“ชุดนักเรียน” หรือ เครื่องแบบนักเรียน ยังจำเป็นอยู่ไหม ? สำหรับสังคมไทยปัจจุบัน
ตั้งคำถามทิ้งไว้.. ซึ่งแอดฯ ขอชวนเพื่อน ๆ คิดตาม เพราะช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้ ถ้ายังจำกันได้ กทม.ได้ออกหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัดจำนวนกว่า 400 แห่ง เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนกำหนดการใส่ “ชุดนักเรียน” และ ไว้ทรงผม ของนักเรียนได้อย่างอิสระ ด้วยการแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
หลังการประกาศนี้ออกมา มีเสียงแตกหลายส่วนเป็นไปในทิศทาง ทั้งที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และก็อยากให้ลองปรับนำร่องดูก่อน.. ทั้งตัวของเด็กเอง พ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครูและทางโรงเรียนต้นสังกัด ตลอดจนผู้คนในสังคมที่แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานา
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องนี้ และได้ตั้งคำถามและชวนขบคิดเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดและทุกฝ่ายพอใจ หากจะทำการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านเรื่องอะไรสักอย่าง ภายใต้บ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
แต่อีกมุมที่ Smart SME อยากจะหยิบยกและชวนเพื่อน ๆ คิด คือ แล้วร้านหรือแบรนด์ที่เคยจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียนที่มีประวัติเปิดกิจการมาอย่างยาวนาน เช่น “น้อมจิตต์” , “ตราสมอ” , “สมใจนึก” ในเรื่องของยอดขายจะเป็นอย่างไร ? เมื่อมีประกาศจาก กทม.ดังกล่าว ซึ่งแต่ละแบรนด์จะได้รับผลกระทบเรื่องยอดขายลดลงมากน้อยแค่ไหนหรือไม่ ?
รวมถึง..ร้านขายเครื่องแบบนักเรียน ปัจจุบันมีการปรับตัวอย่างไร เมื่อนักเรียนมีทางเลือก สามารถสวมใส่ชุดไปรเวท (Private Dress) ไปโรงเรียนได้แล้ว
ไหน ๆ ก็ Back to school เทอม 2 เปิดแล้ว ! และบ้านใครที่มีน้อง ๆ หนู ๆ บุตรหลานวัยเข้าโรงเรียน คิดเห็นเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง ขอชวนทุกคนไปติดตามเรื่องนี้กันดูสักหน่อยละกัน
สำหรับ ‘ตลาดชุดนักเรียน’ และ ‘เครื่องแบบนักเรียน’ เคยเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจเติบโต เครื่องแบบนักเรียนสามารถทำมูลค่าได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
ซึ่งหากแยกเป็นมูลค่าของตลาดชุดนักเรียนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท/ปี , ส่วนตลาดรองเท้านักเรียนอยู่ที่ 5,000 บาทล้านบาท/ปี
แต่หลังจากโลกเผชิญกับ COVID-19 ได้ทำให้กำลังซื้อของผู้ปกครองให้น้อยลง ประกอบกับหลายสถานศึกษายังเปลี่ยนรูปแบบมา Learn from Home ทำให้เกิดเป็นความคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต และการเรียนทางไกลผ่านช่องทางอื่น ๆ มากมาย
ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีประชาชนที่มองว่า ชุดนักเรียน จำเป็น..ยังต้องใส่ไปเรียนไหม ? ในเมื่อเด็กเรียนหนังสือได้ โดยไม่เกี่ยวกับเครื่องแบบหรือเปล่า ?
