จะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อเศรษฐีน้ำมัน “ซาอุฯ” อยากเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเหมืองแร่


หากพูดถึง “ซาอุดีอาระเบีย” แห่งตะวันออกกลาง สิ่งแรกที่หลายคนต้องนึกถึงคงหนีไม่พ้นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนถูกขนานนามว่า “เศรษฐีน้ำมัน” จากการสร้างความมั่งคั่ง ร่ำรวยจากแหล่งวัตถุดิบล้ำค่านี้

รู้หรือไม่ว่าตอนนี้ ซาอุฯ ไม่ได้มีดีแค่เรื่องน้ำมันเท่านั้น พวกเขากำลังเร่งพยายามเพื่อวางตำแหน่งตัวเองให้กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และลดการพึ่งพาน้ำมัน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่วางเอาไว้ในปี 2030 โดยซาอุฯ ตั้งเป้าหมายที่จะให้เหมืองแร่เป็นเสาหลักที่สามของเศรษฐกิจ ผ่านแนวทางแบบองค์รวมในการลงทุนทั้งภาคส่วนภายใน และภายนอกประเทศ ที่มีข้อยกเว้นเรื่องการนำเข้าเครื่องจักร ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การแก้กฏหมาย

พื้นที่ al-shamal ห่างจากกรุงริยาดไปทางทิศเหนือ 1,200 กิโลเมตร ถูกค้นพบแร่ฟอสเฟสเป็นจำนวนมาก ซึ่งถูกนำมาใช้ทำปุ๋ย หรือเป็นสารตั้งต้น “แอมโมเนีย” โดยแร่เหล่านี้จะส่งไปยังบราซิล, แอฟริกา, อินเดีย และบังกลาเทศ

ตามรายงานของ Ma’aden บริษัทเหมืองแร่ของรัฐที่ดำเนินโครงการ เผยว่ามีกิจกรรมมากมายมหาศาล โดยยอดขายการลงทุนในประเทศคิดเป็น 2% ของ GDP ไม่ได้มาจากน้ำมัน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ซาอุฯ ไม่ใช่ประเทศที่พึ่งพาแต่น้ำมันเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

Robert Wilt ซีอีโอ Ma’aden กล่าวว่าก่อนอื่นเราต้องแสดงให้เห็นก่อนว่าเรามีภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จากนั้นถึงประกาศว่ามีแผนต่าง ๆ ที่มีความจริงจัง และน่าเชื่อถือ โดยเราได้เพิ่มกลยุทธ์การขุดแบบใหม่ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม รวมถึงเตรียมเปิดโรงงานรีไซเคิลอะลูมิเนียมแห่งใหม่ และขยายการผลิตอะลูมิเนียม รวมถึงเปิดเหมืองทองคำอีกสองแห่ง พร้อมกับต่อยอดธุรกิจฟอสฟอรัส

มองได้ว่าการที่ซาอุฯ หันมาให้ความสนใจในเรื่องของเหมืองแร่ เพราะต้องการมองหาสินค้าส่งออกใหม่ นอกเหนือจากน้ำมันที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศมาโดยตลอด อีกทั้ง แร่ธาตุที่พบยังมีความสำคัญในเรื่องของการแปลงพลังงานไฟฟ้า สามารถลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดกับเรื่องอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

ไม่เพียงแค่เหมืองแร่เท่านั้น ยังมีการค้นพบที่สำคัญอื่น ๆ อีก โดยก่อนหน้านี้บริษัท Saudi Arabian Mining เผยว่าได้ค้นพบแหล่งทองคำหลายแห่งทางตอนใต้ของเหมืองทองคำ Mansourah Massarah ระยะทาง 100 กิโลเมตร มีแหล่งสะสมทองคำเกรดสูงอยู่ที่ 10.4 กรัมต่อทองคำตัน และ 20.6 กรัมต่อทองคำตัน ซึ่งอยู่ห่างจากเหมืองทองคำ Mansourah Massarah 400 เมตร

จะเห็นได้ว่า ซาอุฯ เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น มีอีเวนท์ เพื่อให้เป็นรู้จักของชาวโลกมากกว่าเดิม ส่วนความสัมพันธ์กับไทยนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีการเปิดรับแรงงานไทยไปทำงาน เช่น พยาบาล, ผู้ช่วยดูแลงานบ้าน ที่มากับค่าแรงค่อนข้างสูง และล่าสุดรัฐบาลไทยเตรียมเซ็น MOU กับซาอุฯ ด้านสาธารณสุขยกระดับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ โดยเฉพาะ Wellness Thai ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาอยู่ ณ ตอนนี้

ที่มา: economist, spglobal

เรื่องที่เกี่ยวข้อง