เปิดก่อนได้เปรียบ ! “ธุรกิจสถานีชาร์จ EV” กำไรเท่าไหร่ ? ใครเหมาะที่จะลงทุน


เทรนด์ของคนใช้รถใช้ถนน และการคมนาคมขนส่งโดยทางบกตอนนี้ ไม่มีอะไรจะมาแรง ! เทียบเท่ากับ การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้รถเติมน้ำมัน เพื่อขับเดินทางใช้งานกันแล้ว

เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจ น้ำมันแพงขึ้นเรื่อย ๆ ไหนจะเหตุบ้านการเมืองทั่วโลกที่ยังไม่สงบ และปัจจัยต่าง ๆ ที่พร้อมผันผวนอยู่ตลอด ซึ่งการประหยัดค่าใช้จ่ายอะไรได้ก็อยากจะประหยัด นี่คือ สิ่งที่ทำได้และควรทำอย่างที่สุด

แม้ว่า..การซื้อรถยนต์EV หลายคนมองว่า มันก็ต้องใช้เงินก้อนอยู่ดีนะ แต่สำหรับคนที่กำลังวางแผนจะซื้อรถคันแรก หรือกำลังจะเปลี่ยนรถ, ถอยรถคันใหม่ หากคุณตั้งใจเอาไว้แล้ว และกำลังเก็บเงินก้อนเพื่อที่จะซื้อรถยนต์ ก็ขอให้พิจารณาเลือกรถEV เถอะ.. เพราะมันคุ้มค่าในระยะยาวจริง ๆ

เพราะปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศต่างก็ผลิตและออกจำหน่ายรถยนต์EV ที่ได้มาตรฐานจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเข้ามาวางจำหน่ายในไทยจริง ๆ มีมากกว่า 30 รุ่น และราคาขายเริ่มต้นเพียง 325,000 บาท เท่านั้นเองนะ (ถ้าจดไฟแนนซ์ดาวน์-ผ่อนเบา ๆ กว่าออกรถใช่น้ำมันแน่นอน)

อีกอย่าง คือ ในปัจจุบัน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) ในประเทศไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียนเลยทีเดียว ยกตัวอย่างคิดง่าย ๆ หากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน “จะมีถึง 60 คัน” ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย

โดย ปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรถ BEV ใหม่ อยู่ประมาณ 10,000 คัน แต่คาดว่าสิ้นสุดปี 2566 นี้ จะมีรถ BEV ไม่ต่ำกว่า 40,000 คันเลยทีเดียว ซึ่งสิ่งที่ตามมา ไม่ใช่แค่ตลาดรถEV จะคึกคักมาก เพราะจะมียอดสั่งจองรถคิวยาวเป็นหางว่าวตลอดปีหน้าแน่นอน ซึ่งนอกจากนี้ ในเชนธุรกิจพลังงานไฟฟ้านี้ ธุรกิจที่จะบูม ! แจ้งเกิดตามมาด้วยแน่นอน คือ “ธุรกิจสถานีชาร์จรถEV”

ชวนเพื่อน ๆ คิดง่าย ๆ ก็เหมือนกับ รถที่ต้องเข้าปั๊มเติมน้ำมัน.. ซึ่งรถEV ก็ต้องการใช้บริการชาร์จที่สถานีชาร์จรถEV ฉันใดก็ฉันนั้น..

เพราะฉะนั้น เชื่อว่า นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการหลาย ๆ ท่าน จำนวนไม่น้อย ที่คงได้ศึกษาการลงทุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเอาไว้ก่อนแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะสร้าง “EV Charging Station” ให้บริการ Consumer ที่ใช้งานรถยนต์EV หรือ BEV เพื่อเก็บเกี่ยวรายได้ และผลกำไรในระยะยาว

โดยสำหรับเพื่อน ๆ อีกหลายท่าน ที่สนใจการลงทุนธุรกิจนี้ แต่ยังไม่ได้ศึกษาข้อมูล วันนี้แอดฯ ถือโอกาสขอหยิบยกข้อมูลการลงทุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้า มาบอกเล่าเก้าสิบให้ฟังกันเลยละกัน บอกเลยว่า เป็นธุรกิจที่น่าลงทุนในทศวรรษนี้มาก ๆ สำหรับคนที่มีความพร้อมเช่นคุณ !

