เจาะลึก! เพราะอะไร จีน ถึงเป็นประเทศน่าลงทุนมากที่สุดในทศวรรษนี้


จีนกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกจับตามอง และถูกคาดหมายจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกต่อไปในอนาคต ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการส่งสัญญาณว่าเรื่องนี้กำลังจะเกิดขึ้นจริง

ย้อนกลับไปในปี 2019 ประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุด 2 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน แต่มาถึงปี 2020 จีนพลิกแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นประเทศจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกด้วยมูลค่ากว่า 163,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4 ส่วนสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 49 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เหตุผลที่ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในปี 2020 มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีอย่างครบครัน ครอบคลุมทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล รวมถึงการมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ มีนวัตกรรมที่ทันสมัย ภาครัฐฯ ส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี

นอกจากนี้บริทบททางสภาพแวดล้อมยังเอื้ออำนวยต่อการลงทุน โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่สามารถดึงดูดนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศจำนวนมาก เช่นเดียวกับการก่อตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ใน 21 มณฑล/เมือง เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการเปิดประเทศ และเปิดรับนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว เป็นการชี้ให้เห็นถึงเสถียรภาพ เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลก เหล่านี้จึงทำให้จีนพลิกแซงสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในที่สุด

ด้านอันดับสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 25, อสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นร้อย 16.6, การเช่าและให้บริการทางธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 15.6, ซอฟต์แวร์และสารสนเทศ คิดเป็นร้อยละ 10.4, วิทยาศาสตร์และบริการทางเทคนิค คิดเป็นร้อยละ 7.9

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมของจีนที่มีแนวโน้มดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากที่สุดในอนาคต ได้แก่ อุตสาหกรรมรถไฟฟ้า, อุตสาหกรรมไฮเทค, อุตสาหกรรมการรักษาสภาพแวดล้อม และอุตสาหกรรมการรักษาสุขภาพ

สำหรับโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในจีนนั้น ทางภาครัฐฯ ควรเร่งพัฒนานโยบายส่งเสริม และสนับสนุนการลงทุนในเชิงรุก และผลักดันการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงกำหนดสิทธิพิเศษทางด้านภาษีในระดับสูงกว่าประเทศในภูมิภาค ให้สามารถเอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น อีกทั้งการแสวงหาช่องทางการใช้ประโยชน์จากข้อบกพร่องของคู่แข่ง เช่น จีนมีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ และมีกำลังการผลิตจำนวนมาก แต่ยังไม่มีความแข็งแกร่ง เนื่องจากวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และส่วนประกอบต่าง ๆ จำนวนมากยังคงขึ้นอยู่กับการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการในภาคการผลิตและส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนวัตถุดิบที่จำเป็นเข้าไปเปิดตลาด

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์