DNA แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น ‘Kacha kacha’คว้า100 ล้านมาครอบแบบใสๆ


       ปัจจุบันมีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 2,400 แห่งทั่วประเทศ และยังมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 17-20% ต่อเนื่องทุกปี รวมถึงมีผู้ลงทุนชาวไทยจ่อนำเข้าอาหารญี่ปุ่นกว่า 230 แบรนด์ แต่จะมีร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยไหนเล่า ที่ยังคงต้นตำหรับชาวลูกหลานแดนซามูไรได้ เฉกเช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น ‘Kacha kacha’นี้ที่มีวิสัยทัศน์ว่า “ไม่ใช่แค่เหมือน ต้องมาจากจิตวิญญาณ”

       จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว ทำให้ร้านอาหารญี่ปุ่น ‘Kacha kacha’ของคุณวิเชียร อินทร์ไกร วัย 39 ปี ประสบความสำเร็จ โดยคุณวิเชียรมีความเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่เคยไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น  เมื่อกลับมาแล้วยังอยากจะกินอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ อย่างแน่นอน จึงเริ่มบุกเบิกธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น โดยซื้อลิขสิทธิ์ร้าน ‘Kacha kacha’ ซึ่งเป็นเจ้าดังในญี่ปุ่น มีกว่า 47 สาขา เพื่อมาเปิดตลาดในประเทศไทย ฉะนั้นโดยพื้นฐานของคุณวิเชียร แต่ก่อนได้ทำธุรกิจเสื้อผ้าส่งออกประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว 16 ปี ซึ่งต้องเดินทางไปญี่ปุ่นแทบทุกเดือน ส่วนภรรยาก็เป็นชาวญี่ปุ่น จึงมีความใกล้ชิดกับประเทศนี้มาก และทุกครั้งที่กินอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยรู้ทันทีเลยว่ามันไม่เหมือนต้นตำรับ อีกทั้งยังหาอาหารญี่ปุ่นในไทยแบบแท้ๆ กินไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้คุณวิเชียร จึงตัดสินใจลงทุนธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ ในเมืองไทย โดยเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารร้าน ‘Kacha kacha’ ซึ่งเป็นร้านดังแนว “อิซากายา” (izakaya : กินอาหารและสังสรรค์หลังเลิกงาน) เพื่อขอซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์มาเปิดในไทย ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องให้ทางต้นสังกัดส่งทีมงานชาวญี่ปุ่นมาร่วมด้วย เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ได้ร้านแบบต้นตำรับนั่นเอง

       ดังนั้นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ไม่ใช่แค่ “เหมือน” แต่ต้องมาจาก “สายเลือด” แดนซามูไรจริงๆ ซึ่งร้าน ‘Kacha kacha’ มีทั้งเชฟ ทีมออกแบบร้าน วัสดุที่ใช้สร้างร้าน ภาชนะทุกชิ้น ผู้จัดการร้าน ฯลฯ นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ขณะที่รสชาติอาหารและเมนูต่างๆ เหมือนของแท้ไม่มีการปรับหรือแต่งเติมเด็ดขาด ส่วนทางด้านการบริการเป็นรูปแบบ “โอโมเตนาชิ” (omotenashi) ซึ่งมีความหมายมากกว่าคำว่า “SERVICE” แต่เป็นการให้บริการด้วยหัวใจแห่งชาวญี่ปุ่นจริงๆ ทั้งนี้ในเรื่องของจิตวิญญาณชาวญี่ปุ่น ถือว่าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งเกินกว่าจะอธิบายได้ ถ้าหากจะให้ร้านเป็นไปตามต้นตำรับ ก็ต้องเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะทำได้ แต่ในขณะเดียวกันร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไปในเมืองไทยมักจะทำให้ออกมาคล้ายเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ การแต่งร้าน หรืออาหาร

       เพราะฉะนั้นคุณวิเชียร จึงทุ่มเงินลงทุนซื้อร้าน ‘Kacha kacha’ไปกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าซื้อลิขสิทธิ์กับค่าก่อสร้าง ดังนั้นสาขาแรกที่เปิดคือ เอเชียทีค เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ร้าน 200 ตารางเมตร อีกทั้งในเบื้องต้นก็ไม่เคยทำการตลาดหรือประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด อาศัยด้วยการตกแต่งร้านให้มีความสวยงามโดดเด่น เพื่อให้ลูกค้าเข้ามากินแล้วเกิดความประทับใจนั่นเอง รวมถึงเพื่อให้เกิดการบอกปากต่อปากด้วย โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาใช้บริการภายในร้านจะใช้จ่ายประมาณ 500 บาทต่อคน รวมทั้งเฉลี่ยจำนวนผู้เข้าร้านประมาณ 4,000-5,000 คนต่อเดือน

