เด็กธรรมศาสตร์เจ๋ง ช่วยSMEsวิจัยถุงพลาสติกยืดอายุผักและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


จากแรงบันดาลใจของขี้เถ้าแกลบที่ไม่มีใครเห็นคุณค่าและด้วยปัญหาของมลพิษจากขยะมูลฝอยบนโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงเป็นที่มาของ   “พลาสติกชีวภาพหายใจได้”

นริศรา ใจแก้ว นักศึกษาวิชาเคมีจาก สถาบัน SIIT ม.ธรรมศาสตร์ เกิดแนวคิดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นจึงเริ่มงานวิจัย “พลาสติกชีวภาพหายใจได้” โดยการนำพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายทางชีวภาพมาใช้ทดแทน นั่นเพราะพอลิแลคติคแอซิด (Polylactic acid หรือ PLA) เป็นพอลิเมอร์ย่อยสลายที่มีในพีชอย่าง ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากวัตถุดิบธรรมชาตินี้สามารถผลิตขึ้นใหม่ไม่ยาก มีสมบัติเด่นด้านความใส ไม่เป็นพิษบวกกับการเข้ากันได้ดีทางชีวภาพจึงสามารถนำมาทดแทนพอลิเมอร์ที่ผลิตจากปิโตรเลียมได้

อีกส่วนคือการเติมของอนุภาคซิลิกา ซึ่งได้จากขี้เถ้าแกลบ นริศรากล่าวว่า “ต้องการนำของที่คนไม่เห็นค่าอย่างเศษขี้เถ้าแกลบ กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งเพราะ ปกติตามโรงสีข้าวจะมีเศษแกลบเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก” โดยนำขี้เถ้าแกลบมาปรับปรุงพื้นผิวอนุภาคด้วยการเคลือบพอลิแลกติกแอซิด-กราฟ-ไคโตซาน (PLA-grafted-chitosan) และการเติมสารเติมแต่งคัดเลือกแสง สามารถเพิ่มความแข็งแรงของพลาสติก และคุณสมบัติการพัดผ่านของแก๊สออกซิเจน, คาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำโดยไม่ต้องเจาะรูบนถุง ซึ่งมีประโยชน์ในหายใจของพืช ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางการเกษตร เช่นนำไปเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับยืดอายุผัก ผลไม้

ข้อดีของ “พลาสติกชีวภาพหายใจได้”  คือทำจากธรรมชาติและย่อยสลายง่าย 1ปีก็สามารถย่อยสลายได้ ในอนาคตถ้าการวิจัยเสร็จสมบูรณ์จะสามารถช่วย SMEs ในการส่งออกไปประเทศที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ซึ่งSMEsไทยต้องตื่นตัว เพราะมีหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แต่สำหรับการผลิตใช้ในประเทศ อาจยังยากเพราะด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูงกว่าถุงพลาสติกปกติถึง4เท่า แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบ Eco Friendly เพื่อโลกของเราจะได้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ขอบคุณการจัดงาน TALENT MOBILITY@KX วงเวียนใหญ่ ที่ทำให้ Smart SME ได้ส่งต่อไอเดียดีๆแบบนี้