ทายาทเดอะมอลล์ ลงแปลงเกษตร ผลักดันผักไทยข้ามหน้าต่างชาติ


       จากทายาทธุรกิจเดอะมอลล์ ได้หันหน้าเดินลงสู่แปลงเกษตร ปลูกผัก ปลูกผลไม้ พร้อมนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบเกษตรไทย จนได้รับการยอมรับอย่างทั่วถึง และเร่งดันผลไม้ธรรมดาๆ อย่างกล้วยหอมเข้าสู่เซเว่นทุกสาขากว่า93%แล้ว กระทั่งเด็กหนุ่มไฟแรงนี้เตรียมแผนชิงบัลลังก์ผักสลัดแก้วที่เลื่องลือส่งตรงมาจากจีนในอีกไม่ช้า

        ทายาทเดอะมอลล์ กรุ๊ป คุณชยะพงส์ นะวิโรจน์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ-เบสท์ จำกัด ผันตัวเองมาเป็นนักการเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ หลังจากที่จบเศรษฐศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา ด้วยความที่คุณชยะพงส์ เคยคลุกคลีกับพืชผลทางการเกษตรมาตลอดตั้งแต่จำความได้ เพราะครอบครัวดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และหนึ่งภาระกิจที่สำคัญ คือ เฟ้นหาพืชผักตามแหล่งค้าส่ง ซึ่งมีแปลงปลูกผักขนาดใหญ่ รวมถึงมีฟาร์มเป็นของตัวเองอย่างฟาร์ม “ไร่ฟ้าประทาน”อ.วังเขียว จ.นครราชสีมานี้ ที่ได้ผลิตผลทางการเกษตรออกมาจำหน่ายให้แก่เดอะมอลล์ กรุ๊ป ภายใต้บริษัท เอ-เบสท์ จำกัด นี้เอง

        ทั้งนี้ คุณชยะพงส์ ได้เล็งเห็นถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มหันหลังให้กับภาคการเกษตร ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างมาก ถ้าหากคนไทยต้องซื้ออาหารจากต่างประเทศนำเข้ามารับประทาน ดังนั้นถ้าสามารถทำการเกษตรให้เป็นอุตสาหกรรม มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานขึ้น ก็น่าจะทำให้งานด้านการเกษตรง่ายขึ้นอีกทาง และคนรุ่นใหม่จะได้กลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง ฉะนั้นในเริ่มแรกเมื่อคุณชยะพงส์ต้องเข้ารับหน้าที่บริการจัดการ บริษัท เอเบสท์ จำกัด ซึ่งตอนนั้นไม่รู้เรื่องการเกษตรมากนัก อีกทั้งมีหลายคำถามมากมายเข้ามา แต่ด้วยความมุ่งมั่นเกินร้อยอยากทำให้ภาคการเกษตรกลายเป็นอุตสาหกรรม ก็เลยเริ่มลงพื้นที่เข้าถึงแหล่งค้าส่งพืชผักขนาดใหญ่ อย่างตลาดไท ที่ได้นำแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้ให้กับการเกษตรแบบดั้งเดิมกลายเป็นอุตสาหกรรม
       
ทุกธุรกิจย่อมมีปัญหา แต่อยู่ที่ว่าจะแก้ไขอย่างไร

         ทั้งนี้ตลอดการดำเนินธุรกิจมาคุณชยะพงส์ เคยประสบปัญหาเรื่องพายุพัดแปลงผัก แล้วเกิดความเสียหายขึ้น โดยในช่วงนั้นรีบตระเวนหาผักบุ้งเพื่อส่งให้กับบริษัท เอ็มเคสุกี้ เพราะจะได้ไม่เป็นการทำผิดสัญญา กระทั่งต้องขาดทุนไป เนื่องจากตอนนั้นต้องไปหาผักที่อื่นๆมาขาย ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงถึงกิโลกรัมละ 44 บาท แต่ผักที่ปลูกในแปลงของตนเองเคยส่งเพียงกิโลกรัมละ 12 บาทเท่านั้น จนทำให้ทุนหดหายกำไรหด หลังจากนั้นคุณชยะพงส์ จึงกลับมาจัดกระบวนการใหม่ กำหนดราคาเป็นรายไตรมาส ตามช่วงฤดูกาล หรือประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น และกลายเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับเงื่อนไขเวลาค้าขายพืชผลทางการเกษตรด้วย

