ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ภูมิทัศน์ในธุรกิจร้านอาหารเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาเลือกสิ่งที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพมากขึ้นและซ้อนทับกับกระแสกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่คงต้องรักษาระยะห่างและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อด้วยการใช้เวลาในบ้านมากขึ้น ร้านอาหารจึงจำเป็นต้องปรับกลไกใหม่ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างภูมิคุ้มกันต่อการถูกทำลาย (Disrupt) จากความไม่แน่นอน
ซิซซ์เล่อร์ สลัดภาพร้านสเต็ก
ซิซซ์เล่อร์ ผู้นำของกลุ่มธุรกิจเชนร้านอาหารสไตล์ตะวันตกในเมืองไทยตลอด 28 ปี ปัจจุบันซิซซ์เล่อร์พยายามปรับกลยุทธ์ในหลายมิติเพื่อลดจุดอ่อนและอุปสรรคในการแข่งขันลงให้มากที่สุด จะเห็นได้ชัดจากการประกาศปรับภาพลักษณ์ใหม่จาก Dine-in Restaurant ที่มีสเต็กและสลัดบาร์เป็นจุดขายหลัก มาสู่การเป็นแบรนด์เพื่อสุขภาพ ด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ธุรกิจสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือ Mega Trends ด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้สามารถการขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เปิดกว้างมากขึ้น
โดยการขับเคลื่อนเพื่อสะท้อนถึงจุดยืนใหม่ของซิซซ์เล่อร์ เริ่มจากการโฟกัสจุดขายด้านสุขภาพให้ชัดเจนขึ้น โดยการนำจุดแข็งที่มี คือสเต็กและสลัดบาร์ซึ่งเสริฟ์ทั้งผักและธัญพืชคุณภาพสูงจากโครงการหลวง มาต่อยอดสู่การเพิ่มไลน์สินค้าเช่นเครื่องดื่มน้ำผักผลไม้สกัดเย็น 100% (Cold-Pressed Juice)
จากก่อนหน้านี้ได้พัฒนาเฮลท์ตี้ วีแกน ชอยส์ (Healthy Vegan Choice) ในกลุ่ม “แพลนต์เบส” (Plant Based) เป็นสเต๊กเนื้อสัตว์จากธัญพืช 100% เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนชอบสเต็กแต่ที่เลิกหรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะเป็นการเปิดจำหน่ายเฉพาะเวลาและบางสาขาแต่ถือว่าได้รับความสนใจมาก
พัฒนาอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพและเมนูอาหารใหม่ ๆ มีจุดขายด้านสุขภาพ โดยไม่จำกัดเฉพาะสเต๊กหรือสลัดแบบที่่ผ่านมา เช่น “เอเชี่ยน เทส ลันซ์” ที่ประกอบด้วยเมนูต่าง ๆ ทั้งสปาเกตตีต้มยำ ไก่ย่างสไปซี่ ไข่ออนเซน ข้าวหน้าปลาซาบะย่าง และอื่น ๆ ในราคาเริ่มต้น 209 บาท ซึ่งต่างเป็นเมนูที่อยู่นอกคอนเซ็ปต์ร้านสเต๊ก หรือ “เฮลทตี้ วีแกน ชอยส์” ที่ใช้โปรตีนจากพืชเป็นวัตถุดิบแทนเนื้อสัตว์ พร้อมปรับราคาลงจาก 400-500 บาท เป็น 329 บาท และ 399 บาท เพื่อตอบโจทย์กระแสสุขภาพ
“New Sizzler : New Normal”