และยังกลายเป็นวัฒนธรรมและแนวคิดในปัจจุบันที่ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ที่บ้าน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสถาบันศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการตั้งคำถามถึงการบังคับใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียนอย่างที่กล่าวไป
จึงเป็นสาเหตุ ที่ทำให้ตลาดชุดนักเรียนในไทยชะลอตัวอย่างมาก นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 และทำให้บางรายต้องประสบกับผลขาดทุนจนต้องปิดกิจการลงไปก็มีจำนวนไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม “ชุดนักเรียน” ถือเป็นเครื่องแบบในตำนาน ! ที่กำหนดให้นักเรียนในระบบรัฐบาลแต่ง ซึ่งหากนับจาก พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียนครั้งแรก พ.ศ.2482 ชุดนักเรียนไทยจะมีประวัติ 84 ปี แต่หากนับจากการแต่งกายไปโรงเรียนครั้งแรกของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานข้าราชการ หรือประชาชน มีอายุกว่า 130 ปีทีเดียว
ข้อดี ข้อเสีย ของการแต่งเครื่องแบบนักเรียน
ข้อดี
– สร้างเอกลักษณ์ สร้าง Profile ให้กับต้นสังกัดคือโรงเรียน
– ฝึกให้เยาวชนรู้จักการมีกฎเกณฑ์ในสังคมขนาดเล็ก (กฎเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษไปกว่ากัน)
– ไม่มีการแข่งขัน หรือตัดเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการแต่งกายแฟชั่น (บ้านใครรวยจนไม่รู้ เพราะทุกคนแต่งชุดนักเรียนเหมือนกัน)
– ชุดนักเรียนทำให้ระบุตัวตนได้ เมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย สามารถตรวจสอบได้
– เป็นสิ่งให้ย้ำเตือนหน้าที่ของนักเรียน ว่า คือการไปร่ำเรียน ไปศึกษาหาความรู้
ข้อเสีย
– มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
– จำกัดการแสดงออกในบางเรื่อง เพราะติดอยู่กับกาลเทศะที่ใส่เครื่องแบบนักเรียน
– ตัวเด็กในบางคนอาจจะรู้สึกขาดทางเลือกในการแต่งกาย
– อาจมีการเปรียบเทียบ หรือบ่งบอกถึงระดับฐานะทางบ้าน ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับชื่อเสียงของ รร.ที่ตัวเด็กได้เข้าศึกษาได้เช่นกัน
มาลองส่องประเทศอื่น ๆ กันดูบ้าง โดยมีหลาย ๆ ประเทศที่ยังให้ใส่ชุดนักเรียนและหลาย ๆ ประเทศที่ไม่ได้มีการบังคับให้แต่งเครื่องแบบ สำหรับประเทศที่ยังใส่เครื่องแบบนักเรียน เหมือนกับประเทศไทยเรา ได้แก่
• ญี่ปุ่น เมื่อนานมาแล้วเคยใช้ “ชุดกิโมโน” เป็นเครื่องแบบนักเรียน แต่ปัจจุบัน ที่คุ้นตาเราก็จะเป็นชุดคล้ายกับ ทหารเรือสไตล์ยุโรป เริ่มใช้ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่นก็ยังคงมีการบังคับใช้ “เครื่องแบบนักเรียน” ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน แต่ในช่วงปี พ.ศ.2561 ก็เริ่มมีโรงเรียนบางแห่ง อนุญาตให้นักเรียนเลือกเครื่องแบบของตน โดยไม่คำนึงถึงเพศได้ เช่น ผู้หญิงจะใส่กางเกงก็สามารถทำได้
• เกาหลีใต้ ก็ยังคงมีเครื่องแบบนักเรียนอยู่ เห็นได้ตามซีรี่ย์ต่าง ๆ โดยเป็นข้อบังคับคล้าย ๆ กับของประเทศไทย ที่ต้องสวมชุดนักเรียนไปโรงเรียนทุกวัน การแต่งกายก็จะบ่งบอกระดับชั้นเช่น ประถม ม.ต้น และ ม.ปลาย
• สิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคร่งครัด เรื่องของเครื่องแบบชุดนักเรียน ที่ต้องถูกต้องตามกฎแบบเป๊ะ ที่จะต้องเป็นทรงตามที่โรงเรียนกำหนด ดัดแปลงไม่ได้ มีการผูกไทด์แต่งกายแบบเต็มยศตามวันที่กำหนด แม้แต่จะสวมเสื้อกันหนาวก็มีกฎ เช่นต้องเป็นสีน้ำเงิน ดำ เทา หรือขาว เป็นต้น
ถึงแม้ว่าช่วงหลังจะมีเรื่องการพูดถึงเครื่องแบบในสิงคโปร์ แต่เขาถกกันในประเด็นที่ไม่ได้จะยกเลิกเครื่องแบบ แต่จะปรับอย่างไร ให้เครื่องแบบเข้ากับสภาพอากาศ หรือการใช้ชีวิตของเด็ก
