สจล.แนะ 4 เทคนิคเลือก “อาหารกระป๋อง” ให้ปลอดภัยไร้กังวล จากโควิด-19


การแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะที่โรงงานผลิตอาหารกระป๋องในจังหวัดสมุทรสาครในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเป็นแรงงานในโรงงานกว่าหลายร้อยคน สร้างความไม่เชื่อมั่นในความสะอาดและความปลอดภัยของอาหารในพื้นที่เสียงและอาหารประเภทที่บรรจุอยู่ในกระป๋องที่ออกขายในตลาด ซึ่งในขณะนี้ก็ได้มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขว่าตลาดในพื้นที่ดังกล่าวฯ กำลังจะเปิดอีกครั้ง หลังปิดทำความสะอาดฆ่าเชื้อเป็นระยะเวลาร่วมเดือน

รศ.ดร.ประพันธ์ ปิ่นศิโรดม คณบดี คณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ประชาชนอาจเป็นกังวลหรือสงสัยว่า การรับประทานอาหารจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ แต่แท้จริงแล้วอาหารไม่สามารถเป็นแหล่งพาหะได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 หากมีการปนเปื้อนในอาหาร เชื้อไวรัสจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และเมื่อถึงเวลาหนึ่งจะตายเองในที่สุด ซึ่งต่างกับร่างการมนุษย์ที่จะเติบโตเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสและมีชีวิตอยู่ได้ในเซลล์ของคนหรือสิ่งมีชีวิต แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงสำหรับอาหารคือ หากว่าเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารในระยะเวลาไม่นานและยังมีชีวิตอยู่ ก็อาจทำให้ผู้ที่บริโภคอาหารสามารถติดเชื้อได้เช่นกัน

 

 

แต่สำหรับธุรกิจอาหาร ไม่ว่าจะเป็นภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือ Street Food อยากให้มีความเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจคัดกรองพนักงานที่ปฏิบัติงานหรือผู้ขาย ที่จะต้องสัมผัสกับอาหาร จะต้องล้างมือ สวมถุงมือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ก่อนการสัมผัสอาหาร เตรียมอาหาร หรือปรุงอาหาร รวมทั้งเลือกวัตถุดิบให้ถูกสุขลักษณะ สำหรับประชาชนทั่วไป สิ่งที่พึงระวังคือ เลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ อาหารที่ยังร้อน ใช้ช้อนกลาง รวมถึงการล้างมือ ก็จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

 

 

ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร. อดิศร เสวตวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีการหมัก และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางจุลินทรีย์ในอาหาร สาขาการจัดการความปลอดภัยอาหาร คณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารกระป๋องว่า จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์ที่ผ่านความร้อนแบบกระป๋องพร้อมบริโภค หรือแบบถุงปิดสนิทพร้อมบริโภค มีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากโรงงานผลิตอาหารกระป๋องในปัจจุบัน มีมาตรฐานการผลิตตามระบบ GMP และ HACCP ซึ่งเป็นระบบที่สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในมาตรฐานการผลิต อีกทั้งกรรมวิธีในการผลิตอาหารกระป๋อง หรือแบบถุงปิดสนิท จะใช้อุณหภูมิที่สูงในการให้ความร้อน ที่สามารถฆ่าเชื้อและแบคทีเรียได้จนมีความปลอดภัย

 

 

โดยกระบวนการให้ความร้อนสำหรับอาหารสำเร็จประเภทปลาในน้ำเกลือ และในน้ำมันถึง 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะนึ่งให้ปลาสุก ก่อนตัดแต่งบรรจุกระป๋องหรือถุง และช่วงที่ 2 จะให้ความร้อนอีกครั้งภายใต้ความดันที่มีอุณหภูมิสูงถึง 115 – 116 องศาเซลเซียส ประมาณ 1 ชั่วโมง หรือ 121 องศาเซลเซียส นานกว่า 10 นาที ซึ่งการผ่านความร้อนทั้ง 2 ช่วงนี้ หลังบรรจุในภาชนะกระป๋องหรือถุงจะสามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มสร้างสปอร์ที่เป็นปัญหาก่อให้เกิดโรคในอาหารกระป๋อง และไม่มีโอกาสปนเปื้อนซ้ำหลังให้ความร้อน เนื่องจากอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท ในขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกฆ่าและทำลายได้หมดภายใน 3 นาที ภายในอุณภูมิเพียง 65 องศาเซลเซียส ซึ่งจากการศึกษากรรมวิธีการพาสเจอไรส์นม ที่มีการใช้อุณหภูมิที่ 63 องศาเซลเซียส นานกว่า 30 นาที ยังมีการยืนยันว่าสามารถทำลายเชื้อในกลุ่มไวรัสโควิด-19 ได้

