ส่อง! เงื่อนไขแพลตฟอร์มต่างชาติประเภทใดเข้าข่ายเสียภาษี e-Service


กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงในแวดวงธุรกิจ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 เรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป

หากอธิบายง่าย ๆ คือต่อไปประเทศไทยจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาดำเนินกิจการ แต่ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจในไทย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, Google, Netflix ฯลฯ นั่นเอง

เพราะอะไรถึงต้องเก็บภาษี

อาจจะกล่าวได้ว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มด้านออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก ทั้งใช้ในเรื่องการติดต่อสื่อสาร, การให้ความบันเทิง ตลอดจนการทำธุรกิจที่มีผู้ประกอบการหลายรายใช้พื้นที่แพลตฟอร์มเหล่านี้โฆษณา ขายสินค้า

แม้ว่าจะเป็นที่นิยมของผู้คนจำนวนมาก แต่ก็เกิดคำถามถึงช่องว่างการทำธุรกิจที่ดูจะไม่เป็นธรรมกับคนทำธุรกิจสักเท่าไหร่นัก เปรียบเทียบจากผู้ให้บริการภายในประเทศที่ต้องจดทะเบียนธุรกิจ และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่างจากแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่ไม่ต้องจดทะเบียนบริษัท และเสียภาษีแต่อย่างใด

โดยในแต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศไปอย่างมหาศาล ซึ่งไม่ถูกเสียภาษี และโกยเงินกลับไปที่บริษัทต้นทางแบบเต็ม ๆ

ด้าน กรมสรรพากรออกมาพูดถึงเรื่องนี้ว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการต่างชาติจะเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โดยประเมินรายได้ที่จะเข้ามาก่อนเดือนกันยายนอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวมากขึ้น โดยตอนนี้กรมสรรพากรได้เตรียมระบบรองรับไว้เพื่อให้มีขั้นตอนการดำเนินงานง่ายที่สุด

ธุรกิจประเภทใดต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับธุรกิจต่างประเทศที่ต้องเสียภาษี e-Service ประกอบด้วย 1.ธุรกิจที่ให้บริการดาวน์โหลด เช่น ภาพยนตร์, เพลง, เกม, สติ๊กเกอร์, นายหน้า, สื่อโฆษณา 2.ธุรกิจบริการสตรีมมิ่ง และ 3.ธุรกิจบริการพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน

ดังนั้น สรุปได้ว่าแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ต่อไปต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มล้วนเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้คนรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, YouTube, Netflix, Line, TikTok ซึ่งต้องมีรายได้จากการบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

สำหรับในต่างประเทศก็มีการเก็บภาษีในลักษณะนี้เหมือนกัน เช่น เบลเยียม, ฝรั่งเศส, สเปน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ไต้หวัน, สิงคโปร์, มาเลเซีย เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยเตรียมจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่ภาระนั้นอาจตกมาอยู่กับผู้บริโภคที่ใช้บริการสื่อเหล่านี้ ที่อาจถูกคิดค่าราคาโฆษณาในการประชาสัมพันธ์สินค้าเพิ่มมากขึ้น