พาไปเปิดมุมมองการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถสร้างธุรกิจไปพร้อมกับการสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้คนในชุมชน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
คุณนิว สุทธิเกียรติ สุขบุญรักษา ผู้บริหารห้างหุ้นส่วนจำกัด บางสะพานชาร์โคล วัย 33 ปี เล่าว่า ปัจจุบันธุรกิจนี้ก่อตั้งมาแล้วกว่า 20 ปี ตนเองเป็นรุ่น 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจจากคุณพ่อในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ผลิตถ่านอัดแท่งจากไม้ทั่ว ๆ ไป แต่ในขณะที่เข้ามาทำต่อก็พยายามหาวัตถุดิบเหลือทิ้งจากธรรมชาติเพื่อต่อยอดเป็นถ่านอัดแท่ง จนพบว่ากะลามะพร้าวเหลือทิ้งของคนภายในชุมชน ที่หลังจากส่งเนื้อมะพร้าวขายให้กับโรงงานทำกะทิภายในจังหวัดแล้ว ส่วนใหญ่มักนำกะลามาเผาทิ้งไปอย่างไร้ค่า ตนเองจึงนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง เพราะสามารถทดแทนทรัพยากรธรรมชาติอย่างถ่านจากไม้ รวมถึงการสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยการช่วยรับซื้อวัตถุดิบเหลือทิ้ง
ถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง มีคุณสมบัติพิเศษดีกว่าถ่านไม้มากมาย อาทิ ไร้ควัน ไร้กลิ่น ไฟแรงให้ความร้อนสูงสม่ำเสมอ ใช้งานได้นานถึง 3.40 ชม.ต่อก้อน จึงไม่ต้องเสียเวลาคอยเติมถ่านบ่อย ๆ ทั้งไฟยังไม่แตกปะทุมีขี้เถ้าน้อย ใช้ไม่หมดยังสามารถจุ่มน้ำเพื่อใช้ซ้ำได้ และที่สำคัญคือมีราคาขายใกล้เคียงกับถ่านไม้ทั่วไป จึงทำให้คนตัดสินใจซื้อได้ง่าย
นอกจากการรับซื้อกะลามะพร้าวจากคนในชุมชนแล้ว ทางโรงงานยังได้จ้างงานพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน ตำบลชัยเกษม อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งสิ้น 20 คน แบ่งเป็นฝ่ายผลิต อบแห้ง บรรจุ ฝ่ายขาย และบัญชี ซึ่งเน้นการทำธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่การรับซื้อวัตถุดิบ อย่างกะลามะพร้าว และไม้เบญจพรรณ ไปจนถึงการแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีผลิตจากอดีตที่จะทำงานโดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก เช่น การนำผงถ่านมาบดแล้วนำมาผสมกับตัวประสาน อย่างแป้งมันสำปะหลัง แล้วค่อย ๆ อัดเป็นก้อน แล้วนำมาตากแห้ง ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรอัดแท่ง และพัฒนาเตาเผารูปแบบใหม่ เข้ามาช่วยลดมลภาวะทางอากาศ และทำให้เกิดการทำงานที่รวดเร็วขึ้น ทำให้เติบโตจากที่คุณพ่อทำไว้มากกว่า 100% สามารถผลิตได้สูงถึง 15 ตันต่อวัน และตอบสนองยอดสั่งซื้อในปัจจุบันเดือนละ 200 ตันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนราคาขายปลีกจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-14 บาท ตามเกรดของถ่านกะลามะพร้าวอัดแท่ง โดยลูกค้าประจำจะเป็นร้านค้าปลีกค้าส่งถ่าน รวมถึงร้านอาหาร โรงแรม ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาจึงได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่หลังจากปรับเปลี่ยนมาขายผ่านออนไลน์และขายปลีกมากขึ้น ก็ทำให้สามารถชดเชยรายได้ที่เสียไปได้ แต่ด้วยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตถ่านอันดับ 1 ของโลก ทางโรงงานก็ได้ส่งออกไปยังต่างประเทศมากมาย เช่น ตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ พร้อมการออกใบรับรองเรื่องค่าความร้อน ค่าขี้เถ้า ค่าสารระเหย และค่าคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า
ด้วยกะลามะพร้าวมีคุณสมบัติพิเศษมากมาย นอกจากจะนำมาทำถ่านอัดแท่งแล้ว ก็ยังต่อยอดเป็นสินค้าอื่นได้ เช่น ตัวกรองน้ำ กรองอากาศ ในอนาคตจึงต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ ในขณะเดียวกัน นอกจากการใช้กะลามะพร้าวมาทำถ่านอัดแท่งแล้ว ทางโรงงานก็ยังมองถึงขยะทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อนำมาใช้ทดแทนกันได้ เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่กะลามะพร้าวมีไม่เพียงพอ ธุรกิจก็จะยังคงไปต่อได้ ผ่านการนำเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ให้ลูกค้า และเกิดเป็นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
‘ผมมองว่าการเริ่มต้นธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทำไม่ยากมาก แต่เราต้องมีองค์ความรู้ และมีความเข้าใจในธุรกิจนั้น ซึ่งถ่านเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น และยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน เราจึงมองเห็นโอกาส และพยายามมองหาวัตถุดิบอื่น ๆ มาใช้เป็นพลังงานทดแทน และผมก็มองเห็นอนาคตของธุรกิจนี้มากพอสมควร’ สุทธิเกียรติ สุขบุญรักษา
www.facebook.com/bangsaphan.charcoals