 

 

รองศาสตราจารย์ ดร. อดิศร กล่าวต่อว่า อีกทั้งเชื้อกลุ่มไวรัสโควิด-19 บนบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จะไม่สามารถมีชีวิตและแบ่งตัวได้ และจะค่อยๆ ตายลงเมื่ออยู่บนพื้นผิวที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต โดยมีรายงานจาก Cornellcals (2020) ในการลดลงของเชื้อไวรัสโควิด-19 บนพื้นผิวภาชนะ ที่เชื้อสัมผัส อาทิ บนพื้นผิวพลาสติก จะมีชีวิตได้นานถึง 7 ชั่วโมง บนพื้นผิวสแตนเลส มีชีวิตได้นานถึง 5.5 ชั่วโมง บนพื้นผิวกระดาษ มีชีวิตได้นานถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งกระบวนการผลิต จนถึงจำหน่ายของโรงงาน เมื่อผลิตและบรรจุภัณฑ์เรียบร้อยพร้อมจำหน่าย จะไม่ได้นำออกจำหน่ายในทันที จะต้องผ่านการรอผลตรวจสอบความปลอดภัยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนนำส่งออกกระจายไปในศูนย์การค้าหรือร้านค้าต่างๆเพื่อจำหน่าย ดังนั้นหากมีเชื้อไวรัสโควิด-19 ตกค้างหรือปนเปื้อนอยู่บนภาชนะ เชื้อไวรัสก็จะตายไปเองในช่วงเวลาดังกล่าวฯ ซึ่งโรงงานที่มีการติดเชื้อ ก็ได้มีมาตรการพ่นยาฆ่าเชื้อโดยรอบบริเวณโรงงาน ยิ่งสามารถเชื่อมั่นได้ว่า ไม่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนมาถึงมือผู้บริโภคย่างแน่นอน

 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในขณะนี้ มีข้อแนะนำสำหรับประชาชนในการบริโภคอาหารกระป๋องที่ถูกหลักอนามัยด้วยวิธีง่ายๆ ได้แก่

· เลือกภาชนะปิดสนิทที่อยู่ในสภาพดี เช่น กระป๋องไม่มีรอยบุบ หรืองัดแงะ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความสะอาดและปลอดภัย

· ล้างภาชนะกระป๋องหรือถุงเมื่อเมื่อซื้อมาก่อนเก็บเข้าที่ และล้างอีกครั้งก่อนเปิดบริโภค เพื่อป้องกันเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาจากการสัมผัสจากการหยิบจับของคน หรือจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า

 

 

· นำอาหารกระป๋องไปอุ่นในกระทะหรือไมโครเวฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและรสชาติที่ดีขึ้น หลักการง่ายๆเพียงเท่านี้ก็จะสามารถบริโภคอาหารกระป๋องที่มีความปลอดภัย ไร้เชื้อไวรัส-19 ประชาชนสามารถมั่นใจได้

· สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หมั่นล้างมือทำความสะอาดก่อนทุกครั้งก่อนทำอาหาร สัมผัสอาหาร หรือภาชนะอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคที่มือของตนเอง

เพียงเท่านี้ประชาชนก็สามารถมั่นใจได้ว่าอาหารกระป๋องมีความปลอดภัย อีกทั้งข้อมูลข้างต้นที่กล่าวมาตั้งแต่กระบวนการผลิต จนกระทั่งการจัดจำหน่ายของโรงงานอาหารกระป๋องที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าอาหารกระป๋องที่ผ่านกระบวนการต่างๆ สามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆได้อย่างแน่นอน รองศาสตราจารย์ ดร. อดิศร กล่าวปิดท้าย