ตามดู “สกาย ลาร์ค” ยังเปิดอยู่.. แต่ทำไมเหมือนหายไป !?


ย้อนกลับไปร่วม 30 ปีที่แล้ว ถ้าพูดถึงร้านอาหารญี่ปุ่นขึ้นห้างฯ ยุคแรกเริ่ม ถือเป็นขวัญใจวัยรุ่น และช่วงเวลาของครอบครัวที่หากมีมื้อกินข้าวนอกบ้านสักมื้อ แต่ละครอบครัวต้องพุ่งเข้าไปที่ “สกายลักค์” อย่างแน่นอน

 

สกาย ลาร์ค (Skyluck) หรือ ‘สกายลักค์’ (แต่ละสื่อเขียนไม่เหมือนกัน) ที่หลายคนคุ้นเคยรู้จักกันดี คือ ร้านอาหารสัญชาติญี่ปุ่นแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจเปิดดำเนินกิจการและขยายสาขาในเมืองไทย

โดดเด่นการเสิร์ฟอาหารญี่ปุ่นประเภท “เทปันยากิ” (Teppanyaki) หรืออาหารญี่ปุ่นที่ใช้กระทะเหล็กในการปรุงอาหารเสิร์ฟขายจานเดียวหรือจานด่วน (เปรียบเทียบกับอาหารตามสั่งบ้านเรา ประมาณนั้น) ในราคาไม่แพง ไม่ถึงร้อยบาท

 

โดยนึกถึงเมื่อไหร่ต้องขอสั่ง “เกี๊ยวซ่า” , “ข้าวหน้าหมูเกาหลี” และ “ข้าวหน้าหมูตุ๋น” เป็นเมนูแรก ๆ และเป็นหนึ่งในเมนู Signature ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยุค 90′ รู้จักแบรนด์นี้เป็นวงกว้าง

ปัจจุบัน ‘สกายลักค์’ ก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่นะ ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ กระจายอยู่แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ แต่ทำไม ? เหมือนดูเงียบ ๆ จนบางครั้บแอบรู้สึกว่า แบรนด์นี้ยังอยู่ไหม หรือจะไปต่อไหม ? ท่ามกลางธุรกิจร้านอาหารนานาชาติ ที่เปิดให้บริการจำนวนมากทุกวันนี้

แอดฯ เอง ก็เป็นคนยุคเจน 90′ และร้านอาหาร ‘สกายลักค์’ ถือเป็นอีกร้านในดวงใจอีกด้วย จึงอยากพาเพื่อน ๆ ไปอัปเดต ดูแบรนด์ร้านอาหารนี้ กันสักหน่อยว่า ตอนนี้กิจการในประเทศไทย เป็นอย่างไรบ้าง ?

 

เอาจริง ๆ ‘สกายลักค์’ อาจเหมือนดูเงียบ ๆ แต่ไม่ได้หายไปไหน เพราะธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้แบบชิลล์ ๆ เลยนะ ปัจจุบันขยายสาขาไปแล้วกว่า 300 สาขาทั่วประเทศด้วยซ้ำ (โดยมีการแตกไลน์ใช้แบรนด์ร้านอื่น ๆ ด้วย อาทิ K.KEN STEAK, THE BANGKOK, YAMADA YA เป็นต้น)

‘สกายลักค์’ ส่วนใหญ่เปิดใน Food Court ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ได้แก่ ห้างฯ บิ๊กซี, โลตัส, โรบินสัน, เซ็นทรัล, ท็อปส์, Treminal 21 และห้างฯ ประจำท้องถิ่นใกล้บ้านเพื่อน ๆ ตลอดจนบางสาขาเปิดใน ‘ปั๊มน้ำมัน’ ทั่วประเทศอีกด้วย

 

ข้อมูลธุรกิจ ‘สกายลักค์’ (Skyluck)

• บริหารโดย : บริษัท สกายลักค์ จำกัด

• วันที่จดทะเบียนบริษัท : 17 พ.ย.2532

• ผลประกอบการ
ปี 2563
รายได้ : 182.9 ล้านบาท
ขาดทุน : -4.9 ล้านบาท

ปี 2564
รายได้ : 107.2 ล้านบาท
ขาดทุน : -7.3 ล้านบาท

ปี 2565
รายได้ : 142.5 ล้านบาท
กำไร : 3.3 ล้านบาท

จุดเด่นที่ทำให้หลายคนจดจำ “สกายลักค์” ได้ คือร้านอาหารญี่ปุ่นแบรนด์แรก ๆ ที่เปิดให้บริการอาหารสไตล์ญี่ปุ่นหลากหลายเมนู คัดสรรแต่วัตถุดิบชั้นยอดมาเสิร์ฟให้กับลูกค้า ในราคาไม่เกินร้อย

 

เมนู “สกายลักค์” ที่มาแล้วต้องสั่ง !

• เกี๊ยวหมู สกายลักค์ ราคา 59 บาท
• ข้าวหน้าหมูเกาหลี ราคา 69 บาท
• ข้าวหน้าหมูซิอิ๊ว 69 บาท
• ข้าวหน้าหมูตุ๋น 75 บาท
• ข้าวหน้าหมูซามูไร 75 บาท
• ข้าวหน้าปลาซาบะ 75 บาท
• ข้าวหน้าหมูกิมจิ 65 บาท
• ข้าวหน้าปลาอะเมซิ่งซอสเทอริยากิ 69 บาท
• ยากิโซบะ 65 บาท
• สเต๊กหมูพริกไทยดำ 75 บาท
• สเต๊กหมูบาร์บีคิว 75 บาท
• สเต๊กหมูเกาหลี 75 บาท
• สเต๊กปลาซาบะ 75 บาท
• สเต๊กไก่สไปซี่ 69 บาท

เมื่อได้ดูผลประกอบการ และจำนวนสาขาที่ขยายในประเทศไทย ก็ดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรที่จะมาหยุดยั้ง สกายลักค์ ในการขยายธุรกิจและดำเนินกิจการต่อไปได้เรื่อย ๆ

แต่หากเพื่อน ๆ สังเกตดี ๆ จะรู้เลยว่า การทำธุรกิจร้านอาหารสมัยนี้ ไม่เหมือนกับ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยหลายอย่าง จึงทำให้ สกายลักค์ ดูเหมือนว่า ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของผู้บริโภคคนไทยเหมือนในอดีตอีกต่อไป ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ที่มากระทบต่อการเติบโตของ สกายลักค์ อาจสรุปได้ดังนี้

 

1. ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการทานอาหารเยอะจริง ๆ โดยถ้านับเชนร้านอาหารญี่ปุ่นขึ้นห้างฯ ในบ้านเราตอนนี้ นับจำนวนไม่ไหวแน่นอน และยังมีหลายประเภทอีก ทั้ง a la carte, บุฟเฟ่ต์, เป็น Single หรือเสิร์ฟเป็น SET ซึ่งยกตัวอย่างแบรนด์ดัง ๆ เช่น

– โยชิโนยะ (Yoshinoya)
– ฮะจิบัง ราเมน (Hachiban Ramen)
– ยาโยอิ (Yayoi)
– โคโค่ อิฉิบันยะ (CoCoICHIBANYA)
– โอโตยะ (Ootoya)
– คัตสึยะ (Katsuya)
– เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch)
– เทนยะ (Tenya)

2. มีหลายคอมเมนต์และรีวิวจากผู้บริโภคหลายราย ที่ส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกันว่า ‘สกายลักค์’ มาตรฐานเรื่องรสชาติไม่เหมือนเดิม โดยยกตัวอย่างผู้ใช้งานในเว็บไซต์ Pantip บอกว่า ได้ปริมาณหมูน้อยลงบ้าง หรือ ร้านมีการปรับขึ้นราคาขึ้น แต่ลดต้นทุนวัตถุดิบ เหมือนได้น้อยลง เป็นต้น

 

3. การตลาดของ ‘สกายลักค์’ ที่ค่อนข้างน้อยและลดความน่าสนใจลง เมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์ร้านอาหารอื่น ๆ ที่มีการทำการตลาดโปรโมทในทุก ๆ ช่องทางการสื่อสาร ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อย่างต่อเนื่อง และตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่า เข้าถึงกว่า

4. รูปแบบการขายหน้าร้านที่เน้นรูปแบบเดิมจนเกินไป นั่นคือ การเปิดใน Food Court ห้างสรรพสินค้า โดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน TYPE ร้านอื่น ๆ เช่น ชอปเฮ้าส์ , Stand Alone เป็นต้น เพราะเมื่อ ร้านอาหารใน Food Court มีตัวเลือกเยอะ ทำให้เกิดการแชร์ส่วนแบ่งของยอดขายกระจายออกไปอีก

 

อย่างที่กล่าวไปว่า ปัจจุบันเชนธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแข่งขันกันสูงมาก ๆ ท้าทายให้ผู้ประกอบการต้องหมั่น Develop ภาพลักษณ์แบรนด์ คุณภาพของอาหาร มาตรฐานการให้บริการ และการทำการตลาด ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันและตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายหลักให้ได้มากที่สุด จึงจะเข้าไปครองใจผู้บริโภคได้ในระยะยาว

โดยสำหรับสายกิน ที่เป็น FC อาหารญี่ปุ่น ที่เกิดใน ‘เจนแซด’ ถอยลงมา.. คงจะมีแบรนด์อาหารญี่ปุ่นในใจ เป็นตัวเลือกเยอะแยะมากมาย แต่สำหรับผู้บริโภคเจน X , เจน Y หากถามหาร้านอาหารญี่ปุ่นที่อร่อยและราคาไม่แพง ต้องมีชื่อของ ‘สกายลักค์’ คงอยู่ในใจเช่นเดิม

 

แม้ว่า แบรนด์อาจจะไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไม่เป็นไร เพราะ ‘สกายลักค์’ ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปในทุก ๆ วิกฤต และยังได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม ในการปรุงอาหารกล่องจัดส่งให้กับโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ตรงนี้ถือว่าน่าชื่นชม และได้ใจคนไทยหลายคนไปจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

 

โดยไม่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อมีโอกาสเข้าไปห้างสรรพสินค้า เดินผ่านโซน Food Court แล้วเห็นร้าน ‘สกายลักค์’ ครั้งใด ก็อดไม่ได้ ที่หลายคนจะต้องขอฝากท้องเมนูใดเมนูหนึ่งทุกครั้ง จริงไหม ?