น 3 จัดแสดงพระฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 ขนาดใหญ่ใส่กรอบหลุยส์สวยงาม

งานศิลป์ลวดลายบนด้ามไม้กวาด ของลุงสมหวัง วงศ์สา ไม้กวาดด้ามงาม แขวนประดับที่ฝาผนังเป็นของตกแต่ง ซึ่งกว่าจะเป็นด้ามไม้กวาดที่มีลวดลายต้องใช้ความละเอียดในการพิถีพิถันในการทำให้ลำไม้ไผ่ธรรมดา มีลวดลายสวยเป็นธรรมชาติ นี่คือภูมิปัญญาชุมชนที่เป็นมรดกตกทอดมากหลายสิบรุ่น

ลุงหวัง สืบทอดการทำลวดลายด้ามไม้กวาดจากยายแจ๋ว ซึ่งคุณยายเคยทำลวดลายบนไม้ตะพดตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันลุงหวังเป็นอาจารย์สอนทำด้ามไม้กวาดให้มีลวดลายให้แก่ชุมชนบ้านห้วยโป่ง ในการคัดเลือกไม้ไผ่ ควรจะมีอายุ 1 ปี ลำต้นต้องตรง ตัดความยาวให้ได้ 80 ซม. ล้างทำความสะอาดตากให้แห้งสนิท นำมาลนไฟแต่งลำให้ตรง ขัดลำไม้ให้ผิวเลียบเกลี้ยงก่อนใช้เทคนิคตกแต่งเป็นลวดลายต่าง ๆ ด้วยการรนไฟ นาบด้วยโลหะ ก่อนนำไปสานมัดติดกับดอกหญ้า (ลุงสมหวัง โทร 086 287 9588)

สำหรับอาหารถิ่น เมนูแรกแนะนำ ห่อหมก 2 เกลอ หรือหมกหยวกกล้วยที่ใช้พริกแกงเผ็ดกับเนื้อหยวกกล้วย ผสมกะทิ เติมเนื้อหมู

ขนมข้าวโพด ที่นำเนื้อข้าวโพดสับมาห่อเครื่องแป้งที่นวดเป็นเนื้อเดียวกันของแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียวและละเอียด และผสมเนื้อมะพร้าวขูดเส้นคลุกให้เข้ากันผสมกะทิ เพิ่มความหอม ได้รสหวานมันเค็ม

นอกจากนั้น ยังมีหมกหน่อไม้ ต้มเล้ง และของหวานอื่นๆ อย่างขนมกล้วยหน้านวล ขนมสายบัวในถ้วยตะไล