การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม นอกเหนือจากการเตรียมด้านแผนการธุรกิจแล้ว การเตรียมตัวก็ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในแต่ละประเภทธุรกิจที่จะมีความแตกต่างกันไปตามโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งบทความนี้ SmartSME จะมาแนะนำไปถึงธุรกิจประเภทส่งออกอาหารสำเร็จรูปว่าต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
การทำธุรกิจอาหารในทุกประเภท สิ่งแรกที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามคือ การมีมาตรฐานที่พึงมีสำหรับการผลิตอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากมาตรฐานเหล่านี้จะการันตีการยอมรับในสินค้าของคุณก่อนจะออกสุ่ตลาด และมาตรฐานอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการควรมีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ
อย. : มาตรฐานอาหารบรรจุในภาชนะปิดสนิท ทั้งกรรมวิธีการผลิตและคุณภาพอาหาร ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
GMP : มาตรฐานบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก้บรักษาอาหาร
HACCP (Hazard Analysis Critical Control point) มาตรฐานป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร เป็นการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อไม่ให้มีค่าสาร (ตามข้อกำหนดของแต่ละสินค้า) เกินกว่าที่กำหนด ในการส่งออกได้ประยุกต์ใช้มาตรฐาน HACCP เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้า
ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจ ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องรู้ว่า หน่วยงานใดที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องธุรกิจ ซึ่งในธุรกิจส่งออกอาหารสำเร็จรูปก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตในการนำเข้า/ส่งออกสินค้า ประกอบด้วย
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) – ดูแลสินค้าควบคุม มาตรฐานสินค้า
- กรมศุลกากร – หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก การออกเข้า ภาษีนำเข้า-ส่งออก
- กรมการค้าต่างประเทศ – ใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การใช้สิทธิ FTA
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม – ควบคุมการดำเนินกิจการ การขออนุญาตเปิดโรงงาน
- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) – สินค้าต่างๆ ที่ต้องมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตามที่ สมอ.กำหนด
- กรมวิชาเกษตร – มาตรฐานสินค้าเกษตร การขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกพืชควบคุม
- กรมประมง – มาตรฐานสินค้าประมง การขออนุญาตนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมงควบคุม
วิธีการเข้าสู่ตลาดใหม่
งานเสนอสินค้า : เสนอสินค้าผ่านงานแสดงสินค้า โดยชูจุดเด่นสินค้าให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจ
การพบปะผู้แทนการค้า (Business matching) : หาเครือข่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งอาจได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการนำเสนอสินค้าต้องมีความน่าสนใจแก่คู่ค้าหรือผู้สนใจอื่นๆ
Online Marketing : สร้างแหล่งข้อมูลที่ลูกค้าเข้าถึงได้ เช่น เฟซบุ๊ก ซึ่งควรสื่อสารและให้ความสำคัญกับลูกค้า และสร้างความน่าเชื่อถือในการส่งมอบสินค้า
การนำเสนอสินค้าโดยตรง : นำเสนอสินค้าโดยตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น การสื่อสารกับผู้จำหน่ายสินค้าโดยตรง โดยควรนำเสนอสินค้าให้ชัดเจนหรือมีกลยุทธ์ด้านราคาที่จูงใจ