ถอดโมเดลแดนมังกร “บทเรียนสอนโลก” จีน ปิดเมือง-ระดมกำลังกู้วิกฤตไวรัส


ไวรัส – วายร้าย

“จีน” เป็นประเทศแรกของโลกที่มีการค้นพบผู้ติดเชื้อรายแรก ณ เมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ ทำให้มีผู้ติดโรคเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่เป็นจำนวนมาก ข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2563 ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมในประเทศจีน 81,708 คน มีอัตราการเสียชีวิต 3,331 คน (คิดเป็นร้อยละ 4.1 ) รักษาหาย 77,078 คน (คิดเป็นร้อยละ 94.3) ถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการรักษาหายสูงที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกที่สามารถควบคุมการติดเชื้อรายใหม่ได้สำเร็จ

 

 

ระหว่างช่วงที่จีนพ้นวิกฤต ได้ส่งความช่วยเหลือ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพร่ระบาด อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค ชุดตรวจเชื้อโควิด หน้ากากอนามัย และความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จีนจึงก้าวขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาของโรคด้านการบริหารจัดการวิกฤตภัยขั้นรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของภาคเอกชนที่เดินเคียงข้างรัฐบาลในยามวิกฤต ทำให้หลายประเทศต่างยกย่องและอยากเจริญรอยตาม

 

 

จีน ยังเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้สูงถึง 74,588 คน คิดเป็นอัตราส่วน ร้อยละ 91.70 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีอัตราร้อยละ 6.78 ขณะเดียวกันกลับพบว่าประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราการรักษาหายต่ำมาก เช่น สหรัฐอเมริกาสามารถรักษาหายเพียงร้อยละ 2.18 อิตาลี ร้อยละ 12.86 สเปนร้อยละ 12.14 เยอรมัน ร้อยละ 12.91 เป็นต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2563) ส่วนอัตราการเสียชีวิต มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งโลก 30,451 คน ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563 (Max Roser, Hannah Ritchie and Esteban Ortiz-Ospina, 2020) โดยประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดได้แก่ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอิหร่าน ตามลำดับ โดยอัตราการเสียชีวิตของประเทศดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงวันที่ 20-30 มีนาคม 2563 ในขณะที่ประเทศในซีกโลกตะวันออกอย่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีอัตราการเสียชีวิตลดลง

 

 

ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ ถึงบทบาท เทคโนโลยี และความร่วมมือของภาคเอกชน ในมิติต่างๆ ประกอบด้วย 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่

1) การขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics and Transportation) มีจำนวนบริษัทเอกชนจำนวนมากออกมาให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และพยุงระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ก้าวต่อไปได้ ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือสามารถรักษากลไกของตลาดให้เดินต่อไปได้ในวันที่ทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤต

2) บริการทางการแพทย์ (Medical Services) ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่ภาคเอกชนจีนได้มอบให้แก่รัฐบาล รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย องค์ความรู้ด้านการรักษา อุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพ รวมถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นบทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดและปราศจากเงื่อนไขว่า ระบบสาธารณะสุขของจีนไม่เป็นสองรองประเทศใด

3) บริการด้านข้อมูลข่าวสาร ในช่วงเวลาวิกฤต สิ่งที่คนขาดไม่ได้ก็คือการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง แม่นยำ ทันท่วงที ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในจีนชี้ให้เห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤตภัย สื่อสารมวลชน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญและเป็นแขนขาให้แก่รัฐบาลในการเข้าถึงผู้คน และสุดท้ายที่สำคัญที่สุด

4) ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI) ถือได้ว่าเป็นสมอง หัวใจ แขนขา และเป็นทุกอย่าง ในยามวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ ในภาวะที่ผู้คนต่างเลี่ยงในการสัมผัสติดต่อกัน หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ผู้มีสมองว่องไว ก้าวขึ้นมาเป็นฮีโร่ ในการนำพาประเทศจีนก้าวพ้นจุดวิกฤตไปได้

ด้วยความพยายามอย่างสุดความสามารถของรัฐบาล นำโดยประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ที่ได้เร่งรัดออกมาตรการเข้มงวดอย่างทันทีทันใด ด้วยการปิดเมืองอู่ฮั่น และประกาศให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน และห้ามไม่ให้เดินทางในประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงได้รวบรวมสรรพกำลังในการรวบรวมบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เขี่ยวชาญการแพร่ระบาด ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในอู่ฮั่น รวมถึงได้สร้างโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผลที่เกิดขึ้นทำให้จีนสามารถควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้อย่างสำเร็จ โดยมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็น 0 ช่วงปลายเดือนมีนาคม

 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายประเทศให้ความสนใจกับแนวทางการควบคุมสถานการณ์ในประเทศจีน รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จีนได้ประกาศใช้ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา และแนวทางการรักษาที่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศจีน ในฐานะที่จีนเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้สำเร็จ หนึ่งในมาตรการที่จีนได้ประกาศใช้เป็นประเทศแรกได้แก่ “มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคม” (Social distancing) การบังคับตรวจอุณหภูมิการเพิ่มจำนวนการตรวจเชื้อ การสั่งปิดโรงเรียน สถานประกอบการณ์เพื่อลดการแพร่ระบาด มาตรการกักกันตัวเอง การห้ามเดินทางระหว่างประเทศ การส่งห้ามเดินทางภายในประเทศ รวมไปถึงมาตรการขั้นเด็ดขาด “การสั่งปิดเมือง” ฯ

 

 

นอกจากมาตรการเข้มงวดของรัฐบาล ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลไกสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้จีนสามารถควบคุมสถานการณ์วิกฤตโควิดได้คือ “ภาคเอกชนจีน” ที่ได้ออกมาร่วมช่วยเหลือรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทุนทรัพย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันโควิด รวมถึงการงัดเทคโนโลยีล้ำสมัยออกมาใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น บิ๊กเดต้า (Big data) อากาศยานไร้คนขับ (Drone) หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น ด้วยประสิทธิภาพและความล้ำสมัยของเทคโนโลยีจีน จึงทำให้หลายประเทศยอมรับว่าจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นแนวหน้าผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก บทบาทภาคเอกชนจีนชี้ให้เห็นความร่วมมือที่สำคัญที่เป็นบทเรียนแก่โลกว่า เมื่อเกิดวิกฤตภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยทางธรรมชาติ ภัยทางเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติจากโรคติดต่อร้ายแรง ทุก ๆ ภัยพิบัติจะแบ่งโลกออกเป็น 2 ช่วงเวลาเสมอ ได้แก่

1) ก่อนเกิดวิกฤต ที่โลกต่างมุ่งเน้นแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่พลเมืองของตน 

2) ช่วงหลังวิกฤต ซึ่งจะเป็นช่วงที่โลกทั้งใบได้หยุดคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองสิ่งที่เกิดขึ้น และหันมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไม่มีเงื่อนไข ในฐานะ “มนุษยชาติ” ผู้ปราศจากซึ่งเชื้อชาติ สีผิว และชนชั้นวรรณะ

 

บทความโดย ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สายงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ขอบคุณภาพจาก : สำนักข่าวซินหัว