เปิดรายละเอียด แพลตฟอร์มออนไลน์ต้องส่งข้อมูลผู้ค้าเรื่องอะไรบ้างให้สรรพากร


ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคยุคนี้ที่สามารถเข้าถึงสินค้า สั่งซื้อ จ่ายเงินด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว สร้างความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าจึงเป็นโอกาสของทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนพ่อค้า-แม่ค้าที่จะได้นำเสนอสินค้า และบริการของตัวเองให้กับลูกค้า

ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมในส่วนนี้ที่เรารู้จักกันดี ได้แก่ Shopee, Lazada, Tiktok Shop ที่มีเม็ดเงินหมุนมหาศาลในแพลตฟอร์มเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผู้ที่ขายสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ต้องร้อน ๆ หนาว ๆ กันบ้าง หลังจากกรมสรรพากรได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เกี่ยวกับภาษีเงินได้ เรื่อง การกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม จัดทำบัญชีพิเศษ เพื่อนำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการให้กับกรมสรรพากร โดยจะมีผลบังคับใช้กับข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

มาถึงบรรทัดนี้จึงมีคำถามตามมาว่าจากประกาศนี้มีแพลตฟอร์มประเภทไหนที่เข้าข่าย และข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องนำส่งนั้น เรามาหาคำตอบกัน

ด้านรายละเอียดของประกาศระบุว่าเป็นอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทย และมีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเกินหนึ่งพันล้านบาท โดยต้องจัดทำข้อมูลบัญชีพิเศษ หรือบัญชีที่แสดงข้อมูลรายวันให้กับกรมสรรพากร ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และต้องเชื่อม นำส่งข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสรรพากรด้วย

มองกันว่าการประกาศครั้งนี้ของกรมสรรพากรมุ่งไปที่การดูรายได้ของผู้ประกอบการออนไลน์ว่าเข้าข่ายที่จะถูกจัดเก็บภาษีจากรายได้พึงมีหรือไม่ หากเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามที่มีรายได้ถึงที่จะต้องเสียภาษีก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำรายได้เข้ารัฐมากยิ่งขึ้น โดยเรื่องนี้ต้องมาดูกันว่าจะสามารถจัดเก็บได้มากน้อยแค่ไหน

ที่มา: rd