 

 

เมื่อยานยนต์ไฟฟ้า คือ เทรนด์แห่งอนาคต แต่.. มันมาถึงวันนี้แล้ว !!

ก่อนฉายให้เห็นภาพของความน่าสนใจในการลงทุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เราขอกล่าวถึงภาพรวมของเทรนด์ของผู้คนที่หันมาซื้อรถไฟฟ้าใช้งานกันก่อน โดยภาพรวมปี 2565 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ของทั่วโลก ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 7.23 ล้านคัน หรือคิดเป็นการเติบโต 57% เมื่อเทียบกับช่วงประมาณปี 2564

ซึ่งความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้านี้ของผู้คนทั่วโลก ทำให้จึงต้องมีการปรับแผนธุรกิจมุ่งสู่ EV เร็วขึ้น ! ของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถดูได้เลย จากการแห่กันเปิดตัวรถยนต์ EV รุ่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นกว่า 100 รุ่น ครอบคลุมความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

เช่นเดียวกับ ประเทศไทย ที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV เติบโตอย่างก้าวกระโดด “จาก 570 คัน ในปี 2562” เป็น.. “9,678 คัน ในปี 2565” !!

โดยมีการคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์นั่ง EV ในปี 2566 นี้ จะอยู่ที่ 40,812 คัน หรือ ขยายตัวคิดเป็น 321.7% (YoY) ตามรอบระยะเวลาการนำเข้ารถยนต์ EV แบรนด์ยอดนิยมจากจีน โดยผ่านสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) เป็นหลัก

และบางส่วนยังได้ส่วนลดเพิ่มเติม หลังค่ายผู้ผลิตเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งมีเงื่อนไขผูกพันที่จะต้องลงทุนผลิตรถยนต์ EV ในประเทศให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดอีกด้วย

และภายใต้มาตรการของรัฐ ในเรื่องการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยการลดอัตราหรือยกเว้นอากรขาเข้า (ลดภาษีน้ำเข้า) การลดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ได้รับสิทธิตามมาตรการ เพื่อให้ราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ลดลงใกล้เคียงกับราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยค่ายรถยนต์จะต้องเซ็น MOU เข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ของรัฐบาลไทย จึงจะได้รับส่วนลดดังกล่าว

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลมานี้ ที่ดูแล้ว จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชน และเทรนด์การใช้รถยนต์EV คงจะทวีความรุนแรงในความต้องการครอบครองไปอีกยาวนานแน่นอน

 

EV Charger (สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า) คืออะไร?

กลับมาที่ EV Charger หรือ EV Charging Station หรือ “สถานีชาร์จรถไฟฟ้าEV” คือ ธุรกิจในรูปแบบให้บริการทำหน้าที่เป็นตัวชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยสามารถแบ่งการชาร์จออกเป็น 2 ประเภท คือ Normal Charge และ Quick Charge

Normal Charge

เป็นการชาร์จด้วยไฟ AC โดยชาร์จผ่าน On Board Charger ที่ยู่ภายในตัวรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC ขนาดของตัว On Board Charger จะขึ้นอยู่กับยี่ห้อรถยนต์ ซึ่งขนาดของ On Board Charger จะมีผลต่อระยะเวลาในการชาร์จไฟของแบตเตอรี่รถยนต์

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่รถยนต์ขนาด 24 KWh (หน่วยไฟฟ้ากิโลวัตต์-ชั่วโมง) และมี On Board Charger ขนาด 3KW ระยะเวลาในการชาร์จจะอยุ่ที่ 8 ชั่วโมง

