สยามพิวรรธน์-เซ็นทรัลพัฒนา ตั้งการ์ดสูง ตอบโจทย์สังคม New normal


แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ แต่ธุรกิจค้าปลีกยังต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันต่อไป โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยเพราะผู้บริโภคยังกังวลกับการแพร่ระบาดรอบ 2 รวมถึงการบริหารจัดการกับมาตรการทางสังคมที่ต้องเข้มข้น บวกกับกำลังซื้อที่ยังอ่อนแรง

ปัจจัยต่าง ๆ มีผลให้เกิดพฤติกรรมใหม่ซึ่งอาจเปลี่ยนพฤติกรรมตลอดกาล (New normal) ซึ่งถือเป็นเกมใหม่ที่ท้าทายตลาดค้าปลีกเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่สามารถคาดการณ์กับความชัดเจนของผู้บริโภคได้ ระยะนี้จึงถือเป็นเพียงด่านแรกที่ต้องค้าปลีกต้องเดินเกมเพื่อ “ตั้งรับ”

สยามพิวรรธน์ วางสมการคู่ขนาน Innovative Health + Retail Ecosystem

ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ซึ่งประกอบด้วยไอคอนสยาม, สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มองสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 เป็นภัยคุกคามร้ายแรง โดยเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ด้วยงบลงทุนกว่า 16 ล้านบาท สำหรับซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ที่วัดไข้อินฟราเรด เพิ่มพนักงานทำความสะอาด
กระทั่งมีการผ่อนปรนด้วยการคลายล็อกระยะที่ 2 อนุญาตให้เปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าฯได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของธุรกิจค้าปลีกที่ต้องเปิดให้บริการท่ามกลางความกลัวและวิตกกังวลด้านสุขอนามัยของผู้บริโภค และปัจจัยนี้ยังจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในชีวิตวิถีใหม่นับจากนี้ไป

 

 

โดยสยามพิวรรธน์ ได้วางยุทธศาสตร์ในการจัดการกับ Pain Point ของผู้บริโภคด้วยการเรียกความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยผ่านแนวคิด“ Innovative Health & Safety” โดยครอบคลุมใน 3 มิติหลักคือ พนักงาน ที่จะต้องทำการคัดครองอย่างเข้มข้นทุกวันเนื่องจากต้องใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ,วางมาตรการ Deep Clean ด้วยการทำความสะอาดทุกพื้นที่ในศูนย์การค้าควบคู่กับการรักษาระยะห่าง รวมไปถึงเข้มงวดด้านสุขภาพกับพนักงานรับส่งสินค้า

ที่สำคัญมีการยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นใจสูงสุดและเป็นแผนต่อเนื่องในระยะยาวด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ให้สอดรับกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต New Normal เช่นลดการสัมผัส ส่งเสริมการใช้ Cashless หรือ E-Payment ในการชำระค่าบริการต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนั้นได้พัฒนาโมเดลธุรกิจผ่านแนวคิด “Ecotopia” ซึ่งเปิดบริการที่สยามดิสคัฟเวอรีในรูปแบบของอีโค่คอมมูนิตี้ที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียบนพื้นที่ 2,000 ตารางเมตรให้เป็นพื้นที่ของสินค้าเพื่อวิถีชีวิตยุคใหม่และตอบสนอง Sustainable Living ในทุกมิติ เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพและรักษาสุขอนามัย สินค้าที่ไม่ใช้สารเคมี อาหารออร์แกนิค และสินค้าที่กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมหรือผลิตจากวัสดุเหลือใช้ สินค้า re-use, recycle เป็นต้น

 

 

ขณะเดียวกันเครือสยามพิวรรธน์ได้ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมผ่านการสร้างสรรค์ระบบนิเวศของธุรกิจค้าปลีก (Retail Ecosystem) เพื่อให้ทุกหน่วยในภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ เริ่มจากแนวคิด New Beginning – New Smile โดยเปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้า 27,000 ตร.ม.ให้ผู้ค้ารายย่อยหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 และเกษตรกรเข้ามาจำหน่ายสินค้าได้ฟรี ผ่านการจัดกิจกรรมตลาดนัดยิ้มสยาม, กิจกรรมฟื้นใจไทยเป็นต้น

เปิดเกมเร็วผุด Omni Channel ทุกมิติ

แรงกดดันจากกระแส New Normal ยังเป็นปฏิกิริยาชั้นดีในการเร่งให้สยามพิวรรธน์เปิดบริการใหม่ ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาช่องทางขายแบบไร้รอยต่อหรือ Omni Channel เช่น บริการ S-commerce ในรูปแบบ “Luxury Chat & Shop” ที่ให้ชอปปิ้งออนไลน์กับลักชัวรี แฟล็กชิปสโตร์และจัดส่งถึงหน้าบ้าน ซึ่งขณะนี้มีลักชัวรีแบรนด์ที่ร่วมจำหน่ายในช่องทาง Luxury Chat & Shop จำนวนมาก เช่น Balenciaga, Bally, Boss Hugo Boss, Bottega Veneta, Burberry, BVLGARI, Coach, Dolce&Gabbana, Fendi, Furla, Givenchy, Gucci, Jimmy Choo เป็นต้น

