เจาะตลาด “ร้านตัดผม” ซาลอน-บาร์เบอร์ กับกลยุทธ์เปิดร้านให้มีกำไร


หนึ่งในการเรียนวิชาชีพติดตัว ออกไปเป็นเจ้าของกิจการ อันดับต้น ๆ ต้องมีอาชีพหรือธุรกิจ “เปิดร้านตัดผม” อยู่ด้วยแน่นอน เพราะเป็นอีกหนึ่งอาชีพบริการยอดนิยม ที่ถ้าหากไม่นับร้านอาหาร/เครื่องดื่ม จะเป็นอาชีพที่มีหลาย ๆ คนอยากทำ อยากจะเปิดกิจการ อยากมีหน้าร้านของตัวเองอยู่จำนวนไม่น้อย เพราะข้อดีของธุรกิจนี้ สามารถตอบแบบไม่ต้องวิเคราะห์หรือคิดอะไรให้มาก คือ

1. มีลูกค้าเข้าร้านทุกวัน เพราะธรรมชาติ เส้นผมคนเรายาวขึ้นทุกวัน จะยาวช้ายาวเร็วนั้นก็อีกเรื่อง

2. เปิดที่ไหนก็มีลูกค้า เพราะเป็นพื้นฐานอาชีพเสริมสร้างบุคลิกภาพ เสริมหล่อเสริมสวย มนุษย์ทุกคนต้องเข้าใช้บริการ

3. สินค้าไม่มีเน่าเสีย แค่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ดูแลความสะอาดอุปกรณ์ พร้อมให้บริการตลอด

4. ราคาให้บริการเป็นเรทมาตรฐาน เช่น ตัดผม ซอยผม ทำสีผม สระผม ฯลฯ เป็นราคาที่ลูกค้าพร้อมจ่าย ไม่ต่อรองอยู่แล้ว

5. เป็นอาชีพที่อาศัยความสามารถส่วนบุคคล คือ ช่างตัด ถ้ามีฝีมือ บริการดี คุยถูกคอ ยังไงก็มีฐานลูกค้าเข้าร้านตลอดแน่นอน

จึงไม่แปลกใจที่ ธุรกิจร้านตัดแต่งทรงผม ยังดำเนินกิจการอยู่ได้ ไม่กระทบต่อปัจจัยต่าง ๆ มากนัก โดยในที่นี้ จะขอกล่าวรวมทั้งหมด ทั้งร้านตัดแต่งทรงผม(Barber) และร้านเสริมสวย(Salon) ที่ให้บริการทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

ซึ่งปัจจุบัน มีเปิดให้บริการจำนวนมากอยู่ทุกชุมชน ทุกตรอกซอกซอย นอกห้างฯ ในห้างฯ ในปั๊มน้ำมัน หรือแม้แต่ ตลาดนัดที่ให้บริการตัดผมก็มี เรียกว่า ไม่แตกต่างจากร้านสะดวกซื้อติดแอร์ เลยก็ว่าได้

 

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีร้านเสริมสวย หรือร้านทำผม โดยรวมทั้งสิ้นทั่วประเทศกว่า 120,000 ร้าน คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 60,000 ล้านบาท โดยแม้ว่า ปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปจะสามารถเลือกซื้ออุปกรณ์ตัดผม ตามช่องทางซื้อขายสินค้าออนไลน์ มาใช้ได้เองที่บ้าน แต่การ walk in ไปตัดผมที่ร้านก็ยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย

 

เปิดธุรกิจร้านตัดผมดียังไง ?

1. ลงทุนใหญ่แค่ครั้งเดียว สำหรับเงินลงทุนร้านทำผมเริ่มต้น 30,000 – 1,000,000 บาท หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสเกลร้านและทำเลที่ตั้ง รวมไปถึงสไตล์ร้านที่เราต้องการ

2. เงินลงทุนหลัก ๆ จะไปอยู่ที่ค่าออกแบบและตกแต่งร้าน รวมถึงค่าอุปกรณ์ และเครื่องมือในการทำผม อาทิ เก้าอี้นอนสำหรับสระผม , เก้าอี้เสริมสวย, เครื่องอบผม , ไดร์เป่าผม , ตู้กระจกเสริมสวย , กรรไกรตัด-ซอยผม ฯลฯ

ส่วนเงินอื่น ๆ ที่จะต้องใช้หลังจากนั้น จะเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในแต่ละเดือนในการซื้อสินค้าใช้ภายในร้าน เช่น ครีมนวด , แชมพู , น้ำยาดัดผม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีค่าเช่าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ และอื่น ๆ

3. ต่อยอดธุรกิจได้เรื่อย ๆ เช่น นอกจากทำผมแล้ว ยังสามารถต่อยอดขายสินค้าภายในร้านที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเส้นผมและหนังศรีษะได้อีก เช่น แชมพู, ครีมนวด, มาส์กผม/ทรีทเมนต์, น้ำมันใส่ผม, เซรัมบำรุงผม, น้ำยาทาเล็บ, น้ำยาล้างเล็บ ฯลฯ

4. เป็นธุรกิจที่ไม่เคยตกยุค เพราะใคร ๆ ก็อยากรวย สวย หล่อ บวกกับแฟชันของผมนั้นก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพียงแค่ต้องอัปเดตความชอบและไลฟ์สไตล์ให้ทัน และถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ธุรกิจร้านเสริมสวยก็ยังเป็นธุรกิจที่กระทบน้อยมาก ๆ

5. เป็นธุรกิจที่มีความอิสระสูง โดยเฉพาะหากคุณเป็นเจ้าของร้านเอง เพียงแค่ลงทุนกับช่างตัดผมที่มีฝีมือ และประณีต ออกแบบทรงผมและบริการได้ถูกใจลูกค้าก็จะค่อย ๆ บอกต่อกันไปเอง โดยที่เราแทบจะไม่ต้องโปรโมทอะไรเลย

 

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจทุกอย่างย่อมมีทั้งข้อดี และ ข้อเสีย โดยข้อเสียของการเปิดร้านตัดผม หรือทำร้านเสริมสวย ที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านมักเจอคล้าย ๆ กัน ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ เกิดจากปัจจัยตัวอย่างเช่น

• ทำเลที่ตั้ง มีอัตราค่าเช่าสูง ในระยะยาว ทำให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ

• คู่แข่งที่เปิดร้านใหม่ ๆ ในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าได้ทดลอง หรือมีทางเลือก (เป็นทุกประเภทธุรกิจต้องเจอ)

 

แต่สำหรับท่านใดที่แน่วแน่ มีความพร้อม ไปเรียนฝึกฝนตัดผมจยเกิดความมั่นใจ และตั้งใจจะเปิดร้านตัดผม-ร้านเสริมสวย 100% แต่ยังไม่แม่นในเรื่องการจดแจ้งใบประกอบกิจการ ว่าต้องทำอย่างไร ยื่นที่ไหน เตรียมอะไรบ้าง เราสรุปมาให้ทำตามขั้นตอนนี้ได้เลย

 

1. ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ แจ้งขอเปิดกิจการร้านตัดผมได้ที่เขตของคุณ หรือเทศบาล หรือกองงานสาธารณสุข เพื่อยื่นขอจดทะเบียนประกอบการ

2. เตรียมบัตรประชาชน , สัญญาเช่าร้านที่ประกอบกิจการไปยื่นจด

3. กรอกรายละเอียดแบบฟอร์มของเขตหรือเทศบาล และรอนัดหมายเข้าตรวจสถานประกอบการ

4. เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา โดยไปยื่นจดแจ้งต่อสรรพากรในเขตพื้นที่

5. เสียภาษีป้าย ที่เขตหรือเทศบาลเช่นกัน (ราคาอยู่ที่ขนาดป้าย และการตรวจประเมินของเจ้าหน้าที่)

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ธุรกิจร้านตัดผมและร้านเสริมสวย ถึงอย่างไรก็ยังอยู่ได้ในทุกสภาพเศรษฐกิจ ตราบใดที่ผู้คนยังควงเข้ามาใช้บริการตัดผม-เสริมสวยที่ร้านกันอยู่ตามปกติ แม้จะลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับกระทบในภาพใหญ่ของธุรกิจนี้

แต่ !! เจ้าของร้าน หรือช่าง ก็อย่าได้ประมาท เพราะปัจจุบัน ลูกค้าหรือผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือก เพราะฉะนั้น ฝั่งช่างทำผมเอง ก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ ตามยุคตามเทรนด์กระแสแฟชั่น ไม่มองตัวเอง ว่า เก่งแล้ว หรือเป็นของตายสำหรับลูกค้า เพราะการทำธุรกิจไม่แน่ไม่นอน ต้องพร้อมปรับตัวได้ตลอด

ในตอนท้ายมีฝากถึงท่านที่เปิดร้านตัดผมแล้ว หรือที่กำลังเริ่มต้นดำเนินกิจการ เกี่ยวกับกลยุทธ์หรือข้อความปฏิบัติเพื่อให้ร้านตัดผมของคุณมีผลประกอบการที่พี มีกำไร มีลูกค้าเข้าร้านทุกวัน และครองใจฐานลูกค้าของคุณต่อไปได้ในระยะยาว

 

กลยุทธ์บริหารร้านตัดผม-เสริมสวยให้ลูกค้า-รายได้สม่ำเสมอ

1. ทำเลที่ตั้งของร้านอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน
2. เตรียมเงินลงทุนให้เหมาะสม
3. มีประสบการณ์ในธุรกิจเสริมสวยและงานบริการ
4. เพิ่มรายได้ด้วยการขายผลิตภัณฑ์เสริม
5. รักษามาตรฐานและคุณภาพ
6. เอาใจใส่ บริการที่ดี สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้
7. การตกแต่งและสร้างบรรยากาศร้านให้สวยทันสมัย
8. ใส่ใจในการบริการและปลอดภัยอยู่เสมอ