ธุรกิจเปิดใหม่ ร้านไอศกรีม Blue Belmont Gelato เริ่มต้นจากศูนย์ คิดค้นสูตรไอศกรีมด้วยตนเองขายส่งตามร้านอาหาร กระทั่งก่อร่างสร้างแบรนด์ลงทุน 1-2 แสนบาทเปิดหน้าร้าน ดีไซน์ร้านสไตล์อเมริกัน ชิวชิวน่านั่ง พร้อมโปรโมชั่นลด 10 บาทกับไอศกรีมเจลาโต้สำหรับเด็ก เพียงระยะเวลาไม่นานก็สามารถเรียกลูกค้าประจำและขาจรมากขึ้น
คุณดลธิดา ทองวิไล (โบว์) และคุณกรพงษ์ เหงี่ยมไพศาล (กันย์) เจ้าของร้านไอศกรีม Blue Belmont Gelato แนวโน้มธุรกิจมีโอกาสเติบโตเพิ่ม ซึ่งสังเกตจาก 2 เดือนแรกผลตอบรับเปอร์เซ็นต์ดีขึ้น
จุดเริ่มต้นร้านไอศกรีม Blue Belmont Gelato
คุณกรพงษ์ เหงี่ยมไพศาล เล่าว่า “ผมชอบทำธุรกิจด้านอาหาร จนได้มาเป็นเชฟอาหารญี่ปุ่น แต่ผลเสียคือ อาหารเน่าเสียง่าย เลยหันไปเอาดีอาหารด้านอื่นดีกว่า ด้วยการลองทำไอศกรีมอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการลองผิดลองถูก คิดค้นสูตรด้วยตนเอง พร้อมทั้งทำส่งขายตามร้านกาแฟและร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไปอยู่ประมาณปีครึ่ง กระทั่งตัดสินใจลงทุนทำร้านไอศกรีมในชื่อร้าน “Blue Belmont Gelato” เพื่อหาโลเคชั่นสำหรับธุรกิจไอศกรีม ซึ่งทำเลที่เลือกอยู่ใกล้บ้านแฟนตรงข้ามซอยสายไหม 52 เนื่องจากตรงนี้เป็นย่านของหมู่บ้านจำนวนมาก ประกอบกับยังไม่มีร้านไอศกรีมในละแวกนี้เลย ดังนั้น เงินลงทุนก่อตั้งร้านเสียไปประมาณแค่ 1-2 แสนบาท ในส่วนตัวร้านทางครอบครัวแฟน เดิมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายสร้างร้านจึงเสียไม่มาก สำหรับรูปแบบภายในร้านเป็นสไตล์อเมริกัน เน้นบรรยากาศสบาย ๆ ชิวชิว”
ด้านคุณดลธิดา เล่าต่อถึงผลตอบรับของการเปิดร้านว่า “หลังจากหน้าร้านไอศกรีม Blue Belmont Gelato เปิดได้ 2 เดือน มีลูกค้าขาประจำและลูกค้าสัญจรมากขึ้น ทั้งนี้ เราได้ชะลอการขายส่งไอศกรีมส่งตามหน้าร้านลง เพราะต้องโฟกัสหน้าร้านไอศกรีมให้อยู่ตัวก่อน ซึ่งถ้าถามว่าได้ทุนคืนหรือยัง บอกเลยว่า “ยังค่ะ” แต่ถ้าเป็นค่าอุปกรณ์รอบแรกที่เราทำไอศกรีมขายส่งได้กลับคืนมาแล้ว ส่วนเงินโดยรวมของการสร้างร้านยังไม่ได้คืน ดังนั้น วิธีการบริหารร้านไอศกรีมให้ได้ทุนคืนเร็ว ๆ มี 2 ข้อดังนี้”
1.จัดโปรโมชั่น เช่น วันธรรมดาจากเดิมราคาไอศกรีมเจลาโต้อยู่ที่ 30 หรือ 40 บาท ถ้าเด็กเล็กมาซื้อจะลดให้ 10 บาท
2.สร้างกระแสปากต่อปาก ด้วยการฝากแชร์ในละแวกใกล้เคียงก่อน พอถึงจุดที่ต้องขยายตัวค่อยกระจายข้อมูลไปย่านกรุงเทพมากขึ้น
สิ่งที่ต้องมีขณะเริ่มต้นธุรกิจใหม่
1.ความรู้และความสามารถเฉพาะทาง
ความรู้เฉพาะทาง เช่น รู้วิธีทำไอศกรีม คิดค้นสูตรไอศกรีมเป็น อย่างรสชาติไอศกรีมของร้าน Blue Belmont Gelato จะคิดค้นเองทั้งหมด และจะดูว่ารสชาตินี้น่าจะผสมกับรสชาตินี้ถึงจะเข้ากัน ก็เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่
2.ใจรัก เมื่อใดที่เรารู้สึกรักงานที่ทำ ก็จะมาความสุขได้ทุกครั้งแม้จะเจออุปสรรคก็ตาม
คุณกันย์ เล่าต่อถึงเคล็ดลับการทำธุรกิจให้ฟังว่า “จริงๆ ผมมีความรู้เรื่องการทำธุรกิจไม่มากนัก แต่ผมใช้วิธีการขายถูก ซึ่งเป็นราคาที่จับต้องได้ จึงทำให้ลูกค้าสนใจ ขณะเดียวกันรสชาติไอศกรีมที่ขายดีมี ไอศกรีมคาราเมลผสมบราวนี่, เลดี้ฮาวา และไอศกรีมสับปะรดเจลาโต้เนื้อผลไม้แท้ ๆ เป็นต้น อีกทั้ง ไอศกรีมของร้านเราเน้นสุขภาพ ไม่มีไขมัน หวานน้อย พร้อมทำลายเซ็นสร้างเอกลักษณ์ลงไอศกรีมด้วย”
แนวโน้มธุรกิจร้าน Blue Belmont Gelato ในอนาคต
“ตั้งแต่ที่เปิดร้านมา ถือว่าโอเค มีแนวโน้มเติบโตในทางที่ดีขึ้น และต่อไปจะหันกลับมาทำไอศกรีมขายส่งมากขึ้นหลังจากที่ห่างหายไปนาน เนื่องจากมัววุ่นกับหน้าร้านเสียมากกว่า ส่วนกลุ่มลูกค้ามีตั้งแต่เด็ก-ผู้ใหญ่-คนแก่ และต่อไปจะพยายามสร้างเอกลักษณ์ของร้านให้เกิดการจดจำ”
คุณโบว์ เล่าทิ้งท้ายว่า “สำหรับการพัฒนาร้านไอศกรีม Blue Belmont Gelato ต่อไปจะมุ่งสร้างคุณภาพของสินค้าและการบริการให้ดีต่อเนื่อง โดยจัดโปรโมชั่นใหม่ๆ ตอบสนองลูกค้า และจากเดิมกลุ่มลูกค้าเราโฟกัสแค่ละแวกใกล้เคียง ต่อไปจะขยายตลาดไปย่านกรุงเทพอีกด้วย”
โมเดลธุรกิจร้านไอศกรีม Blue Belmont Gelato
1.เงินลงทุน 1-2 แสนบาท (ไม่รวมตัวร้าน)
2.ระยะเวลาดำเนินธุรกิจหน้าร้าน 2 เดือน
3.วิธีเรียกทุนคืน จัดโปรโมชั่น, สร้างกระแสปากต่อปาก
4.ทำเล เลือกพื้นที่ตั้งที่คู่แข่งน้อย