ที่ผ่านมาซิซซ์เล่อร์ ยังถูกจำกัดโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยจำนวนสาขาเพียง 57 แห่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ศูนย์การค้า แต่ปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวก รวดเร็วและลดความถี่ในการใช้บริการภายในร้านอาหารลง ขณะเดียวกันก็มีบริการฟู้ด เดลิเวอรี่เข้ามาเป็นทางเลือกและสามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ซิซซ์เล่อร์จึงตัดสินหันมาโฟกัสเกมรุกด้านช่องทางจัดจำหน่าย (Place Strategy)ภายใต้แนวคิด “New Sizzler New Normal” ด้วยการยกระดับบริการเดลิเวอรี่ซึ่งล่าสุดเตรียมขยาย Sizzler Cloud Kitchen โมเดลครัวกลางรูปแบบใหม่ให้ที่สะดวก ใกล้บ้าน จากการนำเอาแนวคิด Cloud มาประยุกต์ใช้กับร้านอาหาร โดยการยกครัวของซิซซ์เล่อร์มาไว้ในร้านดีลิเวอรีของร้านในเครือไมเนอร์ฯ โดยแต่ละจุดจะให้บริการในรัศมี 3 กิโลเมตรหรือใช้เวลาการทำอาหารจนถึงส่งไม่เกิน 1 ชั่วโมงและสามารถซื้อทั้งแบบเดลิเวอรีและสั่งกลับบ้าน (Takeaway) ขณะนี้ 3 สาขาและวางแผนจะเพิ่มอัตราเร่งมากขึ้นเพื่อผลักดันให้สัดส่วนการใช้บริการเดลิเวอรี่เติบโตจาก 5% เป็น 10%และภายใน 2 ปีข้างหน้าที่จะสัดส่วนเป็น 30%
ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ SizzlerThai
นอกจากนี้ช่วงต้นปีซิซซ์เลอร์ได้เปิด Sizzler to go ซึ่งมี 2 โมเดล คือ Stand Alone Kiosk รูปแบบคีออสก์ขนาด 3 ตร.ม.เน้นจำหน่ายสินค้าสุขภาพและทานง่าย เช่น แซนด์วิช สลัด น้ำผักและผลไม้สกัดเย็น ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ซึ่งอาหารมื้อเช้าและกลางวันส่วนใหญ่จะเป็นเมนูที่ง่าย ๆ และพกพาได้สะดวก โดยซิซซ์เล่อร์เปิดโมเดลนี้ในไทยเป็นแห่งแรกในโลกขณะนี้มี 4 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า และ Sizzler to go บริเวณด้านหน้าร้านซิซซ์เล่อร์
ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ SizzlerThai
โดยมีเมนูใหม่ที่สร้างมาสำหรับ Sizzler to go เช่น แซนวิช ที่ชูคอนเซ็ปต์ ‘กินแล้วดีต่อสุขภาพ’ ด้วยขนมปังที่มีทั้งที่เป็นธัญพืช , ข้าวกล้องงอก , นม , บีทรูท ฯลฯ ไส้แซนวิชที่ให้ความสำคัญกับกระแสอาทิ แฮมชีส , ไส้ปูอัดไข่กุ้ง และแซนวิชวีแกน สำหรับคนไม่มีกินเนื้อสัตว์ในแพ็กเกจที่พกพาง่ายและรักษ์โลก โดยอาหารที่ขายใน Sizzler to go อย่างเช่น สลัดราคา 99 บาท ต่ำกว่าซื้อผ่านทางบริการเดลิเวอรี่ที่มีราคา 109 บาท ส่วนแซนวิชราคาเดียว 79 บาท พร้อมกับมีการทำ Set หรืออาหารชุด เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
“บาร์บีคิวพลาซ่า” ยืนหนึ่ง Lifestyle Brand
ตลอด 33 ปีที่ร้านอาหารสัญชาติไทยอย่างบาร์บีคิวพลาซ่ายืนหยัดอยู่ในตลาดเชนร้านอาหาร เป็นบทพิสูจน์ชัดเจนในฐานะ “ตัวจริง” โดยความโดดเด่นของบาร์บีคิว พลาซ่าคือมิติของการตลาดที่มีความสร้างสรรค์และสามารถทำให้แบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ปกติและในชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ได้กลมกลืน