         ถึงแม้จะมีอุปสรรค์เข้ามาแต่ก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยคุณชยะพงส์ ได้วางแผนพุ่งเป้าไปที่ผลไม้ ซึ่งนับว่าในปัจจุบันเริ่มมีการนำผลไม้จากต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนมาก แล้วผลไม้นอกส่วนใหญ่มักจะเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้ากันเป็นว่าเล่น แต่ขณะที่ผลไม้ไทยกลับล้นตลาดทุกปี ซึ่งผู้ประกอบการกลับมองข้ามสินค้าที่เน่าเสียง่าย อายุสั้นไม่ต่างจากพืชผักที่มักเกิดการเน่าเสีย เพราะนั่นคือต้นทุนและผลกำไรล้วนๆ ฉะนั้นเด็กหนุ่มทายาทธุรกิจเดอะมอลล์ ไม่รอช้า ตั้งเป้านำผลไม้ไทยอย่างกล้วยหอมนี้เข้าร้านสะดวกซื้อบ้าง ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ถนัดเลยก็ตาม และทางครอบครัวเองก็ไม่เคยปลูกกล้วยหอมมาก่อน แต่กลับเชี่ยวชาญทางด้านการปลูกผักบางชนิดมากกว่า ดังนั้นจึงต้องลุยเข้าสวนกล้วยพูดคุยกับเกษตรกร ระบุสเปคที่ต้องการ และนำมาบ่มเองประมาณ 40 ชั่วโมง จึงส่งขายให้เซเว่น ด้วยน้ำหนักต่อลูกประมาณ 120 กรัม แต่ไม่เกิน 140 กรัม ผิวต้องเหลืองสวย ไม่มีตำหนิ ซึ่งเกษตรกรก็สามารถทำให้ได้ดีเช่นกัน

          นอกจากนี้ในครั้งแรกคุณชยะพงส์ ส่งกล้วยให้เซเว่นกว่า 4,000 ลูก ส่วนวันที่สองส่งเพิ่มอีก 300 ลูก จนทำให้ยอดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนสาขาเซเว่นที่กระจายรายล้อมอยู่ ซึ่งขณะนี้กล้วยหอมของบริษัทฯ ได้เข้าไปแชร์ตลาดในเซเว่นแล้วกว่า 93% กลายเป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยก็สามารถทำได้ ไม่ต้องรอให้ต่างชาติมายึดอาชีพเกษตรกรไทย แต่ต่อไปจะต้องพยายามทำเครื่องบ่มกล้วยหอมให้ได้คุณภาพ 100% เพื่อลดเกิดการสูญเสียนั่นเอง ทั้งนี้ในส่วนเรื่องของการปลูกผักก็ยังไม่ละทิ้ง โดยคุณชยะพงส์ ทำการสำรวจต่อว่า ปัจจุบันผักชนิดใดจากจีนที่กำลังตีตลาดไทย ซึ่งพบว่า’สลัดแก้ว’ เป็นผักที่กำลังนำเข้ามาจากจีนเป็นจำนวนมาก และคิดว่าจะสามารถแย่งชิงตลาดกลับมาได้ ฉะนั้นจึงหันมาปลูกสลัดแก้วเพิ่มที่ไร้ฟ้าประทาน ซึ่งผักเหล่านี้คุณชยะพงส์ มีความมั่นใจในการทำตลาดแข่งขันกับผู้นำเข้ารายใหญ่ได้ ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ทายาทธุรกิจเดอะมอลล์เพิ่งจะลงมือเพียงไม่กี่ปี แต่ด้วยความพยายาม และมุมานะกับการเกษตรแนวใหม่ ทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง รวมทั้งกลายเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในขณะนี้