Flash Coffee แบรนด์กาแฟสัญชาติอินโดนีเซียที่มีความน่าสนใจ ชวนให้ติดตาม เพราะเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพจากการระดมทุน โดยมีหัวเรือใหญ่ที่มีดีกรีไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็น David Brunier ผู้ปลุกปั้นแพลตฟอร์มส่งอาหารเดลิเวอรี่อย่าง Foodpanda และอีกคนคือ Sebastian Hannecker
แนวคิดการทำธุรกิจร้านกาแฟของ Flash Coffee จะเป็นในลักษณะของ Grab and Go ที่ให้ลูกค้ามาซื้อเครื่องดื่ม และเดินออกจากร้าน จะไม่มีมานั่งดื่มกาแฟ หรือทำงานภายในร้าน ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการดำเนินธุรกิจ ส่วนเรื่องของวัตถุดิบที่ใช้เกรดพรีเมียม หรือที่เรียกว่า Specialty Coffee ที่สร้างจุดเด่นตั้งแต่การ “คัด คั่ว บด กลั่น ชง” ใส่ใจทุกขั้นตอนการทำ
หลังเปิดตัวสาขาแรกในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ช่วงปี 2019 Flash Coffee ยังเปิดระดมทุนอย่างต่อเนื่อง และก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของยอดขายเชนกาแฟรายนี้เคยทำถึง 1 ล้านแก้วมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากธุรกิจจะขยับขยายไปเปิดสาขาในประเทศอื่น ได้แก่ สิงคโปร์, ฮ่องกง, ไต้หวัน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และไทย
แม้จะเป็นแบรนด์กาแฟที่ถูกจับตามอง กลายเป็นม้ามืดที่จะมาเขย่าวงการคล้ายกับก่อนหน้านี้ที่มี Luckin Coffee โดยปัจจุบันประสบความสำเร็จแซงหน้า Starbucks ก้าวสู่เชนร้านกาแฟอันดับ 1 ในจีนเป็นที่เรียบร้อย หากดูโมเดลธุรกิจจะพบว่ามีความคล้ายกัน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Flash Coffee จะเดินทางมาถึงทางแยกที่ต้องจัดการ แก้ปัญหา ที่ใครทำธุรกิจก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นคือ “การปิดสาขา” ในสิงคโปร์ ก่อนจะไปถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร Flash Coffee ถึงไปไม่รอด Smartsme จะพามาดูพฤติกรรมการดื่มกาแฟของคนสิงคโปร์กันก่อน
จากการหาข้อมูล (อ้างอิงจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) พบว่าคนสิงคโปร์ชอบดื่มกาแฟเป็นวิถีชีวิตอยู่แล้ว โดยดื่มเป็นประจำทุกวัน โดยส่วนใหญ่จะชอบนิยมดื่มกาแฟท้องถิ่น แต่ก็มีบางส่วนที่ชอบดื่มกาแฟคุณภาพเมื่อเห็นแบบนี้แล้วก็ถือสิงคโปร์เป็นตลาดที่น่าสนใจ มีกลุ่มเป้าหมายที่ตอบโจทย์แบรนด์
แต่สุดท้าย Flash Coffee ก็ไม่สามารถเอาตัวรอดในสิงคโปร์ได้ ประกาศปิดสาขาทั้งหมด 11 แห่ง โดยบริษัทเผยว่าธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยภาระหนี้สินที่มีอยู่ และจำเป็นต้องปิดสาขาทั้งหมดในสิงคโปร์ ซึ่งข้อมูลจาก Business Times ระบุว่า Flash Coffee มีหนี้สินกว่า 14 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 371 ล้านบาท)
ไม่เพียงเท่านั้น พนักงานของ Flash Coffee ยังออกมาเรียกร้องอีกว่า พวกเขายังไม่รับเงินเดือนในเดือนล่าสุด โดยเรื่องนี้น่าคิดอยู่เหมือนอยู่เหมือนกันว่ากลายเป็นโดมิโนหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ Flash Coffee ก็โบกมือลาถอนธุรกิจออกจากไต้หวันมาแล้ว
สำหรับประเทศไทย Flash Coffee เข้ามาเปิดสาขาแรก เมื่อปี 2020 ที่ HK Plaza สาทร ปัจจุบันมี 92 สาขา แต่เมื่อดูผลประกอบการธุรกิจ พบว่าน่าเป็นห่วงอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะขาดทุนมาตลอด
ผลประกอบการ บริษัท แฟลช คอฟฟี่ ทีเอช จำกัด (ที่มา:กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
– ปี 2563 รายได้รวม 3.2 ล้านบาท ขาดทุน 8.6 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้รวม 60.4 ล้านบาท ขาดทุน 100 ล้านบาท
แน่นอนว่าหากมองการทำธุรกิจในลักษณะแบบสตาร์ทอัพ การขาดทุนในช่วงแรกถือเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะเป็นการเผาเงิน (Burn Cash) ที่เน้นการใส่เงินเข้าไปเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ลด แลก แจก แถม จัดโปรโมชันเพื่อเอาใจลูกค้า ขาดทุนไม่เป็นไร แต่หลัง ๆ เราก็จะเห็นว่าสตาร์ทอัพที่ใช้วิธีนี้กลับไม่ได้ผล จนต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ แม้ว่าจะเป็นเงินที่มาจากการระดมทุนก็ตาม
เมื่อวิเคราะห์สมรภูมิร้านกาแฟในประเทศไทยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลากหลายแบรนด์ด้วยกัน นั่นหมายความว่าผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะที่จะซื้อ การแข่งขันด้านการตลาดจึงเป็นสิ่งสำคัญ และต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่คนจะยอมจ่ายซื้อเครื่องดื่ม อะไรคือจุดเด่นที่ดึงดูดใจ เหล่านี้เป็นการบ้านที่แบรนด์กาแฟต้องทำอย่างหนักเพื่อช่วงชิงฐานผู้บริโภค
ที่มา: flash-coffee, finance.yahoo, straitstimes
เรื่องที่เกี่ยวข้อง