Quick Charge

จะเป็นการชาร์จโดยใช้ตู้ EV Charger (สถานีชาร์จรถไฟฟ้า) ที่แปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC แล้วจ่ายไฟ DC เข้าที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จจะน้อยกว่าแบบ Normal Charger หัวชาร์จ (SOCKET) ของตู้ EV Charger จะมีทั้งแบบที่เป็น AC และ แบบ DC ประเภทของหัวชาร์จจะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิตรถยนต์

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่รถยนต์ขนาด 24 kWh โดยใช้ตู้ EV Charger แบบ Quick Charge ที่มีกำลังชาร์จอยู่ที่ 50kW ระยะเวลาในการชาร์จจะอยู่ที่ไม่เกิน 1/2 ชั่วโมง

รู้เป็นพื้นฐานแค่นี้พอ ! เพราะมาถึงตรงนี้ แน่นอนว่า สำหรับนักลงทุน ที่ต้องการเนรมิตสร้าง “สถานีชาร์จรถไฟฟ้าEV” คงต้องสนใจรูปแบบการให้บริการแบบ Quick Charge แน่นอน เพราะสะดวกรวดเร็ว ได้เงินไว ทั้งกับผู้ลงทุน และผู้นำรถเข้ามาชาร์จที่สถานี

 

อยากทำธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เริ่มต้นยังไงดี?

การเตรียมตัวสำหรับธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้านั้นง่าย ๆ คือ “เงินทุน” และ “สถานที่” ส่วนเรื่องรายละเอียดสำหรับธุรกิจนี้ เพื่อน ๆ ค่อย ๆ ศึกษาตามมาได้

ที่บอกว่า “ใช้เงินทุน” มันปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญ แต่เงินทุนสำหรับธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้า อาจต้องใช้เยอะสักหน่อยในช่วงเริ่มต้น เพราะเราจะต้องใช้ไปกับการลงทุนในที่ชาร์จรถไฟฟ้า ที่แต่ละแบบ แต่ละยี่ห้อก็มีราคาที่ต้องจ่ายแตกต่างกันไป

อย่างที่ได้บอกไป โดยปกติที่ชาร์จรถไฟฟ้าจะมีด้วยกัน 2 แบบคือ แบบ AC คือที่ชาร์จรถไฟฟ้ากระแสสลับ จะใช้เวลาประมาณ 5-7 ชั่วโมง โดยสามารถชาร์จได้สูงสุดที่ 22 กิโลวัตต์

และแบบ DC หรือการชาร์จรถไฟฟ้าแบบกระแสตรง อันนี้ จะชาร์จได้อย่างรวดเร็วจะสามารถชาร์จได้สูงสุดที่ 250 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จประมาณ 1-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับรถยนต์ไฟฟ้าของแต่ละคัน และยี่ห้อของที่ชาร์จรถไฟฟ้า

และอีกหนึ่งสิ่งที่เราต้องเตรียมคือ “สถานที่” เพราะสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ต้องมีพื้นที่ให้จอดรถอยู่แล้ว หากใครมีที่ดิน หรือมีธุรกิจเดิม มีพื้นที่กว้างอันนี้จะได้เปรียบสักหน่อย เพราะสามารถตั้งตู้ชาร์จรถไฟฟ้าได้เยอะ และรองรับคนเข้ามาใช้บริการได้หลายคัน

 

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการวางระบบติดตั้งที่ชาร์จรถไฟฟ้า ยกตัวอย่างเช่น

– การเปลี่ยนมิเตอร์ไฟให้รองรับการจ่ายไฟได้ในระดับสูง

– ค่าสายไฟในการเดินระบบต่าง ๆ และอยากประหยัดต้นทุนในระยะยาวอาจเพิ่มการติดตั้งโซล่าเซลล์ เพื่อช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงกลางวัน

ซึ่งรวม ๆ แล้ว อาจต้องเตรียมเงินเผื่อไว้สำหรับเงินลงทุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้าราคาประมาณ 1-2 ล้านบาท

 

