โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เตรียมผลิตหลักสูตรการใช้ใบกัญชาปรุงอาหาร หลังเปิดตำรับเมนูอาหารจากใบกัญชา ประชาชนแห่ขอสูตร
ภายหลังจากที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดตำรับเมนูอาหารจากใบกัญชา โดยจำหน่ายให้เฉพาะบุคลากรของโรงพยาบาลฯ โดยประเดิมเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พร้อมจัดทำแผ่นป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคใบกัญชาปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละเมนู ทำให้มีการเผยแพร่และส่งต่อแผ่นป้ายดังกล่าวออกไปตามสื่อต่าง ทำให้มีผู้สนใจสอบถามข้อมูลมาเป็นจำนวนมาก
พญ โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าวว่า เกิดจาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นเจ้าภาพจัดทำโครงการกัญชาอภัยภูเบศรโมเดล เป็นการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ผลิตทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนไทย การใช้ในผู้ป่วย และศึกษาวิจัยเพื่อเสนอให้เกิดการพัฒนาเชิงนโยบาย และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ได้มีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขให้ส่วนใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และ เส้นใย ที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ดังนั้นทำให้เราเกิดแนวคิดว่าต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันก็สื่อสารไปทางนโยบายและนักวิจัยว่ามีประเด็นอะไรที่เราต้องทำงานวิชาการเพิ่มเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยกลุ่มเป้าหมายของเราหลัก ๆ มี 2 กลุ่ม คือ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านอาหาร
ผอ.โศรยา กล่าวต่อว่า ดังนั้นโรงพยาบาลฯ จึงได้ใช้คอนเซ็ปต์ “มาชิมกัญ” เพื่อสร้างความน่าสนใจ และเมื่อคนสนใจเราก็จะให้ความรู้ เพื่อการนำไปใช้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามประสบการณ์ของคนไทยนั้น จะใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรสในอาหารในปริมาณไม่มากนัก โดยหากนำมาปรุงอาหารก็ใช้ประมาณ 3 ยอดต่อแกง 1 หม้อ สามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว สำหรับการบริโภค 1 คน ไม่ควรเกิน 5-8 ใบ/วัน แต่ในองค์ความรู้ปัจจุบันที่มีการศึกษาวิจัยก็พบว่า ในกัญชามีสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เรียกง่ายๆ ว่า สารเมา ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันในขนาดสูงๆ เป็นเวลานานก็อาจทำให้เสพติดได้ รวมทั้งสารนี้ยังต้องระวังในเด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยในบางกลุ่มโรค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบ
ทั้งนี้ พญ.โศรยา กล่าวว่า แม้จะมีข้อมูลว่าในใบกัญชามี THC ต่ำกว่าช่อดอกมาก แต่การนำไปบริโภคอย่างไม่เหมาะสมอาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพและสังคมได้ อีกทั้งยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการดูดซึมและสะสมสารนี้ในร่างกาย ได้แก่ อายุของใบ (ใบแก่มีสารเมามากกว่าใบอ่อน) การปรุง (ระยะเวลาการปรุง การปรุงอาหารในระยะเวลานาน การปรุงด้วยไขมัน จะทำให้สามารถดึงสาร THC มาอยู่ในอาหารได้ดีขึ้น) น้ำหนักตัว และปริมาณไขมันในร่างกายของผู้บริโภค (สารเมามีแนวโน้มสะสมในชั้นไขมันได้นานขึ้น) ซึ่ง ณ วันนี้เรายังขาดข้อมูลพอสมควรว่าบริโภคเท่าใดจึงจะทำให้ติดได้ ซึ่งหากในอนาคตมีงานวิจัยตรงนี้เพิ่มเติม ก็จะเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
“ในส่วนของผู้ประกอบการที่สนใจจะนำกัญชาไปปรุง นั้นเราจะมีการอบรมให้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักสูตร โดยจะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษามาอย่างกว้างขวางทั่วโลก มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับให้อาหารไทยมีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ในปัจจุบันผู้ประกอบการก็สามารถซื้อใบจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ส่วนที่สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าคือ กัญชง เพราะเป็นพืชในสกุลเดียวกัน สามารถประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้ง กัญชงก็มีสารเมาน้อยกว่ากัญชา การใช้ในรูปแบบอาหารน่าจะปลอดภัยกว่า ซึ่งประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกัญชง จะมีผลบังคับใช้ 29 มกราคม 2564 นี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณที่มา : สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข
https://www.hfocus.org/content/2021/01/20835