ญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินปิดประเทศ งดรับชาวต่างชาติ หลังยอดติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น


ญี่ปุ่นขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มอีก 7 จังหวัด พร้อมห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นดูจะไม่ค่อยดีนัก เมื่อวันที่ 14 ม.ค.64 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 4,527 ราย เสียชีวิต 51 ราย ทำให้ยอดรวมการติดเชื้อทั่วประเทศมีจำนวนเกือบ 300,000 ราย เสียชีวิต 4,158 ราย และผู้ป่วย 61,500 ยังคงนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

วิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยเฉพาะในกรุงโตเกียวที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงถึง 970 ราย แม้จะเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 1,000 รายในรอบสัปดาห์ แต่ภาพรวมการติดเชื้อสะสมทั้งหมดในกรุงโตเกียวมีจำนวนรวม 77,133 ราย

ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียว และจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 แห่ง ได้แก่ ชิบะ, ไซตามะ และคานากาวะ ล่าสุดมีการประกาศภาวะฉุกเฉินขยายไปยังจังหวัดอื่นเพิ่มเติม 7 จังหวัด ได้แก่ โอซาก้า, เกียวโต, เฮียวโงะ, ไอจิ, กิฟุ, โทชิงิ และฟุกุโอกะ พร้อมทั้งประกาศงดรับชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศแบบ 100%

คำสั่งที่เกิดขึ้นมีผลให้บริษัทในพื้นที่ต้องออกนโยบายให้พนักงานทำแบบ Work Form Home เพื่อลดจำนวนคนในสำนักงาน และความถี่ในการเดินทางลง รวมถึงร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องหยุดให้บริการในเวลา 19.00 น. และต้องปิดร้านภายในเวลา 20.00 น. เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา และกิจกรรมด้านบันเทิง ที่ต้องจำกัดจำนวนผู้ชม

ด้าน Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่าทางการจะสั่งห้ามชาวต่างชาติทั้งหมดเดินทางเข้าญี่ปุ่นชั่วคราว ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เรายังไม่ระบุว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่

“เราหวังว่าประชาชนจะเข้าใจมาตรการบังคับใช้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รัฐบาลจำเป็นต้องทำ และต้องขออภัยในความไม่สะดวกต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน” Yoshihide Suga กล่าว

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารเป็นอย่างมาก โดยผลสำรวจของ Tokyo Shoko Research พบว่ามีธุรกิจขอยื่นล้มละลายต่อศาลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยแต่ละบริษัทมีหนี้สินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเยน (ประมาณ 2,882,880 ล้านบาท) ซึ่งมีจำนวน 792 ราย นับตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2020 เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่าน

การสำรวจดังกล่าวยังให้มุมมองที่น่าสนใจว่า แม้บริษัทจะได้รับการช่วยเหลือจากบริการด้านเงินกู้ที่ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายได้ รวมถึงต้นทุนในส่วนอื่น ๆ เนื่องจากยอดขายยังคงไม่ฟื้นตัว

อีกทั้ง ประเด็นที่ต้องจับตามองของญี่ปุ่นคือการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 แม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะยืนยันคำเดิมว่ายังจัดการแข่งขันได้อยู่ตามกำหนดการ แต่เมื่อดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ณ ขณะนี้ ก็เกิดความกังวลที่มหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ที่มา: CNNkyodonews

เรื่องที่เกี่ยวข้อง