จะเห็นได้จากกรณีการปรับกลยุทธ์ในช่วงคลายล็อกแต่คนไทยยังจำเป็นต้องเข้มข้นกับมาตรการเว้นระยะห่างหรือ Social Distancing บาร์บีคิวพลาซ่าก็สามารถสร้างประสบการณ์ความสุขและความสนุกจากการรับประทานอาหารที่ร้าน ผ่านแคมเปญ ‘ก้อนกล้าหาญ’ มานั่งเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะ บาร์บีกอนในรูปแบบกล่องกระดาษพับ วางเรียงตามโต๊ะทุกสาขาทั่วประเทศ พร้อมโควทน่ารัก ๆ ซึ่งทำให้การกินปิ้งย่างไม่รู้สึกโดดเดี่ยวโดยที่ยังคงทำให้การกินปิ้งย่างสนุกในแบบที่คุ้นเคย
โดย ‘ก้อนกล้าหาญ’ สามารถสร้างกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ได้อย่างกว้างขวางและกระตุ้นความสนใจให้ผู้บริโภคกล้าที่จะใช้บริการภายในร้านบาร์บีกอน พลาซ่า กระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในยุค Social Distancing เป็นที่เรียบร้อย
ขณะที่ช่วงก่อนการมาถึงของโควิด19 บาร์บีคิว พลาซ่าเป็นแบรนด์เดียวในตลาดที่สามารถขับเคลื่อนแบรนด์ให้แข็งแกร่งด้วยกลยุทธ์คาแรคเตอร์ มาร์เกตติ้ง ผ่านการนำสัญลักษณ์ของร้านซึ่งเรียกขานกันในชื่อ “บาร์บีกอน” ด้วยการนำมาเชื่อมโยงแบรนด์เข้าถึงลูกค้าด้วยการสร้างสรรค์ให้บาร์บีกอนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญการตลาดในโอกาสต่าง ๆ
ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ Bar B Q Plaza
เปิดเกมเดลิเวอรี ลดโอกาสเสี่ยงกับ “Disruption”
ล่าสุด บาร์บีกอน พลาซ่า ประกาศขยายไลน์ธุรกิจเป็นครั้งแรกด้วยการพัฒนาก้อนจุ่มแซ่บ (GON Pot) เพื่อรุกเข้าสู่เซกเม้นต์หม้อต้มด้วยการนำแบรนด์ในเครืออย่าง“จุ่มแซ่บฮัท” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดเป็นที่รับรู้และจดจำดีอยู่แล้ว มาต่อยอดในช่องทางเดลิเวอรี่ ซึ่งหมายความว่าจุ่มแซ่บฮัทจะเข้ามาผนวกกับบาร์บีก้อนภายใต้ชื่อ GON Pot ซึ่งจะช่วยให้บาร์บีกอนก้อนเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ได้หลากหลายขึ้น
สำหรับ “ก้อนจุ่มแซ่บ จะให้บริการใน 12 สาขา เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าจัดส่งตามระยะทาง 3 กิโลเมตรแรก 19 บาท กิโลเมตรถัดไป 9 บาท ภายในรัศมี 6 สำหรับเมนู 4 ประเภท ราคาตั้งแต่ 599, 699, 999 และ 1,039 บาท มาพร้อมโปรโมชั่น “ก้อนจุ่มแซ่บโฮม” 2 เซ็ต ได้แก่ “ก้อนจุ่มแซ่บโฮมชุดหมู” ราคา 1,234 บาท และ “ก้อนจุ่มแซ่บโฮมชุดเนื้อ” ราคา1,274บาท
ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ Bar B Q Plaza
โดยเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจบาร์บีคิว พลาซ่าในครั้งนี้ นอกจากการสร้างรายได้เพิ่มในช่วงโควิด-19 แล้วยังต้องการที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นที่มากกว่าอาหารปิ้งย่างและต้มเพื่อตอกย้ำการเป็นไลฟ์สไตล์ แบรนด์ (Lifestyle Brand)ให้ชัดเจนมากขึ้น