แต่ก็อย่างที่แอดฯ ได้บอกไป.. ถึงแม้จะใช้เงินลงทุนมากสักหน่อย แต่ธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้าสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี เพราะอุปกรณ์ชาร์จรถไฟฟ้ามีอายุการใช้งานราว 10-20 ปี ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถศึกษาข้อมูลและสอบถามจากบริษัทผู้ผลิตและออกแบบติดตั้งได้ในปัจจุบัน มีหลายบริษัทที่ได้มาตรฐานหลายแบรนด์

ลองคิดเล่น ๆ ในตอนนี้ คนออกรถEV ขับกันมากขึ้นบนท้องถนน และมีความต้องการหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้ามากขึ้น เพียงแค่คุณสร้างเสร็จ ก็มีลูกค้าจ่อคิวรอใช้บริการชัวร์ !!

 

เปิด “สถานีชาร์จรถไฟฟ้า” แบบไหน คือ ทำเลทอง !?

• ทำเลบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดทางออกไปสู่ต่างจังหวัดทำให้เรามีลูกค้าเพิ่มขึ้น เพราะมีเหตุผลรองรับที่ว่า หากเปิดในเมืองคู่แข่งเยอะ แล้วอีกอย่างคือ คนใช้รถEV ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีความพร้อมในการชาร์จไฟจากที่บ้านก่อนขับออกเดินทางอยู่แล้วนั่นเอง

• ทำเลต่างจังหวัดยิ่งดี เพราะตอนนี้ในต่างจังหวัดจำนวนของสถานีชาร์จรถไฟฟ้ายังค่อนข้างน้อย หลายคนที่อยากไปท่องเที่ยวต้องมองหาจุดสตาร์ทชาร์จรถไฟฟ้าให้พร้อม โดยทำเลน่าสนใจอย่างเช่น ทางออกสู่ภาคใต้ บริเวณถนนพระราม 2 หรือช่วงสมุทรสาคร หรือโซนรังสิตทางออกไปภาคเหนือและภาคอีสาน ถ้าใครอยากทำธุรกิจสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ตรงนี้ล่ะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจเลย

• ถนนที่อยู่ใกล้ทางด่วน เพื่อดึงดูดให้เจ้าของรถมาชาร์จไฟให้พร้อมก่อนใช้ทางด่วน หรือเช่น บริเวณถนนเพชรเกษม ลงสู่ภาคใต้ หรือถนนมิตรภาพ ขึ้นไปภาคอีสาน ที่มีรถวิ่งตลอดเวลาทั้งวัน การมีสถานีชาร์จรถไฟฟ้าไปตั้งอยู่ตรงนั้น เรียกได้ว่า ลูกค้าต้องเข้ามาใช้บริการอย่างไม่ขาดสาย

• หรือใครที่มีพื้นที่ว่างเปล่า เช่น ใต้คอนโดฯ หอพัก มีพื้นที่ใช้สอยราว ๆ ตั้งแต่ 40-50 ตร.ม.ขึ้นไป ก็สามารถออกแบบเป็นช่องจอดเพื่อเปิดให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ได้เช่นกัน (ได้ 1 ช่องจอดชาร์จ)

 

ลงทุนธุรกิจ “สถานีชาร์จรถไฟฟ้าEV” กำไร หรือ จุดคุ้มทุน คิดอย่างไร ?

สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าที่เจ้าของรถ EV ต้องจ่ายต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยสามารถคำนวณได้คร่าว ๆ โดยยกตัวอย่าง รถสเปคเดียวกันและเทียบระหว่างชาร์จไฟบ้านกับสถานีชาร์จนอกบ้าน ดังนี้

ตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้ารับไฟสูงสุด 7.4 kWh (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) แบตเตอรี่ความจุ 60 kW ระยะทางขับขี่สูงสุดประมาณ 350 กิโลเมตร

 

ถ้าชาร์จไฟบ้าน

ไฟฟ้า 1 หน่วย = 1 kW
ค่าไฟฟ้า 1 kWh = 4.2 บาท*
ระยะเวลาชาร์จเต็ม = 8 ชั่วโมง

• 1 ชม. : 7.4 x 4.2 x 1 = 31.08 บาท
• 2 ชม. : 7.4 x 4.2 x 2 = 62.16 บาท
• 8 ชม. : 7.4 x 4.2 x 8 = 248.64 บาท