คราวนี้ มาลองอัปเดตร้านจำหน่ายเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเป็น ‘ตำนาน’ ของไทย ที่เปิดกิจการมาตั้งแต่ยุค 80-90′ โดยมีแบรนด์เก๋า ๆ ที่ยังดำเนินกิจการตอนนี้ มีแบรนด์อะไรบ้าง และมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ช่องทางจำหน่ายหรือไม่อย่างไร เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ท่ามกลางกระแสสังคมที่แปรเปลี่ยนผันผวนตลอดเวลา
ชุดนักเรียน “ตราสมอ”
บริษัท สมอทองการ์เมนท์ จำกัด
วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 25 ก.พ. 2526
ทุนจดทะเบียน : 130 ล้านบาท
ผลประกอบการ
ปี 2563
รายได้ : 519.6 ล้านบาท
กำไร : 20 ล้านบาท
ปี 2564
รายได้ : 380.3 ล้านบาท
กำไร : 11.2 ล้านบาท
ปี 2565
รายได้ : 437.2 ล้านบาท
กำไร : 12.5 ล้านบาท
ปรับกลยุทธ์ “ใส่สมอ เท่เสมอ”
– ชูจุดเด่นในเรื่องของการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพทนทาน รวมไปถึงยังมีบริการปักเสื้อ ซึ่งบอกได้เลยว่า ปัจจุบันการหาร้านปักเสื้อกลายเป็นเรื่องยาก
– บริการปักเสื้อจึงกลายเป็นเซอร์วิสที่ผู้บริโภคหลายคนยอมรับ และเป็นหนึ่งในเหตุผลการตัดสินใจเลือกซื้อ “ตราสมอ” ไม่เพียงเท่านี้ ยังสามารถปรับแก้ไซส์ต่าง ๆ เพื่อให้เข้ารูปและใส่สบายสำหรับเด็ก ๆ ที่มีหลากหลายขนาดตัว
– วิธีการเข้าถึงลูกค้า และกระจายไปยังตัวแทนจำหน่ายหลายพื้นที่และการเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การจำหน่ายเสื้อผ้านักเรียนภายในโรงเรียน รวมไปถึงการรับปักตามข้อกำหนดและระเบียบของแต่ละโรงเรียนได้ ชนิดที่ไม่ต้องกังวลว่า จะปักเสื้อผิดระเบียบหรือใช้ชุดนักเรียนผิดระเบียบ โดยเฉพาะชุดลูกเสือเนตรนารีที่มีรายละเอียดในการติดเครื่องหมายมากมาย
– ขยายไลน์การผลิตเสื้อผ้าไปสู่ ‘ชุดพละ’ และ ‘กางเกงวอร์ม’ ที่บางโรงเรียนถือเป็นให้เป็นหนึ่งในชุดนักเรียนที่ต้องมีการปักเครื่องหมายมากมาย
– นอกจากนี้ “ตราสมอ” ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเริ่มขยายไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ ‘ถุงเท้า’ ที่ต้องใช้เข้ากับชุกนักเรียน แต่มี Life Cycle ที่สั้นกว่า กลยุทธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้ “ตราสมอ” ยังสามารถครองแบรนด์เสื้อผ้านักเรียนที่อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน
ชุดนักเรียน “น้อมจิตต์”
บริษัท น้อมจิตต์ แมนนูแฟกเจอร์ริ่ง จำกัด
วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 24 ส.ค.2532
ทุนจดทะเบียน : 25 ล้านบาท
ผลประกอบการ
ปี 2563
รายได้ : 101.7 ล้านบาท
กำไร : 2.6 ล้านบาท
ปี 2564
รายได้ : 79.9 ล้านบาท
กำไร : 1.7 ล้านบาท
ปี 2565
รายได้ : 83.1 ล้านบาท
กำไร : 2.2 ล้านบาท
– กลยุทธ์ของ “น้อมจิตต์” คือ การปรับตัวในทุก ๆ สถานการณ์ โดยยังคงคำว่า “ชุดนักเรียนต้องดีมีคุณภาพ มีมาตรฐาน ราคาไม่แพง”
– อย่าคิดไปว่าเสื้อผ้านักเรียนจะเหมือนเดิมตลอดไป เพราะมันสามารถปรับเปลี่ยนได้ และปรับเปลี่ยนได้ดีกว่าเดิม แม้จะต้องลงทุนเพิ่ม เช่น ผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์อาจจะต้องลงทุนเครื่องจักร แต่ระยะยาวจะคงมาตรฐานของสินค้าไว้ได้
– เน้นขายเสื้อผ้าให้กับเด็ก ๆ ราคาไม่แพง เช่น เสื้อนักเรียนชาย เริ่มต้น 200 บาท, กระโปรงนักเรียน 6 จีบ เริ่มต้น 250 บาท ฯลฯ ซึ่งเป็นการบาลานซ์ระหว่างการทำธุรกิจและช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้ได้ใส่ชุดนักเรียนที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง ใส่สบาย ๆ
