ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่สั่นสะเทือนทั่วไทย และรวมถึงกระทบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยลุกลามข้ามปีมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 62 จนล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ 4 ของปี 63 ก็ยังไม่มีทีท่าว่าธุรกิจต่าง ๆ จะเข้ารูปเข้ารอยและกลับสู่สภาวะสดใสเหมือนเดิมได้อีกเมื่อไหร่
ด้วยมาตรการเข้มของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ได้ลงนามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 2) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและได้ออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พศ. 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดความสงบในแง่ของการลดการแพร่ระบาดของไวรัสให้ประชาชนส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของพ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้า สถานบันเทิง ห้างฯ ร้าน ที่ต้องชัตดาวน์การค้าขายลงชั่วขณะ เกิดเป็นช่วงเวลาสูญเสียรายได้อย่างไร้กำหนดวันสิ้นสุด
และในวิกฤตจะมีบางโอกาสที่การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งทางรอด เราจึงมักจะได้เห็นข่าวคราวการทรานฟอร์มธุรกิจที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นอย่างมากมาย วันนี้ เราได้รวบรวมบรรดาธุรกิจที่ตัดใจเพื่อไปต่อ ยอมเปลี่ยนรูปแบบการบริการสร้างรายได้ แม้จะไม่อู้ฟู่เท่าเดิมแต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ แม้จะไม่เท่าเดิม ดังนี้
พลิกธุรกิจ เปลี่ยน “พนักงาน” มาเป็น “นักขายสินค้าออนไลน์”
กลยุทธ์พลิกวิกฤตของ King Power ฉีกกฎเกณฑ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยกลยุทธ์ “King Power Team Power” จะเปลี่ยนพนักงานทุกส่วนเป็นนักขายสินค้าออนไลน์มืออาชีพ เพื่อให้องค์กรขยายเครือข่ายจาก “ออนกราวน์” สู่ “ออนไลน์” ซึ่งแผนธุรกิจนี้จะเกิดประโยชน์กับพันธมิตรทางการค้า พนักงาน และลูกค้าอย่างสูงสุด รวมถึงเป็นการตอบโจทย์มาตรการ Social Distancing ที่เน้นให้ทุกคนไม่ต้องเดินทางออกจากบ้าน
สำหรับพนักงานทุกคนจะถูกเข้าคอร์สอินเทนซีฟเพื่อฝึกอบรมการขายสินค้าออนไลน์แบบครบวงจร ซึ่งในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้อาจจะเป็นการสร้างประสบการณ์สำคัญให้กับพนักงานเป็นโอกาสที่จะสามารถต่อยอดไปในอนาคต
“ตุ๊ก ตุ๊ก เอ็กซ์” ปรับตัวสู้วิกฤตโควิด-19
Smiling Tuk Tuk – private tours & transport rental เช่ารถ เรือท่องเที่ยว ปรับตัวสู้โควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ไม่มีนักท่องเที่ยว และทำให้คนขับรถตุ๊กตุ๊ก ไม่มีรายได้จากการวิ่งรถ ได้โพสต์เรื่องราวการให้บริการใหม่เพื่อรับสถานการณ์วิกฤตโดยเปลี่ยนรูปแบบการบริการเป็นรับจ้าง รับ-ส่งของและพัสดุต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ในราคาประหยัด ด้วยคนขับและพนักงานที่พร้อมให้บริการกว่า 50 ชีวิต
Bea.officialth เปิดบริการ “ชานมกักตัว” ปริมาณ 5 ลิตร ไม่ต้องกลัวอด
เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย ไม่สามารถออกมาข้างนอกได้อย่างแต่ก่อน ดังนั้น แบรนด์สินค้าที่ก็ต้องปรับตัว สร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่มีต่อสินค้าอยู่
การส่งอาหาร-สินค้าแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งมีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก หลายแบรนด์สินค้าได้ใช้โอกาสตรงนี้นำเสนอบริการ เช่นเดียวกับ Bea.officialth ที่ปรับตัวธุรกิจในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการเสนอบริการ “ชานมกักตัว” ในปริมาณ 5 ลิตร เทได้ประมาณ 20-25 แก้ว ซึ่งเหมาะอย่างมากในช่วงเวลากักตัวแบบนี้
เพิ่มไลน์ เจลหล่อลื่น เป็น ‘แอลกอฮอลล์เจล’ สู้โควิด
บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (TNR) ธุรกิจรับจ้างผลิตถุงยางอนามัยยี่ห้อดัง อาทิ Onetouch, Playboy เตรียมขยับไลน์ผลิต ‘แอลกอฮอลล์เจล’ รับความต้องการสูงช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด
ล่าสุด TNR รุกปรับไลน์การผลิตสินค้าเจลหล่อลื่นบางส่วน เป็นผลิตภัณฑ์ ‘แอลกอฮอลล์เจล’ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 คาดว่าจะเริ่มส่งสินค้าวางตลาดได้เร็ว ๆ นี้ โดยปัจจุบันได้รับการอนุญาตจาก อย.เป็นที่เรียบร้อย
สถาบันสอนดนตรี ศิลปะ เต้น และบัลเลต์ Melody Castle สู้ด้วยคอร์สสอนออนไลน์
เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็ก ๆ โรงเรียนสอนดนตรีและศิลปะ จึงต้องเพิ่มทางรอดด้วย Platform (ใหม่) ของการเรียน โดยปรับรูปแบบเป็นการเรียนผ่าน VDO Call เพื่อให้ทักษะที่ต้องเรียนรู้ไม่ถูกลืม และคุณครูผู้สอนมีรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส โดยการสอนจะใช้ตารางเวลาในตามกำหนด หลังจากเรียนจบแล้วจะมีการบ้านโดยส่งและตรวจความถูกต้องผ่านแอปพลิเคชันไลน์
ที่มา : Melody Castle สถาบันสอนดนตรี ศิลปะ เต้น และบัลเลต์
นักร้องเพลงแรปชื่อดัง วางไมค์ขายหมูปิ้ง
กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ นักร้องเพลงแรปชื่อดังก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนส่งผลต่องานที่ทำ และจำเป็นต้องหาอาชีพอื่นทำชั่วคราวเพื่อเลี้ยงชีพ โดยเจ้าตัวได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ฟักกลิ้ง ฮีโร่
ระบุว่า เดือนมีนาคม 2020 เป็นเดือนที่ชีวิตของผมมาถึงจุดพีกถึงขีดสุด อัลบั้ม Into the New Era ที่อุตสาหะบากบั่นทำมา 2 – 3 ปี ได้รับห้ารางวัลจากสองสถาบันใหญ่ภายในช่วง 10 วัน
ใครจะรู้ว่าไม่กี่วันต่อมา สถานการณ์หวัด Covid – 19 จะพลิกผันให้เดือนที่ดูรุ่งโรจน์ที่สุดของผมกลับเป็นเดือนที่งานเงียบเชียบที่สุดเหมือนอย่างที่ดูจะแย่ลงเรื่อย ๆ มาซักพัก ผลกระทบจากสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึงส่งผลให้เราทุกคนตกอยู่ในสภาพที่ไม่รู้ว่าความหวังอยู่ที่ใด เพราะมันช่างดูสิ้นหวังเหลือเกิน
ผมตัดสินใจบอกเบลว่าผมขอออกไปขายหมูปิ้งช่วงว่างงานนี้ งานนี้ใช้เวลาออกนอกบ้านแค่ตอนเช้า ใช้เวลาฝึกไม่นาน แม้รายได้ไม่เยอะแต่ก็คงพอค่ากับข้าวในแต่ละวัน ที่สำคัญหมูปิ้งเป็นอาหารเช้าที่ชูใจโปรดปราน อย่างน้อยถ้าขายไม่ได้เลย ผมก็ยังมีข้าวเหนียวหมูปิ้งกลับไปฝากลูกทุกเช้า
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม :
“ครัวการบินไทย” เดลิเวอรี่
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งตรงความอร่อยจากครัวการบินไทยและร้านพัฟแอนด์พาย โดยให้บริการเลือกสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ทั้งเบเกอรี่ อาหาร Take Home, Meal Box Set และเครื่องดื่มหลากหลายเมนู ผ่านทางแอปพลิเคชัน LINEMAN
“Flavors from Top Hotels” หนุนธุรกิจโรงแรม ให้บริการเดลิเวอรี่
โรงแรมหลายแห่ง ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและหันมาเสิร์ฟอาหารที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นอาหารกล่อง บ๊อกซ์เซ็ต เพื่อให้ตอบโจทย์คนที่ทำงานจากบ้าน โดยร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ GET แอปพลิเคชันสั่งอาหารส่งถึงบ้าน ที่มีความตั้งใจจะช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด และธุรกิจโรงแรมไทยเป็นหนึ่งในนั้น เพราะเราเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเมื่อวันที่วิกฤตครั้งนี้ได้ผ่านพ้นไป
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ที่เปลี่ยน แต่ไม่ใช่เพื่อยอดขายแต่เป็นการให้เครื่องมือเพื่อช่วยแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์เพื่อสู้กับศึกใหญ่โควิด เช่น
New Balance “เมื่อวานผลิตรองเท้า วันนี้ผลิตหน้ากาก”
แบรนด์รองเท้า New Balance ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการผลิตหน้ากากมาตรฐาน PPE แบบเต็มรูปแบบในโรงงานที่เมืองลอว์เรนซ์เพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยบริษัทพร้อมใช้ทักษะ และนวัตกรรมการผลิตของโรงงานในสหรัฐฯ พัฒนาหน้ากากอนามัยเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
เพราะสำหรับบางคน ในทุกนาทีคือรายจ่าย ทั้งค่าแรงคนงาน ค่าเช่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้สอยจิปาถะที่รออยู่ในทุก ๆ เดือน บางราย “หยุดไม่ได้” แม้จะเผชิญความเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม …เราขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจส่งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ค้า SME ได้มีกำลังใจสู้ เพื่ออยู่รอดและรอวันประกาศชัยชนะในสงครามไวรัสโควิด-19 และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน