หมดปัญหา! เผยกฎหมายใหม่คุ้มครองร้านอาหารไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากแอปฯ เดลิเวอรี่


แอปพลิเคชันส่งอาหารเดลิเวอรี่ คือหนึ่งแอปฯ ที่ผู้คนยุคปัจจุบันต้องโหลดเก็บไว้ในสมาร์ทโฟน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวเอง เอาไว้สั่งอาหารได้ทุกที่ทุกเวลา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา แอปพลิเคชันส่งอาหารเดลิเวอรี่กลายเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจากสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผู้คนต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ไม่สามารถออกมาข้างนอกได้ จึงทำให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่กลายเป็นบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ด้วยความสะดวก รวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริการดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นก็เกิดปัญหาร้องเรียนตามมาจากร้านอาหาร โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ระบุว่า มีผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ได้เรียกเก็บค่าบริการจากร้านอาหารในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการฉวยโอกาสในช่วงที่บริการได้รับความนิยม โดยจากเดิมคิดอยู่ที่ร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 35-40

แน่นอนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกลายเป็นโดมิโนที่กระทบต่อไปยังผู้บริโภคที่สั่งซื้ออาหารอีกที เพราะด้วยอัตราค่าบริการที่ร้านอาหารถูกเรียกเก็บนำมาสู่ราคาอาหารที่ต้องปรับราคาสูงขึ้นตาม ดังนั้น ผลกระทบจึงตกมาอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าอาหารเพิ่มขึ้น

ล่าสุด ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไข เมื่อเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (วันที่ 23 พ.ย.63) เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ ดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดย ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า

สำหรับใจความสำคัญของประกาศดังกล่าว อยู่ที่การคุ้มครองร้านอาหาร โดยให้ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารยึดหลักการประกอบธุรกิจอย่างเสรีและเป็นธรรม

การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (Commission Fee หรือ Gross Profit (GP)) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ อันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1. การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จากอัตราที่เคยเรียกเก็บ

2. การเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรระหว่างผู้ประกอบ ธุรกิจร้านอาหารที่จำหน่ายสินค้าเดียวกัน โดยพิจารณาจากปริมาณ มูลค่าการจำหน่าย ต้นทุนการจำหน่าย จำนวนสาขาและคุณภาพ เป็นต้น

  • การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโฆษณา (Advertising Fee) ทั้งในส่วนของอัตรา ค่าโฆษณาและพื้นที่การโฆษณาบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นการเรียกเก็บ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น การเรียกเก็บอัตราค่าโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายโดยผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่จ่ายค่าโฆษณา ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ตกลงกันอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น
  • การเรียกเก็บค่าส่งเสริมการขายในโอกาสพิเศษทางการตลาด (Promotion) ที่เป็นการเรียกเก็บโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  • การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บ มาก่อนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

โดยผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารจะต้อง แจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทราบล่วงหน้าถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง ในระยะเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป