ช่วยเอสเอ็มอี DITP จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าผลไม้ออนไลน์ เร่งหาตลาดรองรับผลผลิตล่วงหน้า


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) รับนโยบาย “จุรินทร์” หาตลาดผลไม้เป็นการล่วงหน้า เตรียมแผนจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าผลไม้สดและแปรรูป เชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่ายร่วมเจรจาการค้าออนไลน์กับผู้ส่งออกไทย ตั้งเป้ามูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,840 ล้านบาท

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้กำหนดจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สดและแปรรูปออนไลน์ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมชั้น 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ถนนรัชดาภิเษก) ซึ่งเป็น 1 ใน 14 แผนงาน ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ด้านการส่งเสริมสินค้าเกษตรคุณภาพ (Premium Products) ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ในการเร่งหาตลาดล่วงหน้าในการรองรับฤดูผลผลิตผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย มะพร้าว ฯลฯ และผลักดันให้ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย ของสินค้าผลไม้ไทยและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

 

 

สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรม กรมจัดให้มีการเจรจาจับคู่เจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) ระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่ายสินค้าเป้าหมายจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา สเปน ฯลฯ มากกว่า 40 ราย ซึ่งทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในประเทศตลาดเป้าหมาย จะเป็นผู้ติดต่อประสานงาน เพื่อให้เข้ามาร่วมเจรจากับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกผลไม้ของไทยกว่า 40 ราย คาดหมายมูลค่าเจรจาการค้าจากกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 1,840 ล้านบาท

 

 

และการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้นำผลการเจรจาไปต่อยอดการเซ็นสัญญาข้อตกลงการซื้อขาย (Memorandum of Purchasing : MOP) หรือ ข้อตกลงการส่งมอบสินค้า (Memorandum of Delivery : MOD) ในงานมหกรรมผลไม้ภาคตะวันออก ประจำปี 2564 ณ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 12 เมษายน 2564 ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมกับกรมการค้าภายใน องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ จัดกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การประชุมติดตามมาตรการด้านสุขอนามัยในการเก็บ บรรจุ และขนส่งสินค้าผลไม้ในสถานการณ์โควิด-19 และมอบนโยบายเรื่องการเตรียมพร้อมทางด้านโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในฤดูผลไม้ออกสู่ตลาด การปล่อยคาราวานรถบรรทุกผลไม้ส่งออกที่ผ่านการฆ่าเชื้อโควิด-19 และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลไม้ส่งออก โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เกียรติมาเป็นประธาน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมการออกคูหาขายสินค้าผลไม้และผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด การจับคู่เจรจาเสนอซื้อขายผลไม้ในฤดูระหว่างเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออกและล้ง/โรงแพ็ค ฯลฯ

 

 

“กรมมั่นใจว่าการจัดโครงการจับคู่ธุรกิจผลไม้ในครั้งนี้ จะเพิ่มช่องทางในการระบายผลไม้ไทย ทั้งสดและแปรรูป ออกสู่ตลาดต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น และจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น จากการที่มีตลาดรองรับผลผลิตเป็นการล่วงหน้า” นายสมเด็จฯ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้สดไทยไปยังตลาดโลก มีมูลค่า 104,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.44% โดยเป็นการส่งออกทุเรียนสด มูลค่า 65,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.30% มังคุดสด มูลค่า 15,020 ล้านบาท ลดลง 10.07% มะม่วงสด มูลค่า 1,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.36% นอกจากนั้น ยังมีผลไม้สดชนิดอื่นๆ เช่น ลำไย ส้มโอ กล้วยไข่ มะขาม และมะพร้าวอ่อน

สำหรับเดือนมกราคม 2564 การส่งออกผลไม้สดไทยไปยังตลาดโลก มีมูลค่า 6,275.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.44% โดยเป็นการส่งออกทุเรียนสด มูลค่า 1,269.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.15% มังคุดสด มูลค่า 1.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.01% มะม่วงสด มูลค่า 101.06 ล้านบาท ลดลง 18.70%