ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยกับการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้มีการพูดคุยผ่านระบบสื่อสารทางไกล ซึ่งมีนายเหวียน ซุน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นประธาน
สำหรับประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือมีการลงนามความร่วมมือข้อตกลง RCEP ระหว่าง 15 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, บรูไน, สปป.ลาว, กัมพูชา, เมียนมา และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศนอกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จากการรวมกลุ่มในครั้งนี้เท่ากับว่าข้อตกลง RCEP จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการค้าใหญ่ที่สุดในโลก โดยคิดเป็น 1 ใน 3 หรือ 30% ของ GDP ทั้งหมด มีมูลค่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท)
ข้อตกลง RCEP คืออะไร
ความตกลง RCEP นั้น จะประกอบด้วย 20 บทด้วยกัน โดยเป็นความตกลงที่มีความทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน นอกจากนี้ ยังสามารถขยายความร่วมมือไปยังด้านอื่น ๆ ที่มีความเข้มข้นมากขึ้นจาก FTA ของอาเซียนกับคู่ค้าเจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนผู้ประกอบการ SME การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐฯ
จากที่กล่าวมา จึงเป็นอีกก้าวของประเทศที่อยู่ในความตกลง RCEP ที่จะสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับธุรกิจในภูมิภาคให้สามารถเติบโตจากเสถียรภาพจากข้อตกลงที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประกาศความสำเร็จของการเจรจาข้อตกลง RCEP หลังพยายามมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 8 ปี โดยผู้นำที่ลงนามแสดงถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการสนับสนุนการค้า การลงทุนที่มีความเปิดกว้าง เป็นไปตามกติกาโลก เพื่อนำมาสู่การจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค
ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้าง
อย่างที่ทราบกันดีว่า ความตกลง RCEP ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งเมื่อมองแล้วถือเป็นตลาดที่ใหญ่สุดในโลก
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า RCEP จะส่งผลต่อการค้า และการลงทุนไทย ออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 RCEP เป็นความตกลงที่เปิดกว้างที่สุด และมีมาตรฐานด้านต่าง ๆ สูงเท่าที่ไทยเคยมีมา โดยเฉพาะเป้าหมายการลดภาษีสินค้าสูงที่สุดถึง 99% ของจำนวนสินค้าทั้งหมด นับว่าสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยทำตลาดได้มากขึ้นจากความตกลงเดิมที่มีอยู่ โดยปัจจุบันไทยส่งออกไปตลาดนี้มีมูลค่า 9.18 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ (ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563) คิดเป็นร้อยละ 53.1 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก
ไม่เพียงเท่านั้น RCEP ยังเป็นข้อตกลงที่มีมาตรฐานการเจรจาที่สูงกว่าข้อตกลงใด ๆ ที่ไทยเคยมี แน่นอนว่าจะช่วยยกระดับการผลิต และการส่งออกไทยไปสู่มาตรฐานความตกลงในรูปแบบพหุภาคีในระดับที่สูงขึ้น
ประเด็นที่ 2 การเกิดขึ้นของ RCEP ช่วยสร้างสมดุลการค้าและการลงทุนในสองฟากฝั่งของโลก โดยเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของชาติเอเชียที่มีจีนเป็นแกนนำความตกลงเพื่อให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก คานอิทธิพลชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในระยะข้างหน้าไทยจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น โดยผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ขณะที่ผลทางอ้อมจะมาจากการที่ประเทศ Plus 5 จะลดกำแพงภาษีระหว่างกันเป็นครั้งแรก ซึ่งการเกิดขึ้นของ RCEP จะยิ่งทำให้ไทยยังคงเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านการผลิตและส่งออก
หมวดสินค้าไทยที่ได้รับอานิสงส์จากข้อตกลง RCEP
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง มีอยู่ 5 หมวด ด้วยกันดังต่อไปนี้
1.หมวดสินค้าเกษตร: แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง
2.หมวดอาหาร: ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว อาหารแปรรูปอื่น ๆ
3.หมวดสินค้าอุตสาหกรรม: อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยายนยนต์
4.หมวดบริการ: ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง แอนิเมชั่น
5.หมวดค้าปลีก