“เสิร์ฟร้อน จานด่วน” โอกาสธุรกิจอาหารไทยโตใน CLMV


บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสุกร เปิดเผยแผนดำเนินธุรกิจและทิศทางการทำธุรกิจร้านอาหารในกลุ่มประเทศ CLMV เน้นคุณภาพ ศึกษาข้อมูลก่อนเจาะตลาดเพื่อนบ้าน

ถ้าเป็นร้านอาหาร ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่สู้ดีนัก ผู้บริโภคต้องอดออมเพื่อปรับพฤติกรรมให้เข้ากับเศรษฐกิจ ส.ขอนแก่น จึงเลือกขยายธุรกิจมาจับกลุ่มอาหารประจำวัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ เรื่องยอดขายก็ถือว่าเราอยู่ในระดับ New High ได้แก่แบรนด์ร้านข้าวขาหมู “ยูนนาน” ปัจจุบันมี 3 โมเดล ได้แก่ สแตนด์อะโลน มีพื้นที่ 80-150 ตร.ม. ร้านไซซ์เอ็มขนาด 40-80 ตร.ม. และคีออสก์ โดยส่วนใหญ่จะขยายด้วยโมเดลไซซ์เอ็มในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันเป็นพันธมิตรกับ ปตท. และมีแผนเปิดสาขานอกปั๊มตามศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ปัจจุบันมีจำนวนสาขา 35 แห่ง  เป็นสาขาในประเทศ 32 แห่ง  ในประเทศกัมพูชา 1 แห่ง และสปป.ลาว  2 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมี ร้านอาหารอีสานแบรนด์ แซ่บ คลาสสิค  ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารจานด่วน หรือ Quick Service Restaurant (QSR) จากเดิมที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนเอง ปัจจุบันบริษัทมีสาขาร้านแซ่บ คลาสสิค  8 แห่ง เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 1 แห่ง คาดว่าภายในปีนี้จะมีสาขาอย่างน้อย 12 แห่ง ซึ่งรูปแบบการลงทุนจะใช้เม็ดเงินประมาณ 5-8 ล้านบาท  สำหรับร้านในขนาด 70-80 ที่นั่ง

Price War  ฝ่า“สงครามราคา”

หากพูดถึงการแข่งขัน ภาพรวมในปีนี้การแข่งขันจะเน้นที่เรื่องราคา ทุกเจ้าพยายามขายอาหารให้มีราคาถูกลง ขณะเดียวกัน การที่จะทำแบบนั้นได้ต้องตัดเรื่องคุณภาพออกไป ซึ่งถ้าเป็น ส.ขอนแก่น จะเน้นนโยบายเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะเราวางโพซิชั่นเป็นแบรนด์ระดับพรีเมี่ยม และแบรนด์สแตนดาร์ดควบคู่กัน ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ คนหันมาเลือกซื้อของในระดับสแตนดาร์ดมากขึ้น ความโชคดีคือเรามีสินค้าที่เป็น Housebrand คือรับจ้างบริษัทที่มีขนาดใหญ่ หรือโมเดิร์นเทรดต่างๆ ผลิตสินค้าให้ ทำให้เราบริหารจัดการต้นทุนได้

คุณเจริญ กล่าวถึงเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ ว่าตั้งเป้าไว้ที่ 15% หรือคิดเป็นยอดขายรวม 2,764 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 2,368 ล้านบาท โดยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มียอดขายเติบโต 11% หรือคิดเป็นมูลค่า 626.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งรายได้หลักยังมาจากกลุ่มธุรกิจอาหารพื้นเมืองสัดส่วน 40.57% รองลงมาเป็นธุรกิจอาหารทะเล สัดส่วน 35.03% ธุรกิจฟาร์มสุกร สัดส่วน 8.78% ธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน สัดส่วน 7.28% ธุรกิจอาหารจานด่วน 4.4% และธุรกิจสแน็ก สัดส่วน 3.94%

 

พฤติกรรมผู้บริโภค ลาว-ไทย-กัมพูชา

คุณเจริญ เผยถึงแผนงานขยายตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ใช้ธุรกิจร้านข้าวขาหมู “ยูนนาน” นำร่องในประเทศลาว 2 แห่งในกรุงเวียงจันทน์ โดย มีแผนเพิ่มเป็น 3 แห่ง พร้อมขยายไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ภายในปี 2559 ก่อนที่จะเปิดตลาดในประเทศพม่าและเวียดนามเป็นลำดับต่อไป โดยบริษัทฯ ยังให้การสนับสนุนนักธุรกิจท้องถิ่นในการจัดตั้ง บริษัท ลาว อินเตอร์เทรด จำกัด เพื่อทำหน้าที่จำหน่ายสินค้าอาหารพื้นเมืองและกระจายสินค้าทั่วประเทศลาว โดยคาดว่าภายใน 3 ปีจะทำหน้าที่ครอบคลุมทุกประเทศในกลุ่ม CLMV

แนะศึกษากฏหมายก่อนโกอินเตอร์

สำหรับนักลงทุนไทยที่อยากเข้าไปเจาะตลาด ควรศึกษาในเรื่องข้อกฎหมายเพราะในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่นในสปป.ลาวจะมีกฎหมาย อาชีพซื้อมาขายไป เป็นอาชีพสงวนเฉพาะคนลาว คนต่างชาติจะเข้าเป็นเป็นเจ้าของไม่ได้  ส่วนในกัมพูชา สามารถเข้าไปทำธุรกิจได้ 100% เป็นต้น ฉะนั้นต้องศึกษาถึงรายละเอียดการเข้าไปทำธุรกิจในแต่ละประเทศก่อนวางแผนทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน  เพื่อเพิ่มโอกาสเติบโต…และเข้าถึงโจทย์ของลูกค้าในแต่ละประเทศให้ได้อย่างถ่องแท้