ธุรกิจพิซซ่า ปี2566 กำไรยังหนานุ่ม หรือช่วงนี้บางกรอบ !?


ถ้าไม่ใช่.. “พิซซ่า” ก็ไม่สนลูกใคร ไม่ว่าหน้าไหน ๆ ทั้งนั้น ! ใจเย็นก่อน.. แอดมินแค่หัวร้อน เพราะกำลังโมโหหิว อยากกินอะไรที่สั่งด่วน ได้เร็ว กินอิ่มอร่อย ไม่ยุ่งยาก คิดไปคิดมา ก็มีอยู่เมนูเดียวเท่านั้น “พิซซ่า” ไงจ๊ะ

 

ไหน ๆ ก็จะสั่งพิซซ่ากิน ก็เลยขอแวะมาชวนเพื่อน ๆ นึกย้อนตามกันสักหน่อย ถึงกระแส “คนบริโภคพิซซ่า” ในสายตาเพื่อน ๆ บางคน ที่อาจมองว่า ช่วงนี้ดูแผ่ว ๆ รึเปล่า ?

เพราะปัจจุบันมี ธุรกิจร้านอาหาร เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารประเภทชาบู สุกี้ ที่เข้ามาตอบโจทย์คนกินได้ดีกว่า อิ่มกว่า คุ้มกว่า เมนูในร้านหลากหลายกว่า ฯลฯ อีกทั้ง พฤติกรรมคนกินยุคนี้ก็มักจะชื่นชอบทดลองร้านอาหารใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ

แต่จุดแข็งของร้านพิซซ่า เขาก็มีของดีอยู่เยอะ ! ถ้าไม่เจ๋งจริง คงไม่อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ และสุดท้าย หากจะบอกว่า เมนูใดที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภควัยเรียน วัยทำงานได้ทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะช่วงเวลา Break-Time หรือ Meeting Time เชื่อว่าจะต้องมีเมนู “พิซซ่า” ติดโผเป็นอันดับต้น ๆ อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

 

อย่างที่บอกไปว่า “พิซซ่า” เป็นอาหารที่เน้นความอิ่มสะดวก ทานง่าย จบได้ทุกมื้อ เข้ากันดีกับคนไทยที่ชื่นชอบงานเลี้ยง สังสรรค์รื่นเริง โดยเฉพาะวัยเรียน วัยทำงานที่สามารถ Meeting ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งวัฒนธรรมออฟฟิศแต่ละองค์กรก็มักจะมีการจัดเลี้ยง Meeting เลี้ยงวันเกิด เลี้ยงส่ง เลี้ยงถูกลอตเตอรี่ หัวหน้าเลี้ยงลูกน้อง สรวงเสเฮฮา กันอยู่บ่อย ๆ โดยเมนูอาหารแบบที่พร้อมทาน กินง่าย อร่อย หน้าไม่งอ..รอไม่นาน ไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก นั่นก็คือ “พิซซ่า”

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ช่วงนี้เป็นช่วงปลายปี เข้าสู่ไตรมาสสุดท้าย หลาย ๆ องค์กร ปิดงบ ทำยอดขายบริษัทได้ถึงเป้า ก็จะหาเรื่องเลี้ยงฉลองกัน Smart SME ก็เลยขอถือโอกาสพาเพื่อน ๆ ไปอัปเดตธุรกิจร้านพิซซ่า ในเมืองไทยตอนนี้ ว่า แต่ละแบรนด์มียอดขายและกลยุทธ์การทำตลาด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในประเทศเป็นอย่างไรกันบ้าง อ่านจบ เที่ยงนี้ยกหูสั่งเลย !

จากข้อมูลธุรกิจ ของตลาดพิซซ่าในประเทศไทย ช่วงปี พ.ศ.2563-2564 ต้องบอกว่า เติบโต แต่ไม่เยอะ เหตุผลเพราะ เป็นช่วงที่ทั่วโลกรวมทั้งไทยเราด้วยที่กำลังพลิกฟื้นกลับสู่สภาวะปกติ หลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 โดยสรุปตัวเลขตลาดพิซซ่า ได้ดังนี้

