ใกล้โบกมือลาเต็มที สำหรับ Family Mart หรือ “แฟมิลี่ มาร์ท” ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นเคย โดยเปิดให้บริการในเมืองไทยมากว่า 30 ปี เหตุเพราะต้นสังกัดไม่ต่อสัญญา ทำให้เราคนไทยทุกคน จะยังเห็นและยังเข้าไปอุดหนุน ซื้อสินค้าใน แฟมิลี่ มาร์ท ได้จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2566 นี้ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วย ร้านสะดวกซื้ออีกแบรนด์
เมื่อเกริ่นถึงธุรกิจร้านสะดวกซื้อทันสมัย ขึ้นมาเช่นนี้ แอดฯ เชื่อเหลือเกินว่า หลายคนต้องเคยสงสัยว่า ทำไมร้านสะดวกซื้อ ถึงเปิดกันแบบถี่ยิบ ๆ บางสถานที่เปิดกันแบบดักหัวซอย กลางซอย ท้ายซอย เปิดตรงข้ามถนน ทั้ง ๆ ที่เป็นแบรนด์เดียวกันด้วยนะ ซึ่งยังไม่นับรวมแบรนด์อื่น ๆ ที่พาเหรดเปิดกันชนิดที่เรียกว่า มีพื้นที่ว่างตรงไหน ก่อสร้างร้านสะดวกซื้อใหม่ขึ้นมาทันที !
อันที่จริง เป็นเรื่องที่ดี สำหรับผู้บริโภคกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน หรือที่เป็นกลุ่มสายกิน สายนอนดึก สามารถเดินมาจับจ่ายกันได้ตลอดทั้งคืน สมชื่อ “ร้านสะดวกซื้อ 24 ชม.” จริง ๆ แต่อีกมุมหนึ่งของผู้ประกอบการหรือนักลงทุน รู้เลยว่า บรรยากาศของการแข่งขันและฟาดฟันในเรื่อง Market Share จะต้องรุนแรงอย่างแน่นอน
ไอ้เราก็เป็นแค่ผู้บริโภคซะด้วยสิ ! จริง ๆ ก็เข้าไปอุดหนุนและใช้บริการร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ใกล้ที่พักทุก ๆ แบรนด์ที่มีนั่นล่ะ ตามแต่ฤกษ์สะดวกของตัวเอง โดยหากเพื่อน ๆ เคยสังเกตจะทราบว่า สินค้าแต่ละรายการบางประเภท บางยี่ห้อที่เราต้องการจะซื้อ บางตัวอาจมีที่ร้านสะดวกแห่งนี้เท่านั้น และการตั้งราคาก็แตกต่างกันด้วยนะ รวมถึงบริการที่เป็นจุดเด่น เป็น Signature ของแต่ละแบรนด์ ซึ่งก็แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน
วันนี้ Smart SME ถือโอกาสประมวลข้อมูลการเติบโตของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ 24 ชม. หรือร้านสะดวกซื้อทันสมัย ที่ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ และเปิดให้บริการทุก ๆ Location ทุกมุมเมือง ทุกตรอกซอกซอย ตลอดจน จุดเด่นจุดด้อยของแต่ละแบรนด์นั้นมีกลยุทธ์อะไรที่งัดออกมานำเสนอกลุ่มลูกค้ากันบ้าง
รวมถึงแนะนำจุดเด่นและบริการที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุน หรือผู้ที่สนใจที่อยากลงทุนเปิดร้านสะดวกซื้อในรูปแบบแฟรนไชส์ ควรเลือกลงทุนกับแบรนด์ไหนดี ที่ Service Mind บริการหลังการขายที่ดี มีระบบที่ได้มาตรฐาน ตอบโจทย์ความคุ้มค่าให้กับคุณ เพื่อให้สาขาที่คุณบริหารมียอดขายที่เติบโตขึ้นทุกปีไปพร้อม ๆ กับบริษัทแม่ที่คุณเลือกที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ด้วย
เซเว่นอีเลฟเว่น
บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
ระยะเวลาก่อตั้งและเปิดให้บริการ : 34 ปี (เปิดครั้งในไทย ปี พ.ศ.2532 หรือ ปี 1989)
จำนวนสาขา : 13,838 สาขาทั่วประเทศ (รวมทั้งของพาร์ทเนอร์และของบริษัทแม่)
สรุปรายได้ : ปี 2565 รายได้รวม 3.2 แสนล้านบาท
สรุปผลกำไร : ปี 2565 กำไรรวม 9 พันล้านบาท
จุดเด่น
- การบริหารของผู้นำและทีมงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- ใช้จุดแข็งขององค์กร โดยเน้นการให้บริการทุกระดับประทับใจ
- การคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ และถูกใจลูกค้าทุกกลุ่ม
- การมีสาขามากมายครอบคลุมทำเลทองทุกจุดและมีการขยายสาขาอย่างไม่หยุดยั้ง
