ใครกำลังทำธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม แล้วอยากเพิ่มมูลค่าให้เมนูอาหาร เราขอแนะนำให้รู้จักกับอีกหนึ่งวัตถุดิบมาแรง ที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ในเวลาอันใกล้ ‘หญ้าหวาน’ วัตถุดิบล้ำค่าของคนเฮลท์ตี้ที่ไม่ได้มีดีเพียงเรื่องคุณประโยชน์ แต่ยังเต็มไปด้วยสตอรี่เอาไว้สร้างแบรนด์ให้มีภาพลักษณ์ดีได้มากขึ้น
คุณป้อม กนกภัค เจริญดี ผู้บริหารแบรนด์ HOMWAN STEVIA เล่าว่า HOMWAN STEVIA ดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 6 ปี โดยเน้นการแปรรูปหญ้าหวานเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์คนรักสุขภาพ และเนื่องจากต้นหญ้าหวานชอบภูมิอากาศที่เย็น บวกกับความหอมหวานจะขึ้นอยู่กับความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร ทำให้แหล่งเพาะปลูกในประเทศไทยที่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมีอยู่จำกัด ซึ่งแหล่งปลูกของเราอยู่ที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพาะปลูกโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปหญ้าหวานและผลผลิตทางการเกษตร ในกลุ่มวิสาหกิจนี้จะทำการปลูกแบบออร์แกนิค ไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ถึงแม้การเก็บเกี่ยวหญ้าหวานจะใช้เวลาเพียง 45 วัน แต่ด้วยการดูแลที่ค่อนข้างยุ่งยาก จึงทำให้หญ้าหวานมีราคาแพง และมีการเพาะปลูกในวงที่จำกัด
ด้วยเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังมาแรง ทำให้หญ้าหวานกลายเป็นอีกสินค้าที่ได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนี้ เนื่องจากหญ้าหวานจะให้ความหวานตามธรรมชาติ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานหรือต้องการควบคุมระดับน้ำตาล ช่วยลดความดันโลหิตสูง ช่วยลดไขมันในเลือดสูง ช่วยบำรุงตับอ่อนให้ทำงานดีขึ้น ช่วยเพิ่มน้ำนมหลังคลอด รวมถึงช่วยเพิ่มกำลังวังชา และสร้างความสดชื่นให้กับร่างกาย นอกจากเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานแล้ว กลุ่มผู้รับประทานอาหารคีโตยังใช้หญ้าหวานทดแทนน้ำตาลทรายกันอย่างแพร่หลาย
หากเปรียบเทียบเรื่องราคา น้ำตาลจากอ้อยจะราคากิโลกรัมละ 30 บาท แต่น้ำตาลจากหญ้าหวานอย่างของแบรนด์ HOMWAN STEVIA มีราคากิโลกรัมละ 1,200 บาท ซึ่งให้ค่าความหวานจะสูงกว่าน้ำตาลทราย 7 เท่า ผู้นำไปใช้ปรุงอาหารจึงใช้ในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้น้ำตาลทราย หรือใช้ในสัดส่วน 1:7 เท่านั้น โดยปัจจุบันในท้องตลาดมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมามากมาย อาทิ น้ำตาลหญ้าหวาน ไซรัปหญ้าหวาน หญ้าหวานบดผง หญ้าหวานอบแห้ง ชาหญ้าหวาน ฯลฯ
HOMWAN STEVIA เริ่มต้นจากการเป็นธุรกิจ OTOP รายเล็ก ๆ และเติบโตอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา อย่างในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด มีธุรกิจมากมายได้รับผลกระทบ แต่บริษัทฯ กลับเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แล้วหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อย่างผลประกอบการปี 2562 บริษัททำรายได้ 1.5 ล้านบาท ปี 2563 บริษัททำรายได้เป็น 5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า และคาดว่าปี 2564 นี้ จะสามารถทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
เมื่อมองถึงสัดส่วนผู้ที่ได้ทดลองบริโภคหญ้าหวานในประเทศไทย คาดว่ามีเพียง 20% เท่านั้น ทำให้ธุรกิจหญ้าหวานยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยภายใน 3 ปี ธุรกิจเกี่ยวกับหญ้าหวานจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น และก้าวเข้าสู่ตลาด Red Ocean อีกภายในไม่กี่ปี เนื่องจากผู้รับซื้อต่างชาติสนใจหญ้าหวานจากประเทศไทยมาก แต่ด้วยการผลิตที่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศในระดับหนึ่ง ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการส่งออก หน่วยงานต่าง ๆ จึงควรเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้
สำหรับการนำหญ้าหวานไปใช้กับธุรกิจอาหาร ผู้ประกอบการบางรายอาจมองว่าหากใช้หญ้าหวานทดแทนน้ำตาลทั้งหมดจะทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น แต่นอกจากการใช้หญ้าหวานในปริมาณที่น้อยกว่า ผู้ประกอบการยังสามารถนำหญ้าหวานไปเพิ่มมูลค่าให้เมนูอาหารได้ผ่านการนำเสนอรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นอีกการสร้างแรงจูงใจ ในขณะที่ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น
‘ในทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสอยู่ในนั้นเสมอ อยู่ที่เราจะมองเห็น หรือสามารถปรับมุมมอง เพื่อทำธุรกิจให้ตอบโจทย์สถานการณ์นั้นได้มากแค่ไหน ’