ชุดนักเรียน “สมใจนึกเทเวศร์”
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. สมใจนึกเทเวศร์
วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง : 13 มิ.ย.2516
ทุนจดทะเบียน : 300,000 บาท
ผลประกอบการ
ปี 2563
รายได้ : 4.7 ล้านบาท
กำไร : 358,760 บาท
ปี 2564
รายได้ : 3.7 ล้านบาท
กำไร : 369,000 บาท
ปี 2565
รายได้ : 4.9 ล้านบาท
กำไร : 372,978 บาท
“สมใจนึกเทเวศร์” ร้านค้าเรียบง่ายที่มีชื่อเสียงด้านเครื่องแบบนักเรียนชาย-หญิง เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ก่อตั้งเป็น ‘สมใจนึก บางลำภู’ ในปี พ.ศ.2515 ‘สมใจนึก เทเวศร์’ ได้ก่อตั้งขึ้นและแยกออกมาจาก สมใจนึก บางลำภู อย่างเป็นทางการ
ซึ่งหากนับรวมอายุ ‘สมใจนึก’ ตั้งแต่แรกก็นับเป็นแบรนด์ที่เก่าแก่มากที่สุดรายหนึ่ง เพราะมีอายุกว่า 67 ปีแล้ว โดยปัจจุบัน “สมใจนึกเทเวศร์” มีอยู่สาขาเดียวเท่านั้น (ตั้งอยู่บน ถ.สามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ )
– สั่งชุดนักเรียนออนไลน์ได้ สะดวกรวดเร็ว ผ่านเว็บไซต์ https://www.somchainuk.co.th/
– เครื่องแบบนักเรียนที่ครอบคลุมทุกสถานศึกษาเช่น เครื่องแบบประถมมาแตร์เดอี , เครื่องแบบเซนต์โยเซฟ , กรุงเทพคริสเตียน , เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ , เตรียมอุดมศึกษา , ชุดนักเรียนอนุบาล , ชุดลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ฯลฯ ในราคาไม่แพง
เรื่องของ “เครื่องแบบนักเรียน” อย่างที่บอก ถูกยกมาพูดกันจนถึงทุกวันนี้ว่า จะเปลี่ยนแปลง หรือยังคงเดิม หรือจำเป็นไหม ? ซึ่งก็มีแนวคิดที่หลากหลายความคิดที่เสนอกันมา แล้วคุณล่ะ คิดว่าไง ? แต่ในมุมมองส่วนตัวของแอดฯ ความคิดเห็นโดยส่วนตัวมองเรื่องนี้ว่า..
1. ชุดนักเรียน เป็นชุดแห่งความ “เท่าเทียม” จะยากดีมีจนก็ต้องใส่ชุดเหมือนกัน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าต้องใส่ชุดไปรเวทมาเรียน ?
ปัญหาที่จะเกิดตามมาเช่น ใส่ชุดซ้ำอายเพื่อน ใส่ชุดไม่สวยก็อายเพื่อน จริงไหม ? ก็นำมาซึ่งปัญหาว่าต้องไปหาชุดแพง ๆ ที่แพงยิ่งกว่าชุดนักเรียนมาใส่เพื่อดำรงตนในสังคม ถามว่า อะไรจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายกว่ากัน ?
แต่กลับกันหากเป็นชุดนักเรียน ใส่ซ้ำเนียน ๆได้ แล้วก็ไม่ค่อยเห็นข่าวจะมีเพื่อนมาบูลลี่ทักว่า ชุดเก่าว่ะ เลยสักคน (ถ้าไม่ได้เก่ายับเยินหนัก ๆ อ่ะนะ)
2. ชุดนักเรียนเป็นเรื่องของ Mind set กับการมาเรียนหนังสือ ส่วนตัวแอดฯ เชื่อว่า หากแต่งชุดไปรเวทแล้วจะเกิดเรื่องทำนองว่า ต้องมาคิดว่าวันนี้จะใส่ชุดอะไร ใส่ชุดนี้จะดีไหม จะอายเพื่อนไหม จะสวยกว่าเพื่อนไหม ทั้งที่ถ้าเป็นชุดนักเรียน เช้ามาคือ คว้าใส่ไม่ต้องสนลูกใคร ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย จุดโฟกัสของเด็กก็จะอยู่ที่การเรียนจริง ๆ
3. เรื่องทรงผมยังพอเข้าใจ แต่ส่วนตัวแอดฯ มองว่าชุดนักเรียน เป็นสิ่งบ่งบอก “ความเป็นนักเรียน” จะเกิดอะไรขึ้นถ้าลูกเราแต่งไปรเวทไปโรงเรียน เราก็ไม่รู้จริงไหม ? ว่าไปเรียนจริงหรือโดดเรียน แต่ถ้าใส่ชุดนักเรียน แล้วโดดเรียน ถ้าโดดก็จะโดนสารวัตรนักเรียนจับนั่นล่ะ เพราะใส่ชุดนักเรียน
4. ชุดนักเรียน มันคือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ในวัยเด็กนะ ! มันคือ heritage และ history ส่วนตัว ที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้ใส่แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ 10 กว่าปีเท่านั้นเองนะ (นับตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 ที่ใส่ชุดนักเรียนจริงจัง)