- การลดต้นทุนและเพิ่มยอดจำหน่ายโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้ในองค์กร
จุดด้อย
- สินค้าบางรายการ มีราคาสูงกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับห้างฯ หรือโมเดิร์นเทรดทั่วไป
- ช่วงเวลาเร่งด่วน ลูกค้าต่อคิวยาว เนื่องจากได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มผู้บริโภคเลือกเข้าใช้บริการ
รูปแบบแฟรนไชส์: Store Business Partner มีรูป TYPE การลงทุน ได้แก่
TYPE 1 ค่าใช้จ่ายเปิดร้าน 480,000 บาท เงินประกันความเสียหาย 1,000,000 บาท รวม 1,480,000 ล้านบาท ระยะเวลาทำสัญญา 6 ปี
TYPE 2 ค่าใช้จ่ายเปิดร้าน 1,730,000 บาท เงินประกันความเสียหาย 900,000 บาท รวม 2,630,000 ล้านบาท ระยะเวลาทำสัญญา 10 ปี
กลยุทธ์ขยายธุรกิจ
- เน้นสร้างสาขาใหม่ที่มีพื้นที่จอดรถกว้างขึ้น สะดวกขึ้น
- เน้นขายสินค้าส่งต่อผู้บริโภค (Consumer Product) ผ่านช่องทาง 7Delivery (Apps เซเว่น) ทำให้มียอดขายสัดส่วนโตเพิ่มขึ้นอีก 10% จากการขายหน้าร้านแบบปกติ
Tops daily (ท็อปส์ เดลี่)
บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด
ระยะเวลาก่อตั้งและเปิดให้บริการ : 27 ปี (เริ่มเปิดบริการครั้งแรก ปี พ.ศ.2539)
จำนวนสาขา : 466 สาขาทั่วประเทศ
สรุปรายได้ : ปี 2565 รายได้รวม 3.9 หมื่นล้านบาท
สรุปผลกำไร : ปี 2565 กำไรรวม 4.6 ร้อยล้านบาท
จุดเด่น
- รวบรวมสินค้านำเข้า และคัดเกรดพรีเมียม เป็นสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ แบรนด์ดังจากทั่วโลก
จุดด้อย
- สาขาเปิดให้บริการยังมีจำนวนไม่มาก โดยเปิดเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่างจังหวัดในหัวเมืองใหญ่ ๆ และขึ้นห้างฯ เท่านั้น
- สินค้าราคาสูงกว่าคู่แข่งโดยทั่วไป เนื่องจากคัดสรรแบรนด์และคุณภาพของสินค้าโดยเฉพาะ
รูปแบบแฟรนไชส์ : ยังไม่มีแฟรนไชส์ในปัจจุบัน เนื่องจากบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด แต่อนาคตมีลุ้น หลังจากบริษัทฯ ถือครองแฟมิลี่มาร์ทในไทย 100% อาจมีการปรับโฉมใหม่ (ต้องรอติดตาม)
กลยุทธ์ขยายธุรกิจ : รีแบรนด์ พร้อมยกระดับความเป็นฟูดสโตร์ไปอีกขั้น ที่มีความครบครันของสินค้าจากแหล่งผลิตที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมมอบประสบการณ์ให้แก่ลูกค้าทุกคนให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม
CJ Express (ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต)
บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด
ระยะเวลาก่อตั้งและเปิดให้บริการ : 18 ปี (เริ่มเปิดบริการครั้งแรก ปี พ.ศ.2548)
จำนวนสาขา : 825 สาขาทั่วประเทศ
สรุปรายได้ : ปี 2565 รายได้รวม 2.9 หมื่นล้านบาท
สรุปผลกำไร : ปี 2565 กำไรรวม 1.3 พันล้านบาท
จุดเด่น
- เน้นสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัด (ให้ความรู้สึกเหมือนร้านโชห่วยติดแอร์ ที่ดูดีมากขึ้น)
- มีเชลฟ์นายน์ บิวตี้ (Nine Beauty) โซนเครื่องสำอาง และความงาม จำหน่ายด้วย
- บาว คาเฟ่ (Bao Café) มีแบรนด์กาแฟในซูเปอร์ฯ เป็นของตัวเอง คงคอนเซ็ปต์ร้านกาแฟสดใกล้บ้าน ภายใต้แนวคิด “รสชาติถูกปาก ราคาถูกใจ” แฝงกลิ่นอายความเป็นกาแฟของคนไทย ในราคาที่เป็นมิตรกับลูกค้าทุกเพศทุกวัย และยังมีเมนูเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่หลากหลายในรสชาติสุดเข้มข้น เสิร์ฟพร้อมเมนูขนมปังปิ้งที่เน้นคุณภาพและบริการสุดประทับใจฃ
จุดด้อย :
- สินค้าบางรายการยังไม่มีจำหน่าย เมื่อเทียบกับแบรนด์ผู้นำ
- ต้องให้เวลาในการขยายแบรนด์ โดยเริ่มแรกมุ่งเน้นขยายตลาดตามต่างจังหวัดก่อน แล้วค่อย ๆ ตีป่าล้อมเมือง เข้ามารอบ ๆ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และโซนภาคกลาง เนื่องจากคู่แข่งรายใหญ่มีจำนวนเยอะ
รูปแบบแฟรนไชส์: อยู่ในช่วง R&D วางแผนขยายธุรกิจ ซึ่งอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็น CJ Express ในรูปแบบการเปิดโอกาสและมองหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมลงทุน
กลยุทธ์ขยายธุรกิจ
- เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้น้อย เข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้ในราคาประหยัด
- จัดโปรโมชั่นบ่อย ๆ หมุนเวียนสินค้าลดราคาอย่างต่อเนื่อง
- ให้กลิ่นอาย ร้านมินิมาร์ทที่อยู่กลมกลืนและเคียงข้างทุกชุมชน
Lawson108 (ลอว์สัน108)
บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด
ระยะเวลาก่อตั้งและเปิดให้บริการ : 10 ปี (เริ่มเปิดบริการครั้งแรก ปี พ.ศ.2556)
จำนวนสาขา : 259 สาขาทั่วประเทศ
สรุปรายได้ : ปี 2565 รายได้รวม 2.2 พันล้านบาท
สรุปผลกำไร : ปี 2565 รายได้รวม (ติดลบ) -68 ล้านบาท
จุดเด่น
- การนำเสนอสินค้าคุณภาพอันหลากหลาย มีทั้งเมนูอาหารพร้อมทาน และเบเกอรีสูตรเฉพาะ ที่วางขายที่ Lawson 108 เท่านั้น เช่น โอเด้งร้อน ๆ พร้อมทาน (ถูกใจแอดฯ มาก)
- วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ร้านยังได้รับ Know-How และระบบหลังบ้านต่าง ๆ จาก Lawson ประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารร้านค้าและบริการลูกค้า
จุดด้อย
- สาขายังมีจำนวนน้อย
- อาหารพร้อมทาน และสินค้าในร้านตัวเลือกยังน้อย
- การให้บริการของพนักงานแต่ละสาขายังไม่ค่อยมีระบบและมาตรฐานสักเท่าไหร่
รูปแบบแฟรนไชส์ : ยังไม่มีนโยบายขายแฟรนไชส์ในปัจจุบัน
กลยุทธ์ขยายธุรกิจ
- มุ่งเน้นสร้างความแตกต่างด้านวิธีการนำของสินค้าในร้านให้หลากหลาย แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ และให้ตรงกลุ่มเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงานที่อยู่ในเมืองหลวง อายุราว 20 ต้น – 40 กว่าปี
- ขยายสาขาโดย Location ตามคอนโดฯ สถานีรถไฟฟ้า จุดต่อรถสาธารณะ กล่าวคือ เน้นเจาะกลุ่มสังคมออฟฟิศ เป็นต้น
จริง ๆ แล้ว ยังมีร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าปลีกลักษณะที่เป็น MINI MART รูปแบบ Stand Alone อีกหลายแบรนด์ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อย่างไรก็ดี ที่ยกตัวอย่าง 4 แบรนด์นี้ ด้วยความที่สเกลร้าน และรูปแบบการบริหารจัดการมีความใกล้เคียง นำมาเทียบเคียงอ้างอิงกันได้ดีที่สุด
โดยในมุมของพวกเราที่เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเข้าไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อของแบรนด์ใด ก็ให้ความรู้สึกประทับใจ ตอบโจทย์การเลือกซื้อสินค้าทุกครั้งไม่มากก็น้อย (อย่างน้อย ๆ ต้องมีอะไรติดไม้ติดมือออกมาบ้างแหละ) แต่สำหรับนักลงทุน หรือที่สนใจอยากลงทุนแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ กับบางแบรนด์คงต้องอดใจรอและติดตามความเคลื่อนไหวอีกสักหน่อย
หรือ.. หากใครที่อดใจไม่ไหว ตอนนี้พร้อมมาก ! ทั้งเงินลงทุน พร้อมทั้ง Location ที่เตรียมก่อสร้างและจะเปิดร้าน ลองศึกษา และถอดโมเดลธุรกิจของร้านสะดวกซื้อแต่ละแบรนด์ ทั้งเรื่องของการบริหารร้าน การให้บริการ ระบบการชำระเงิน หรือระบบต่าง ๆ นำมาต่อยอดและเนรมิตเป็นแบรนด์ของคุณเองก็ได้นะ กับเช็คลิสต์นี้ ! เปิดร้านสะดวกซื้อทันสมัย เริ่มต้นอย่างไรบ้าง ?
เปิดร้านสะดวกซื้อทันสมัย เริ่มต้นอย่างไร ?
- สำรวจคู่แข่ง: แน่นอนว่า สมัยนี้ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหน จะต้องมีร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง ๆ เปิดให้บริการก่อนหน้าอยู่แล้ว แต่หากเป็นความต้องการของคุณที่จะทำแบรนด์เอง ก็ต้องลองประเมินดูว่า ร้านของคุณสามารถแย่งชิงหรือแชร์ลูกค้ามาได้มากน้อยเพียงใด
- สำรวจกำลังซื้อ และ traffic ของคนในชุมชน: คุณอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ ย่อมต้องรู้ว่า คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่หรือเป็นประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ทำงานอะไร มีรายได้ประมาณเท่าไหร่ พฤติกรรมแวะซื้อของก่อนเข้าบ้าน หรือออกไปทำงานบ่อยไหม เพื่อประเมินว่า หากเปิดร้าน จะสามารถดึงดูดผู้คนเหล่านี้มาเป็นลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน
- เตรียมเงินทุนให้เหมาะกับขนาดสร้างร้าน: ไม่ต่ำกว่า 50,000-100,000 บาทแน่นอน ในการออกแบบสร้างร้าน โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้สอยด้วยว่า คุณต้องการทำร้านขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ โดยเงินลงทุนนี้ รวมไปถึง การซื้ออุปกรณ์และสินค้าเข้ามาขาย ได้แก่ ชั้นวางของ , สินค้าอุปโภคบริโภค แต่หากคุณต้องการลงตู้แช่เย็น หรือติดแอร์เพิ่ม งบลงทุนก็ต้องเพิ่มขึ้นตามอุปกรณ์ (Equipment)
ศึกษาและเตรียมขอเอกสารอนุญาตและจดทะเบียนร้าน
• การขออนุญาต จาก “กรมสรรพสามิต” : เพราะเหล้า เบียร์ บุหรี่ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อยู่แล้ว และแทบจะเป็นรายได้หลักในการทำร้านสะดวกซื้อ เพราะฉะนั้น คุณต้องศึกษาและดำเนินการขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตด้วย
• การจดทะเบียนพาณิชย์และการเสียภาษี : โดยคุณต้องศึกษาด้วยเช่นกัน โดยสามารถศึกษาได้ตามอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการจดทะเบียรพาณิชย์ (ร้านค้า/บุคคลธรรมดา) ตลอดจน เรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดิน , ภาษีป้าย , ภาษีบำรุงท้องที่ เป็นต้น
การเริ่มต้นในครั้งแรก แน่นอนว่า เรื่องถอนทุนคืน เลิกคิดไปก่อนได้เลย ในระยะยาว 6 เดือน ถึง 1 ปื ค่อยมาดูกันอีกที โดยคุณอาจจะมีความกังวลในหลาย ๆ เรื่อง เช่น รายจ่ายของร้านในแต่ละวัน , ยอดขายไม่เข้าเป้า, การบริหารจัดการสินค้าที่มีอายุสั้น ฯลฯ
ทั้งนี้ ขอให้คุณเดินตามแผนที่วางเอาไว้ ค่อย ๆ ประคับประคอง บริหารร้านของคุณต่อไปด้วยบริการที่ดี สม่ำเสมอกับลูกค้า หมั่นสอบถามพูดคุยกับลูกค้าถึงความต้องการอะไรภายในร้านของคุณ แล้วนำมาวางขายหรือเป็นบริการเสริมอย่างต่อเนื่อง
ขอให้อดทน อย่าเพิ่งท้อง่าย ๆ ซึ่งหากผ่านพ้นช่วงไตรมาสแรกของการเปิดร้านไปได้ คุณจะมองหาจุดอ่อนได้ชัดเจนขึ้น และหาวิธีการหรือแนวทางแก้ไขได้ และเมื่อผ่านช่วงเวลาวัดใจนี้ไปได้แล้ว ส่วนใหญ่แล้วระบบทุกอย่างรวมทั้งผลประกอบการจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง จะเริ่มหมุนเวียนไปได้ และค่อย ๆ ราบรื่นขึ้นตามลำดับ
แอดมิน ขอเอาใจช่วย.. โดยการสร้างธุรกิจเริ่มต้นจากความอดทน รู้จักใช้คน ทำในสิ่งที่ตนถนัดก่อน วางแผนกระชับรวดเร็ว และลงมือทำทันที ที่สำคัญ คือ ความพยายามที่ยิ่งใหญ่ จะพาให้คุณก้าวไปพบความฝันที่ฝันไว้และเป็นจริงได้ ก็ด้วย.. จากการลงมือทำเท่านั้น !