“สุกี้โคคา สยามสแควร์” ประกาศปิดร้าน 18 พ.ค. ส่งสัญญาณหรือยุคทองร้านอาหารกำลังหมดไป


ถือเป็นเรื่องน่าใจหายอยู่ไม่น้อยเมื่อร้านระดับตำนานอย่าง “สุกี้โคคา สยามสแควร์” ที่ประกาศให้บริการในวันที่ 18 พ.ค. 64 เป็นวันสุดท้าย ปิดตำนาน 54 ปี ที่เปิดมาเป็นที่เรียบร้อย

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. เฟซบุ๊กแฟนเพจ COCA Restaurant ได้โพสต์ข้อความว่า #ตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานอยู่ตลอดไป
สาขา สยามสแควร์ เปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 18 พ.ค. 64 นี้
แต่สาขาอื่นยังให้บริการตามปกตินะคะ
โคคาและพนักงานทุกคนขอขอบคุณลูกค้าตลอดระยะเวลา 54 ปี ที่อยู่เคียงข้างโคคามาตลอด
หลายคนมีความทรงจำที่ดีกับที่แห่งนี้มาก โคคาอยากเชิญลูกค้าทุกท่านในโอกาสสุดท้ายที่ได้ถ่ายรูปกับความทรงจำดีๆ ที่สาขานี้

หลังจากมีประกาศนี้ออกไปปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาจองคิวเต็ม และไม่ขอรับลูกค้าที่จะ Walk in เข้ามา แม้ว่าสุกี้โคคา สยามสแควร์ จะปิดให้บริการ แต่ลูกค้ายังสามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น ๆ เช่น สุขุมวิท 39, ไทม์สแควร์ เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า พหลโยธิน และสาขาชายหาดพัทยา

ย้อนกลับไปถึงความเป็นมาของแบรนด์สุกี้โคคา พบว่าเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2500 โดยคุณศรีชัย พันธุ์เพ็ญโสภณและคุณปัทมา คู่สามีภรรยา จากจุดเริ่มต้นจากห้องอาหารจีนกวางตุ้ง 20 ที่นั่ง สู่แบรนด์สุกี้ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ รสชาติเป็นที่ถูกปากของลูกค้าตลอดเรื่อยมาของการดำเนินกิจการ

กลยุทธ์ที่ทำให้ “สุกี้โคคา” กลายเป็นที่รู้จัก คือการพัฒนา และมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ โดยเลือกสรรควัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมไปถึงความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์, อาหารทะเล และผักสด ที่แยกเป็นจานเล็ก ๆ แทนที่การเสิร์ฟมาเป็นชุดใหญ่ เหล่านี้จึงเป็นจุดขายที่สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

ต่อมาธุรกิจถูกส่งต่อไปยังทายาทรุ่นสอง คือคุณพิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ และคุณนัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ” ทายาทรุ่นสามภายใต้บริษัท COCA Holdings International Co., Ltd. เพื่อสร้างบริการ และรองรับการดำเนินงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมถึงมีการขยายสาขาเพิ่มทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อต่อยอดความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ร้านอาหารจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากมาตรการป้องกันของภาครัฐฯ ทั้งการปิดร้านชั่วคราว หรือจะเป็นการจำกัดลูกค้าเข้ามานั่งรับประทานภายในร้าน หรือการให้สั่งแบบ Take Away เพียงอย่างเดียว เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจที่ขาดหายไป โดยเฉพาะอาหารประเภทสุกี้ที่ส่วนใหญ่ต้องนั่งรับประทานภายในร้าน

ดังนั้น เราจึงเห็นร้านอาหารต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่นเดียวกับโคคา สุกี้ ที่ร้านอาหารรูปแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป และจำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อประสิทธิภาพในการบริหารให้ดีที่สุด ด้วยพฤติกรรมของลูกค้าที่ไม่ค่อยออกจากบ้าน ทางโคคา สุกี้ ก็เพิ่มบริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี จัดโปรโมชัน มอบส่วนลด รวมถึงการพัฒนาเมนูอาหารที่เน้นให้เข้ากับเทรนด์ เช่น นำกัญชามาเป็นส่วนผสมในเมนูอาหาร

ที่มา:
https://www.coca.com/th/about-us-history 

https://www.facebook.com/COCARestaurant/?ref=page_internal