ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในระดับโลกมากน้อยแค่ไหน


ขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกถือว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการบ่งบอกถึงความพร้อมของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศจนนำไปสู่ความมั่งคั่งในระยาว

แน่นอนว่าในแต่ละประเทศต่างมีข้อดี-ข้อด้อยที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นจะถูกจัดอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ เรามาหาคำตอบกัน

ตามรายงานของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development :IMD) ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ประกาศไว้เมื่อกลางปี 2019 พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 63 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยขยับขึ้นมา 5 อันดับ จากที่ 30 เมื่อปี 2018 ซึ่งถือว่าเป็นอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี

โดยปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีอันดับขยับขึ้นมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ปัจจัยด้านสมรรถนะภาพทางเศรษฐกิจ อยู่อันดับ 8 (ขยับขึ้น 2 อันดับ) 2.ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพของภาครัฐอยู่ในอันดับ 20 (ขยับขึ้น 2 อันดับ) และ 3.ปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในอันดับ 45 (ขยับขึ้น 3 อันดับ)

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ ปรากฏว่าไทยยังเป็นรองสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 1 และมาเลเซียที่อยู่ในอันดับ 22 แต่ยังอยู่เหนือกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ที่อยู่ในอันดับ 32 และ 46 ตามลำดับ

ด้าน World Economic Forum (WEF) ได้จัดอันดับความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้คะแนนอยู่ที่ 68.1 เพิ่มขึ้นจาก 67.5 โดยอยู่ในอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 141 ประเทศ/เศรษฐกิจ

 

 

หากเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน+3 พบว่าอยู่ในอันดับ 6 โดยเรื่องที่ไทยทำได้ดี มีดังต่อไปนี้

1. เสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ โดยวัดจากสินค้านำเข้า-ส่งออก, ดุลการค้า, อัตราเงินเฟ้อ และความเข้มแข็งของธนาคาร

2. สวัสดิการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง

3.ระบบการเงิน ที่เอกชนสามารถปล่อยกู้ให้กับเอกชนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีจุดอ่อนที่ยังต้องปรับปรุง ได้แก่ เรื่องทักษะของผู้จบการศึกษาที่ดูแย่ลง , ระบบการทำงานของราชการที่ดูซับซ้อน, การแข่งขันของตลาดที่เป็นในลักษณะผูกขาด เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุน รวมถึงการไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้เอง