ประสบความสำเร็จจากสาขาแรกแล้ว ก็ต้องประสบความสำเร็จในสาขาที่ 2 เช่นกัน

        หลังจากที่คว้าความสำเร็จของการเปิดธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมาได้แล้ว คุณวิเชียร จึงตัดสินใจเปิดสาขาที่2 ในจังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาก็เปิดสาขาที่ 3 ในจังหวัดขอนแก่น โดยขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยระบบแฟรนไชส์ของ ‘Kacha kacha’ คุณวิเชียรได้นำโมเดลญี่ปุ่นมาใช้ทุกประการ ซึ่งเป็นระบบที่ลงรายละเอียดและพิถีพิถันมากกว่าระบบแฟรนไชส์ทั่วไป เช่น QC คุณภาพทุกเดือน ทุกขั้นตอนมีคู่มือกำกับ อย่างพนักงานต้องยิ้มอย่างไร ยืนอย่างไร สบตาลูกค้าอย่างไร ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ส่วนสำหรับเงื่อนไขการลงทุนแฟรนไชส์ ได้แก่ ค่าสัญญา 2 ล้านบาท ระยะเวลา 6 ปี ค่ารอยัลตีฟี 6% จากยอดขาย ค่าการตลาด 15,000 บาทต่อเดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างเชฟ และทีมงานชาวญี่ปุ่น ผู้ลงทุนเป็นฝ่ายรับผิดชอบทั้งหมด เบ็ดเสร็จผู้ซื้อแฟรนไชส์ใช้เงินทุนเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านบาท ฉะนั้นจะคุ้มทุนหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับทำเลและขนาดของร้านอีกด้วย แต่โดยเฉลี่ยจะคืนทุนภายใน 2-3 ปี เท่านั้น

       นอกจากมีแบรนด์ ‘Kacha kacha’ แล้ว คุณวิเชียร ยังขยายธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในแบรนด์อื่นควบคู่ด้วย ได้แก่Fujiyama Go-Go และ Tsukemen Go-Go ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยังคงจุดยืนเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับแท้ๆเช่นเดิม แต่ต่างกันในเรื่องของเมนูอาหารและรูปแบบร้านเท่านั้น ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า ปัจจุบันมีร้านในเครือรวมกันกว่า 8 แห่ง ผลประกอบการเติบโตปีละเฉลี่ย 10% โดยปี 2557 ที่ผ่านมารายได้รวมอยู่ที่ 100 ล้านบาท ส่วนในปี 2558 นี้ คาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 116 ล้านบาท

       ทั้งนี้จากการค้นหาข้อมูลตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมปีละกว่า 19,000 ล้านบาท และปีนี้คาดทะลุ 20,000 ล้านบาท มีจำนวนร้านกว่า 2,400 แห่งทั่วประเทศ และยังมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 17-20% ต่อเนื่องทุกปี รวมถึงผู้ลงทุนชาวไทยรายใหญ่จ่อนำเข้าอาหารญี่ปุ่นกว่า 230 แบรนด์มาทำตลาดในไทย ดังนั้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดมีการขยายตัวสูงมาก ขณะเดียวกันการแข่งขันก็ดุเดือดไม่แพ้กัน แต่ว่าในมุมมองของคุณวิเชียร มีความเชื่อในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คนไทยใกล้ชิดและชื่นชอบอย่างยิ่ง จึงทำให้กลายเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเติบโตได้อีกมาก ภายใต้เงื่อนไขสำคัญต้องเป็นร้านที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน และรักษาคุณภาพให้โดดเด่น

       ถึงอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้นับว่ามีการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มตลาดแมส เน้นราคาถูก สินค้าแค่คล้ายๆ อาหารญี่ปุ่นแท้ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญนัก ส่วน 2. กลุ่มร้านพรีเมียม เน้นเรื่องคุณภาพ แม้จะมีร้านขององค์กรใหญ่ๆ หลายราย แต่ยังไม่มีรายใดที่ยึดตัวตนญี่ปุ่นแท้ในสายเลือดเหมือนคุณวิเชียร ซึ่งถ้าอยากอยู่รอดในตลาดงร้านอาหารญี่ปุ่นต้องเป็นร้านคุณภาพสูงตามต้นตำรับ เพราะคนไทยเริ่มเรียนรู้ และคัดกรองสิ่งที่ดีที่สุดนั่นเอง