ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) รายงานถึงผู้บริโภคในช่วงมาตรการล็อกดาวน์, เคอร์ฟิวเพื่อให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น มีผลให้การใช้บริการในช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้น ซึ่งอ้างถึงผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชีย 6 ประเทศรวมถึงไทยของ Kantar World panel ที่พบว่าขณะที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง การซื้อสินค้าออนไลน์และบริการสั่งอาหารได้เพิ่มขึ้น 30% ดิจิทัลแพลต์ฟอร์มจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะมีความสอดคล้องกับภาวะและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ “รายใหญ่” ต่างยกระดับดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
CRC ชู Multi-Category และ Multi-Format
สำหรับบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC มียุทธศาสตร์ชัดเจนที่จะก้าวสู่การเป็น “ออมนิชาแนลแพลตฟอร์ม” ที่แข็งแกร่งและครบวงจร ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เป็นจังหวะสำคัญที่จะโชว์ขีดความสามารถของแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยโมเดล Multi-Category และ Multi-Format ที่จะทำให้การซื้อและการชำระค่าสินค้าจบได้บนออนไลน์
เริ่มจากการเลือกซื้อซึ่งซีอาร์ซี พัฒนาออกมาหลายแพลตฟอร์ม เช่น เว็บไซต์ของแบรนด์ต่างในเครือซึ่งมี 9 เว็บไซต์ เช่น www.central.co.th, www.supersports.co.th, www.tops.co.th เป็นต้น ทั้งยังมีแอปพลิเคชันที่เลือกซื้อสินค้าได้ครบทุกแบรนด์ในเครือด้วยแอปฯ เดียว รวมถึงในช่องทางไลน์ แชท & ช้อป ซึ่งครอบคลุม 7 แบรนด์ในเครือเช่นเซ็นทรัล,ซีเอ็มจี,พาวเวอร์บาย ฯลฯและช่องทางคอล & ช้อป ผ่านโทรศัพท์ของเซ็นทรัล, ไทวัสดุและบ้านแอนด์บียอนด์
จับมือแกร็บ ตอบโจทย์ Social Distancing
นอกจากนี้ซีอาร์ซียังมีบริการที่สามารถรองรองมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิดและมีคนจำนวนมาก ด้วยรูปแบบการจัดส่งซึ่งมีทั้งรูปแบบไดร์ฟ ทรู, คลิก แอนด์ คอลเล็ค ซึ่งเลือกรับสินค้าได้ที่ท็อปส์และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ทุกสาขา
ในสถานการณ์โควิด-19 ซีอาร์ซีถือว่าเป็นต่ออยู่มากจากการเข้าลงทุนในแกร็บด้วยมูลค่าถึง 6,000 ล้านบาท ทำให้มีระบบการจัดส่งที่พร้อมทันทีและใช้เวลาน้อยที่สุด เช่นท็อปส์สามารถส่งสินค้าถึงบ้านได้ 1-2 ชั่วโมงในกรุงเทพฯและภายใน 1 วันทั่วไทยรวมถึงห้างเซ็นทรัลที่มีบริการส่งสินค้าด่วนภายใน 99 นาที สำหรับลูกค้าที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ล่าสุดซีอาร์ซียังได้เพิ่มช่องทางซื้อสินค้าบนแอปพลิเคชันแกร็บ ให้กับท็อปส์และแฟมิลี่มาร์ท ด้วยบริการใหม่ ๆ เช่น แกร็บมาร์ท รับฝากซื้อสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อส่งตรงถึงบ้าน ซึ่งให้บริการครอบคลุม 17 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงบริการสั่งอาหารจาก TOPS SELECT ที่สามารถสั่งและส่งอาหารปรุงสดใหม่ ผลไม้สด แซนด์วิช คอฟฟี่อาริกาโตะในแฟมิลี่มาร์ท ฯลฯ บริการ Central Eatery สำหรับสั่งเมนูระดับพิเศษที่ปรุงโดยเชฟประจำเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์และส่งถึงบ้าน นอกจากนั้นยังมีบริการแกร็บเอ็กซ์เพรส บริการจัดส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง ค่าบริการจัดส่ง 80 บาท เมื่อสั่งซื้อสินค้าผ่าน www.tops.co.th
โควิด-19 ทำ “ร้านสะดวกซื้อ” ซึม
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการสกัดการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับร้านสะดวกซื้ออย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีสาขาอยู่จำนวนมากและกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ก็ตาม โดยเฉพาะเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีสาขากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลจำนวนมาก แต่ขณะนี้ได้กลายเป็นพื้นที่หลักซึ่งภาคเอกชนขานรับแนวคิด Work from Home บวกกับการสั่งปิดสถานที่สำคัญต่าง ๆ มาตรการเหล่านี้ทำให้ปริมาณการเดินทางลดลงเป็นอย่างมาก
ซึ่งโดยปกติรายได้ของร้านสะดวกซื้อเกิดขึ้นจากการสัญจรไปมาของประชาชน สะท้อนจากทำเลที่กระจายอยู่ในย่านธุรกิจ โรงเรียนหรือใกล้ตลาด ในสถานีบริการน้ำมัน แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ และหลายจังหวัดมีคำสั่งงดให้ร้านสะดวกซื้อเปิดบริการแบบ 24 ชม. โดยที่เวลาในการจำหน่ายสินค้าหายไป 5-6 ชม.ต่อสาขา
ขณะเดียวกันในยามนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการซื้อข้าวของและอาหารจำนวนมากเพื่อสำรองใช้ในบ้าน ดังนั้นไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือซูเปอร์มาร์เก็ตจึงตอบโจทย์ได้ดีกว่าร้านสะดวกซื้อ เพราะสามารถซื้อสินค้าได้ครบในที่เดียว และการที่ต้องอยู่กับบ้านผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ใช้เวลาว่างทำอาหารกินเองหรือใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่จะเพิ่มขึ้น
7-11 อัพสปีด “Delivery” อีกกว่า 1,000 สาขา
สำหรับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับการขยายสาขามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยจะเพิ่มราว 700 สาขาต่อปี จำนวนสาขาจึงเป็นยุทธศาสตร์เดียวที่ทำให้เซเว่น อีเลฟเว่นทรงอิทธิพลอย่างมาก แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ทำให้เกิดภาพขึ้นว่าสาขาอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการเสมอไป
จะเห็นจากการที่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซีพี ออลล์ เปิดรับสมัครงานเจ้าหน้าที่จัดส่งสินค้าถึง 20,000 อัตราเพื่อ เตรียมให้บริการส่งถึงบ้าน โดยให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน 7-Eleven Delivery ซึ่งที่ผ่านมาเซเว่นอีเลฟเว่นเริ่มที่ให้บริการเดลิเวอรี่ด้วยการทดลองให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดเพียงไม่กี่แห่ง
โดยสามารถสั่งซื้อสินค้าและเลือกรับได้ทั้งแบบส่งในสถานที่ที่ต้องการหรือส่งที่บ้านและสำนักงาน ให้บริการจัดส่งตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. โดยสามารถสะสมคะแนน ออล เมมเบอร์ ชำระเงินทันทีผ่านทรู มันนี่ วอลเลต หรือชำระปลายทางด้วยเงินสด พร้อมโปรโมชันส่งฟรีเมื่อสั่งสินค้าตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป จากค่าส่งปกติ 20 บาท ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอัตราเร่งในเวลาที่กระชั้นชิดกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยตั้งเป้าที่จะขยายบริการดีลิเวอรีให้ได้ 1,500 สาขา และจะเพิ่มเป็นทุกสาขาในอนาคต
สยามพิวรรธน์ ขยับทุกแพลตฟอร์ม รับวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อ
ในสถานการณ์ที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องอยู่กับบ้านให้มากที่สุด ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีความต้องการสินค้าต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้ชีวิต ทำให้ศูนย์การค้าระดับสูงเลือกนำโมเดลใหม่เข้ามาตอบโจทย์ โดยกลุ่มสยามพิวรรธน์ หรือ วันสยาม ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่และเป็นพันธมิตรของไอคอนสยาม เลือกที่ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มดิจิทัลในหลายมิติ เพื่อนำเสนอประสบการณ์ Extraordinary เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ “The Icon of Innovative Lifestyle” ให้ชัดยิ่งขึ้น
เริ่มจากการพัฒนาช่องทางสื่อสารใหม่เข้ามาให้บริการเพิ่ม โดยเมื่อลูกค้าสนใจสินค้าใดที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียของศูนย์การค้าในวันสยาม จะสามารถเข้ามาสั่งซื้อพูดคุยในบริการกับพนักงานได้ทันทีที่ “OneSiam Chat & Shop”
รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มสำคัญอย่าง“Call & Pick Up Service” ซึ่งจะเข้ามารองรับความต้องการในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากกูร์เมต์มาร์เก็ต หรือพารากอนฟู้ดฮอลล์และจากซูเปอร์มาร์เก็ตเดียร์ทัมมี่หรือ ทาคามาเช่ ที่ไอคอนสยาม โดยจะมีบริการผู้ช่วยส่วนตัวจะนำสินค้าและจัดส่ง ณ จุดพิคอัพ
นอกจากนี้ยังมีบริการ “Eat at Home” ที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันฟู้ดดีลิเวอรีต่าง ๆ หรือร้านอาหารโดยตรง โดยให้บริการมากกว่า 50 ร้านอาหารในสยามพารากอนโซน กูร์เมต์ การ์เด้น และพารากอน ฟู้ดฮอลล์ รวมทั้งร้านอาหารที่ไอคอนสยาม เปิดให้บริการสั่งกลับบ้าน และกระตุ้นการใช้บริการผ่านโปรโมชั่นส่วนลดสูงสุด 50%
อย่างไรก็ตามปัจจุบันเฟซบุ๊กเพจต่าง ๆ ของศูนย์การค้ากลุ่มวันสยามทั้ง 3 ศูนย์ในชุมชนคอมมูนิตี้มีผู้ติดตามรวมกว่า 1.2 ล้านคน ส่วน One Siam Application มียอดดาวน์โหลดรวมกว่า 2 แสนคน และ LINE OA@OneSiam สมาชิกกว่า 7.2 แสนคน
จะเห็นว่าลูกค้าในคอมมูนิตี้บนโลกดิจิทัลมีกว่า 2.1 ล้านคน โดยทุกช่องทางจะทำหน้าที่สื่อสารตามกลยุทธ์ Social Commerce