เท่ากับว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้งที่บ้าน อยู่ที่ 0.71 บาท/กิโลเมตร

ทั้งนี้ ค่าไฟ 4.2 บาท เป็นอัตราในปี พ.ศ.2565 ซึ่งคำนวณจากการชาร์จที่บ้านโดยใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มิเตอร์ 15 แอมป์

 

ถ้าเข้าไปใช้บริการที่สถานีชาร์จ

ไฟฟ้า 1 หน่วย = 1 kW
ค่าไฟฟ้า 1 kWh = 7 บาท**
ระยะเวลาชาร์จเต็ม = 8 ชั่วโมง

• 1 ชม. : 7.4 x 7 x 1 = 51.80 บาท
• 2 ชม. : 7.4 x 7 x 2 = 103.60 บาท
• 8 ชม. : 7.4 x 7 x 8 = 414.40 บาท

เท่ากับว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้งที่สถานีชาร์จ อยู่ที่ 1.184 บาท/กิโลเมตร

 

ทั้งนี้ ค่าไฟ 7 บาท เป็นค่าเฉลี่ยอัตราค่าบริการของสถานีชาร์จในประเทศไทยในปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2565) อ้างอิงจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

 

หรือกล่าวสรุปง่าย ๆ ว่า สำหรับผู้ที่มีความพร้อมด้านศักยภาพทั้งเงินทุน และทำเล เพื่อสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้าEV ให้บริการกับลูกค้าทั่วไปที่ใช้รถยยนต์EV จะได้เงินจากการให้บริการ โดยประมาณ คือ..

• ลูกค้าขอชาร์จ 1 ชม. ได้เงินขั้นต่ำเฉลี่ย 51.80 บาท (ต่อรถEV 1 คัน)

• ลูกค้าขอชาร์จ 2 ชม. ได้เงินขั้นต่ำเฉลี่ย 103.60 บาท (ต่อรถEV 1 คัน)

 

 

บทสรุปความคุ้มค่า และโอกาสเติบโตของธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์EV

การลงทุนสถานีชาร์จ EV เป็นทางเลือกที่น่าใจ สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่ทันสมัยในยุคนี้ ที่พร้อมจะปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ EV ที่วันนี้เข้ามาแล้ว ! ซึ่งใครที่มีที่ดิน มีทำเล และพร้อมทั้งเรื่องเงินทุน ก็ถือว่า ได้เปรียบ สามารถเริ่มต้นธุรกิจนี้ได้ ก็เหมือนกับ คนที่มีพื้นที่ มีเงิน ที่ผ่านมา ก็มักจะลงทุนธุรกิจ Passive income เช่น เปิดร้านซักอบผ้าหยอดเหรียญ 24 ชม. , หรือเปิดคาร์แคร์อัตโนมัติ , ลาดจอดรถเสียค่าจอด/ห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น

การมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ให้บริการต่าง ๆ อยู่บนทำเลที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่การอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมศักยภาพต่อปริมาณการใช้บริการของลูกค้าในภาคธุรกิจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะลูกค้าที่กำลังมองหา จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีความสะดวกสบายและเชื่อถือได้

หรือหากว่า คุณทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าจำนวนมาก ๆ ที่ต้องมีการขับรถเข้ามาจอดอยู่แล้ว เช่น โรงแรม รีสอร์ท , ร้านอาหาร, เจ้าของโครงการคอนโดฯ , เจ้าของสปอร์ตคลับ ซึ่งมีปริมาณรถจำนวนมาก ๆ

เพราะฉะนั้น หากธุรกิจใดที่มีบริการ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เปิดควบคู่ในสถานที่นั้นไปด้วย ก็ย่อมดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ เพิ่มเม็ดเงินให้กับคุณ และดึดดูดให้ลูกค้า ใช้เวลาไปกับสถานประกอบการของคุณได้มากขึ้นเช่นกัน