Pop Mart ร้านขายของเล่น Art Toys ชื่อดัง ที่ชั่วโมงนี้ไม่มีนักสะสมคนไหนไม่รู้จัก พร้อมที่จะมุ่งไปทันทีหากมีการเปิดขายคอลเล็กชันตัวละครใหม่ จนต้องมีการลงทะเบียนเพื่อรับคิวในการเข้าซื้อกันเลยทีเดียว
Wang Ning ผู้ก่อตั้ง Pop Mart ที่สร้างธุรกิจเป็นบริษัทของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในจีน และขยายสาขาไปยังต่างประเทศครอบคลุม 21 ประเทศ ด้วยร้านค้ามากกว่า 200 แห่ง รวมถึงเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมากกว่า 1,000 เครื่อง โดยใช้ชื่อเรียกว่า “roboshops” ซึ่งเป็นสินค้าอันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทที่มีอายุนับ 10 ปี นั่นคือ “ตุ๊กตา” ที่อยู่ในกล่องแบบสุ่มที่ไม่มีใครรู้ว่าจะได้ตัวไหน ขายในราคา 9 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 333 บาท)
ในช่วงปี 2020 Pop Mart มีมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดย Wang เกิดในมณฑลเหอหนาน จบการศึกษาด้านการโฆษณาจากมหาวิทยาลัยเจิ้งโจวในปี 2009 หลังจากใช้เวลาทำงานใน Sina Corporation บริษัทสื่อดิจิทัลที่เป็นเจ้าของ Weibo เป็นระยะเวลา 1 ปี เจ้าตัวตัดสินใจว่าจะต้องก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง
ระหว่างที่เดินทางไปฮ่องกง Wang ได้รับแรงบันดาลใจจากร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าอินเทรนด์หลากหลายประเภท และได้นำแนวคิดนี้มาใช้ที่จีน โดยในปี 2010 เจ้าตัวได้เปิดร้านชื่อว่า Pop Mart เป็นครั้งแรกในจงกวนชุน กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีที่เรียกว่า Silicon Valley ของจีน
อย่างไรก็ตาม Wang พบว่าร้านที่เปิดต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง, การจัดพนักงาน และการบริการลูกค้าให้มีความรวดเร็ว
ในปี 2014 Wang ได้ลงทะเบียนเรียนที่ Guanghua School of Management ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และได้พบกับเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งบางคนได้เข้าร่วมเป็นทีมผู้บริหารของ Pop Mart ในเวลาต่อ เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร ร้านได้ลดสินค้าลง พร้อมทั้งขายสินค้าที่เป็นของเล่นเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น Wang ยังกล้าขายของเล่นในลักษณะของกล่องสุ่มคล้ายกับตู้จำหน่ายกาชาปองในญี่ปุ่น
Wang สร้างสรรค์ผลงานเพิ่มเติมโดยการเข้าหาศิลปินเพื่อพัฒนาตุ๊กตา หนึ่งในนั้นคือ Kenny Wong จากฮ่องกงผู้ออกแบบตุ๊กตาหน้ากลมที่มีชื่อเรียกว่า “Molly” และนี่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของ Pop Mart ที่สร้างยอดขายพุ่งสูงถึง 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 ต่อมาอีก 1 ปีทำรายได้ 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ Pop Mart ประสบความสำเร็จอย่างมากในการขับเคลื่อนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ดูได้จากยอดขายจากแพลตฟอร์ม Paqu ของบริษัทและเว็บไซต์ช้อปปิ้ง Tmall ที่เติบโตจากน้อยกว่า 10% ของรายได้ในปี 2017 มาเป็น 1 ใน 3 ของรายได้สูงสุดในปี 2019
อีกทั้ง ในช่วงเทศกาลคนโสดในปี 2019 Pop Mart ติดอันดับยอดขายในหมวดแอ๊คชั่นและของเล่นบน AliExpress แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เช่นเดียว ยอดขายบน Tmall เพียงอย่างเดียวสร้างรายได้ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าของเล่นแบรนด์ต่างประเทศอย่างดิสนีย์ และเลโก้
ก่อนที่จะเสนอขายหุ้นทั่วไปให้กับประชาชนครั้งแรกในปี 2020 โดย Pop Mart เพิ่มรายได้เป็น 3 เท่า เป็น 256.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้รับข้อตกลงด้านลิขสิทธิ์กับ Walt Disney และ Universal Studios
ปัจจุบันสถานะของ Pop Mart ในตลาดของเล่นจีนไม่มีใครเทียบได้ โดยบริษัทได้จับมือร่วมกับศิลปินอีกหลายสิบคน ครองตลาดของเล่นจีนถึง 8.5% มีสินค้าขายกว่า 85 รายการ ซึ่งกลายเป็นร้านค้ายอดนิยมของคนหนุ่มสาวยุคนี้
ที่มา: scmp