จับตาเศรษฐกิจ ไทย เมื่อ ‘Brexit’ กำชัยชนะ


เรียกได้ว่า ควันไฟยังไม่จางหาย สำหรับผลการลงประชามติของ “สหราชอาณาจักร” ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ที่ฝ่าย Brexit (กลุ่มผู้สนับสนุนให้สหราชอาณาจักร ออกจากอียู) ได้เชือดเฉือนคะแนน ฝ่าย Bremain (กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักร ออกจากอียู)  ด้วยผลโหวตชนะ ร้อยละ 52 ต่อ 48 จนส่งผลให้ เดวิด คาเมรอน นายก ฯ อังกฤษคนปัจจุบัน ต้องประกาศอำลาเก้าอี้ ในเดือนตุลาคม ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้มีท่าทีมั่นใจว่า ฝ่าย Bremain ที่ตนสนับสนุน จะชนะในเกมส์นี้

แม้ว่า ผลประชามติที่เกิดขึ้น จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า อังกฤษจะถอนตัวจาก ‘อียู’ ได้จริงหรือไม่ ด้วยต้องรอให้เรื่องผ่านกระบวนการ ลงมติในสภาฯเสียก่อน รวมถึงการดำเนินการลาออกจากอียู ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จึงจะมีผล แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ดูเหมือนว่าจะได้รับแรงกระเพื่อม และเกิดความหวั่นไหวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่น้อยเลยทีเดียว เริ่มจาก ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 31 ปี เช่นเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดเอเชีย ที่ดิ่งลงกว่าร้อยละ 6 รวมไปถึงตลาดหุ้นเอเชีย มีแนวโน้มดิ่งตัวลงอีกด้วย

แต่สถานการณ์ในบ้านเรา มีนักวิชาการด้านเศรษฐกิจหลายท่าน ออกมาประเมินว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะว่ากลุ่มการค้าอียู ไม่ได้ตกลงทำการค้าระหว่างไทย มาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนในกรอบของความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป ส่วนใหญ่เป็นกรอบความร่วมมือด้านการเมือง และการต่างประเทศเท่านั้น

อีกทั้ง ‘การออกจากอียู’  ส่งผลให้อังกฤษมีอิสระ ในการดำเนินนโยบายต่างๆ มากขึ้น โดยอังกฤษจะสามารถเจรจากับไทยได้ทันที โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบ จากคณะกรรมาธิการยุโรปอีกต่อไป ส่วนในเรื่องของสินค้าไทย ที่ส่งออกไปยังอังกฤษ หากได้รับผลกระทบ เรื่องปรับระบบภาษีศุลกากร ฝ่ายอังกฤษต้องหารือกับไทยเพื่อรับผิดชอบ โดยชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

ยังเชื่อกันอีกว่า สินค้าส่งออกการเกษตรของไทย จะได้รับผลกระทบทางตรงไม่มาก เนื่องจากบ้านเราส่งออกสินค้าชนิดนี้ไปอังกฤษเพียง 1.21 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 2.88 % ของมูลค่าสินค้าเกษตรรวม

เนื่องจากไทยมีการค้ากับอียู คิดเป็นการส่งออก 9-10% ของภาคการส่งออกทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการส่งออกไปสู่อังกฤษ ไม่ถึง 2% ซึ่งระยะเวลาอันสั้น อาจทำให้การสั่งซื้อสินค้าของไทยชะลอตัวบ้าง เพราะค่าเงินปอนด์อ่อนกำลังลง ส่งผลต่อการตัดสินใจในการสั่งซื้อสินค้านำเข้า ซึ่งหากมองในแง่บวก การที่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น เงินบาทอ่อนตัวลง อาจส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกดีขึ้นนั่นเอง

ด้านภาพรวมของการท่องเที่ยว ในชาวต่างชาติจากยุโรป ก็ยังไม่ถือว่า ได้รับผลกระทบมากนัก คาดการณ์ว่า กรณีที่เงินยูโรอ่อนค่าลง 5-10%  จำนวนนักท่องเที่ยวในไทย อาจลดลงไม่เกิน 5% ยกเว้นในบางประเทศที่มีความอ่อนไหว อาทิ สเปน เยอรมนี ฟินแลนด์ อิตาลี เป็นต้น อาจลดลงได้ถึง 10%

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบ หากอังกฤษยกเลิกมาตรการ เดินทางเข้าเมืองโดยไม่ต้องขอวีซ่า ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ หันมาสนใจท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะการขอวีซ่าเป็นเรื่องยุ่งยากนั่นเอง

 กัลย์วิตา จิราวิภูเศรษฐ์