• มูลค่าตลาดพิซซ่าในประเทศไทย เฉลี่ย 13,000 – 15,000 ล้านบาท

• ปลายปี พ.ศ.2564 ไปจนถึงต้นปี พ.ศ.2565 เติบโตเฉลี่ย 7-8 %
• โดยช่วงพีค หรือ High-Season คือ ช่วงไตรมาส 4 หรือ 3 เดือนสุดท้ายของปี ยอดขายพิซซ่าแต่ละแบรนด์จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ผู้คนกล้าออกไปกินอาหารนอกบ้านมากขึ้น , มีการจัดเลี้ยงสังสรรค์บ่อยขึ้น, การกระตุ้นจัดทำโปรฯ เช่น ซื้อ 1 แถม 1 ถาด ของแต่ละแบรนด์ เป็นต้น
• จากสถิติที่มีข้อมูลสำรวจเคยระบุว่า คนไทยกินพิซซ่า เฉลี่ย 2 ครั้ง/ปี (ข้อมูลไม่ได้ระบุช่วงอายุ)
• คนไทยใช้จ่ายต่อบิลในการซื้อพิซซ่า เฉลี่ย 500 บาทขึ้นไป/ออร์เดอร์การสั่งซื้อ

ทีนี้ จะพาเพื่อน ๆ มาลองดูว่า ตลาดพิซซ่า ในบ้านเราขณะนี้ มีของแบรนด์อะไรบ้าง ที่ยังคงเป็นผู้นำในเรื่องยอดขายและได้รับความนิยมสำหรับผู้บริโภคคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง จะมีแบรนด์ไหนที่เพื่อน ๆ สั่งกินเป็นประจำกันบ้างนะ ไปดูกันเลย !

 

 

The Pizza Company

ยังคงรั้งอยู่อันดับแรก ของยอดขายและได้รับความนิยมมากที่สุด ภายใต้การบริหารโดย เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป, ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

• เปิดบริการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2544
• สาขาปัจจุบันในประเทศไทย กว่า 400 สาขา
• ยอดขายในประเทศไทย ราว ๆ 8,000 ล้านบาท (ข้อมูลปี พ.ศ.2564)
• กลยุทธ์การทำตลาด
– เน้นบริการเดลิเวอรี่ โดยยอดขายเดลิเวอรีเติบโต 20-25% (ข้อมูลปี 2564)
– Renovate ปรับหน้าร้านใหม่ รองรับลูกค้าทานที่ร้านมากขึ้น ดันยอดขายให้เติบโต
– R&D เมนูเพิ่ม เช่น บุกตลาดไก่ทอด 40,000 ล้านบาท ด้วยแบรนด์ Chick-A-Boom เมนูปีกไก่ทอดเคลือบซอสสูตรเฉพาะของทางร้าน ในราคาไม่แพง

 

 

 

Pizza Hut

ได้รับความนิยมชนิดที่เรียกว่า เบียดทุกโค้ง ตามมาติด ๆ ในทุก ๆ ยุคสมัย บริหารโดย บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด ภายใต้แบรนด์ Pizza Hut (พิซซ่า ฮัท) ในประเทศไทย

• เปิดบริการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2523
• สาขาปัจจุบันในประเทศไทย กว่า 200 สาขา
• ยอดขายในประเทศไทย โดยระบุเป็น ผลประกอบการของ บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด
– ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 1,719 ล้านบาท , ขาดทุน 29 ล้านบาท
– ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 1,903 ล้านบาท , กำไร 13 ล้านบาท
• กลยุทธ์การทำตลาด
– ปรับโมเดลร้านพิซซ่า ฮัท สาขาเปิดใหม่ เน้นบริการเดลิเวอรี่มากกว่า Dine-in ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว
– มุ่งเน้น “การสร้างปรากฏการณ์ New Experience ให้ลูกค้า ได้ Wow! Surprise! ทุกครั้ง” เช่น การทำตลาดแบบ “Trend Marketing” จับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของพิซซ่า ฮัท โดย ออกเมนูใหม่ ๆ ที่เน้นชีสเป็นหลัก ซึ่งลูกค้าชื่นชอบ
– หรือร่วมกับเชฟ ที่มีชื่อเสียง คิดค้นเมนูสูตรพรีเมียม หรือทำ “Brand Collaboration” กับสินค้าแบรนด์อื่น ๆ เพื่อกระตุ้นการซื้อและเสริมยอดขาย ตลอดจนเข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

 

 

 

Domino’s Pizza

เป็นแบรนด์พิซซ่าที่คนไทยชื่นชอบไม่แพ้แบรนด์ดัง ๆ และรสชาติพิซซ่า บรรยากาศร้านค่อนข้าง Unique มีเอกลักษณ์ บริหารอยู่ภายใต้ บริษัท โดมิโน่ เอเซีย แปซิฟิค จํากัด

• เปิดบริการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2563
• สาขาปัจจุบันในประเทศไทย กว่า 40 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ
• ยอดขายในประเทศไทย
– ปี 2020 รายได้ 25 ล้านบาท , ขาดทุน 45 ล้านบาท
– ปี 2021 รายได้ 162 ล้านบาท , ขาดทุน 191 ล้านบาท
• กลยุทธ์การทำตลาด
– สู้ด้วยราคาที่ไม่แพง เช่น ขายถาดใหญ่ ราคาเริ่มต้น 199 บาท เพื่อแย่งตลาดเจ้าอื่น ๆ
– โฆษณา และทำโปรโมชันผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงและมี Engagement ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการออกโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1, แจกคูปอง, โฆษณาผ่านทางช่องทางต่าง ๆ หรือแม้แต่ไปออกบูทตามตลาดนัด
– ไม่เน้นตั้งสาขาใหญ่ แต่เน้นใกล้กับลูกค้ามากที่สุด

 

 

 

NARAI PIZZERIA

อีกหนึ่งแบรนด์พิซซ่า ที่มีกลุ่มลูกค้าอย่างเหนียวแน่น มาพร้อมสโลแกนคูล ๆ “ความสุขยืดได้ นารายพิซเซอร์เรีย” ภายใต้การบริหารโดย บริษัท นารายณ์ พิซเซอเรีย จำกัด

• เปิดบริการในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2511 ถือเป็นร้านอาหารสไตล์อิตาเลี่ยนยุคแรก ๆ ที่เปิดในเมืองไทย
• เป็นแบรนด์พิซซ่าสัญชาติไทยแท้
• สาขาปัจจุบันในประเทศไทย กว่า 30 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ
• ยอดขายในประเทศไทย
– ปี พ.ศ.2564 รายได้รวม 225.8 ล้านบาท , ขาดทุน 24 ล้านบาท
– ปี พ.ศ.2565 รายได้รวม 338.8 ล้านบาท , กำไร 6.9 ล้านบาท
• กลยุทธ์การทำตลาด
– สร้างแบรนด์ใหม่ “ข้าน้อยขอชาบู” และเสริมเมนูพิซซ่าแบรนด์ NARAI PIZZERIA เข้าไปในร้านแบบ 2 IN 1
– เน้นเปิดในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น และมุ่งจับตลาดแมส คือ อิ่มอร่อยในราคาเข้าถึงเริ่มต้น 199 บาท
– เน้นทำตลาด Delivery อีกกว่า 40%

 

สำหรับตลาดพิซซ่า ในเมืองไทยปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่ 4 แบรนด์พิซซ่าที่เราได้กล่าวไปเพียงเท่านี้ โดยยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ อีกหลายราย ตั้งแต่รายใหญ่ ไล่เรียงลงไปจนถึงแบรนด์พิซซ่าระดับ SME ระดับ Micro และรถเข็นแฟรนไชส์สตรีทฟู้ด ซึ่งยังมีเกิดขึ้นและพร้อมที่จะแข่งขัน เข้ามาแบ่งชิ้นคำโตในธุรกิจนี้

โดยตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจพิซซ่า สำหรับรายใหม่หรือรายเล็ก สามารถเฉิดฉายและอยู่รอดได้ในระยะยาว คือ

1.) การนำเสนอทั้งเรื่องแบรนด์ เมนูในร้าน การให้บริการที่แปลกใหม่และแตกต่างจากคู่แข่งตลอดเวลา
2.) ราคาขายที่ต้อง Mass Market เพราะหากคุณขายแพงก่อน โดยที่แบรนด์ยังไม่ได้เป็นที่รู้จัก ย่อมเป็นการยากที่ที่คนจะเข้าถึงแบรนด์ของคุณ ซึ่งผู้บริโภคเลือกแบรนด์พิซซ่ารายใหญ่เพื่อความมั่นใจในเรื่องรสชาติที่ชัวร์กว่า
3.) การตลาด Delivery ต้องให้เข้าถึง รวดเร็ว ไม่แพ้กับแบรนด์ใหญ่ ๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ให้ได้