รวมถึงการบริการ “One Siam & ICONSIAM Chat & Shop” ให้ชอปปิ้งสินค้า luxury brands, fashion, beauty, dining, living และ entertaining ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่าน One Siam Application และ Line @One Siam ขณะนี้มียอดดาวน์โหลด One Siam Application รวมกว่า 200,000 คน และ Line @One Siam มีสมาชิกกว่า 720,000 คน

 

 

นอกจากนี้ยังพัฒนาบริการที่ตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ เช่น “Call & Pick Up” ที่สามารถสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากกูร์เมต์มาร์เก็ต สยามพารากอน, ซูเปอร์มาร์เกต Dear Tummy และ Taka Marche ที่ไอคอนสยามผ่านการลิสต์และสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าและมารับสินค้าในที่นัดหมาย

ล่าสุดได้นำศูนย์การค้าสยาม เซ็นเตอร์เข้าสู่ช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัลช้อปปิ้ง ผ่านบริการ “Siam Center Virtual Mall” โดยร่วมกับลาซาด้า เปิดพื้นที่ขายผ่าน www.lazada.co.th หรือแอปพลิเคชัน LAZADA เพื่อตอบรับกับวิถีใหม่ ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่าน 4 ส่วนหลัก คือ 1. Creator ผู้สร้างสรรค์เรื่องเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ 2. Platform รูปแบบค้าปลีก 3. Supporter ผู้สนับสนุนต่างๆ และ 4. Customer ลูกค้า

“Center of New Normal Life” ยุทธศาสตร์ใหม่ CPN

สำหรับการ Re start ธุรกิจหลังมีมาตรการการคลายล็อกระยะที่ 2 ของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ซึ่งมีศูนย์การค้าในเครือ 4 แบรนด์ คือเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ต มีการวางแผนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยผ่านแนวคิด“Center of New Normal Life” หรือศูนย์กลางการใช้วิถีชีวิตใหม่อย่างปลอดภัย Reassure Confidence

โดยการขับเคลื่อนบทบาทของศูนย์การค้ามากกว่าการดูแลลูกค้าระหว่างการเข้ามาใช้บริการเท่านั้น แต่ต้องสามารถดูแลได้ตลอดเวลาด้วยมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยและการมีวินัยในสังคม เพราะจากนั้นไปศูนย์การค้าไม่สามารถที่จะเป็นเพียง Service Provider ได้ แต่ต้อง Health & Safety Provider ผ่านการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่นมาตรการ Touchless Lift ลิฟต์ไร้สัมผัสที่นำร่องแล้วที่เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสวิลล์, เครื่อง UV-C เช็ดบันไดเลื่อน, ตู้ UV-C ทำความสะอาดถุงสินค้า

 

 

ขณะเดียวกันได้ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เช่น หุ่นยนต์วัดอุณหภูมิจาก AIS, หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV-C ของ Central Food Hall & Tops, Uniqlo มีเครื่อง UV-C ทำความสะอาดเสื้อผ้าหลังลองสินค้า และ Sephora มีบริการ Find my shade ทดลองเครื่องสำอาง เป็นต้น

ขณะเดียวกันซีพีเอ็นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศด้วยการ ผ่านแนวคิดRebuild Economyเปิดพื้นที่ฟรีให้เกษตรกรและเอสเอ็มอีรายย่อยทั่วประเทศ รวมกว่า 40,000 ตร.ม. ต่อเนื่อง 3-6 เดือน จากที่ได้นำร่องมาแล้วในโครงการตลาดผลไม้รวมใจที่ให้เกษตรกรผลไม้ส่งออกมีช่องทางกระจายสินค้าและได้วางแผน สนับสนุนร้านค้าจัด Clearance Sales เพื่อช่วยเหลือร้านค้าและลูกค้าได้เลือกซื้อสินค้าจำเป็นในราคาถูก รวมถึงการตรึงราคาสินค้าและลดราคาอาหารในศูนย์อาหาร 

เติมเกมรุกแพลตฟอร์ม Omni channel ให้เข้ม

จากมาตรการ “Work From Home”ทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์และคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นช่องทางที่บทบาทมากขึ้นสำหรับวิถี New normal ซึ่งกลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัลได้วางแผนและพัฒนาช่องทาง Omni channel มาตามลำดับโดยมีพันธมิตรสำคัญอย่าง JD.COM เข้ามาเสริมทัพจากที่เครือเซ็นทรัลมี Physical ที่แข็งแกร่งเป็นต้นทุนสำคัญอยู่แล้ว

 

 

และจากสถานการณ์การแพร่งระบาดของโควิด-19 ซีพีเอ็นมีเป้าหมายที่จะยกระดับ Retail Ecosystem ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยประสานจุดแข็งของ Physical & Online Platform ที่เริ่มจากการเปิดตัวบริการ New Normal Lifestyle ได้แก่ One Call x One Click และ LINE: @CentralLife, บริการ Drive Thru, บริการ Central Eats ร่วมกับ Grab Food

บริการ Food Delivery & Food Pick Up Counter และบริการล่าสุด Central Life: Chat & Shop ที่นำแนวคิด “เหมือนช้อปด้วยตัวเองจากเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัล วิลเลจ” เข้ามากระตุ้นความสนใจ ทั้งหมดนี้มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยจุดแข็งที่มีคือฐานข้อมูลจาก The 1 ที่สะสมมานานและสามารถที่จะขยายฐานลูกค้าได้ตลอด ซึ่งจะเป็นความได้เปรียบเพราะสามารถที่จะนำมา Design Journey ได้ตรงกับความต้องการมากที่สุด