ยักษ์ ชน ยักษ์ Alibaba Vs Tencent คู่ชิงแพลตฟอร์มจ่ายออนไลน์


นัญญรัตน์ นิยมพงษ์

    ในปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่ามีคนจีนจำนวน 24 ล้านคน ซื้อสินค้าข้ามพรมแดน มูลค่าตลาด 2.4 ล้านล้านหยวน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศทั้งสิ้น 120 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเมืองไทยจำนวน 7.9 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศกว่า  3.7 แสนล้านบาท

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลหลัก ของการเข้ามาประกาศจับจองพื้นที่ปลายทางสำคัญอย่างช่องทางการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ หรือ ที่เรียกว่า E-Payment ของ     2 ยักษ์ใหญ่สายเลือดจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อภิมหาแพลตฟอร์มผู้ให้บริการชำระเงินระดับโลก”  โดยมีเป้าหมายของการขยายตลาดเข้ามาในประเทศไทย ไปในทางเดียวกัน นั่นคือ อำนวยความสะดวกให้ชาวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายสินค้าในประเทศไทย

“หากพูดถึงชื่อ  Alipay ในเครือ Alibaba ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้าน WeChat Pay ของ Tencent  ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในจีนเช่นกัน”

alipay

 

อาลีเพย์ (AliPay) เปิดศึก

ศึกครั้งนี้ เริ่มขึ้นช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาเมื่อ อาลีเพย์ (AliPay) ภายใต้บริษัท Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากประเทศจีน ประกาศเปิดตัวการให้บริการในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่ง  Alipay เข้ามาเซ็นสัญญาเป็น Certified Acquiring Partner กับบริษัทในไทยทั้งหมด 7 ราย คือ

  • True Money ในเครือ Ascend Group
  • Counter Service
  • GHL Thailand บริการจ่ายเงินในเครือบริษัท GHL Group ของมาเลเซีย โดยมีบริษัทพีเพิลมีเดียกรุ๊ป จำกัด (PMG) เป็นพาร์ทเนอร์หลัก
  • ธนาคารกสิกรไทย (Kasikorn Bank)
  • บัตรกรุงไทย (KTC)
  • เพย์สบาย (Paysbuy)
  • พระยาเปย์ (PrayaPay)

ปัจจุบัน Alipay  มีลูกค้าชาวจีนที่ใช้บริการจำนวน 450 ล้านคน คิดเป็น 1/3 ของประชากรจีนทั้งประเทศ ซึ่งการขยายตลาดมายังประเทศไทยครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ที่มีจำนวนประมาณ 10 ล้านคนต่อปี ให้สามารถชำระเงินผ่านระบบ โดยผู้ที่เป็นลูกค้าเดิม สามารถต่อยอดระบบการจ่ายเงินที่ใช้งานอยู่แล้วได้ทันที

จุดแข็งของ Alipay คือ มีนโยบายค่อนข้างเปิดกว้างในการรับร้านค้ารวมถึงรองรับการให้บริการด้านข้อมูลด้วยการแต่งตั้งผู้จัดการประจำประเทศไทย เพื่อสื่อสารไปยังร้านค้าต่างๆ ที่สำคัญมีการเน้นทำโปรโมชั่นด้านการตลาดหลากหลายและต่อเนื่อง เช่นมอบคูปองส่วนลดให้กับผู้ใช้งาน รวมไปถึงแสดงร้านค้าให้เห็นทันทีบน แอปพลิเคชั่น เมื่อนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนไม่จำเป็นต้องพกเงินสด เพียงแค่เติมเงินเข้าวอลเลต์ หรือผูกบัตรเครดิตกับแอปพลิเคชั่น ก็จะจ่ายเงินได้ทันที

จุดมุ่งหมายครั้งนี้ คือตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการแตะ 10 ล้านคนในปี 2559 ผ่านพันธมิตรของอาลีเพย์ รวมทั้งการประกาศจะช่วยเพิ่มโอกาสในการค้าขายให้กับร้านค้า เอสเอ็มอีในประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย โดยจนถึงขณะนี้ มีร้านค้าในประเทศไทย ตอบรับการชำระเงินด้วยอาลีเพย์แล้วประมาณ 10,000 ร้านค้า
Print

 

WeChat Pay” มาทีหลัง…(ตั้งเป้า) ให้ดังกว่า

ด้านยักษ์ไอที – อีคอมเมิร์ซ อย่าง “เทนเซนต์ กรุ๊ป” (Tencent Group)  ก็ขอฝ่าสงครามครั้งใหญ่ ประกาศให้บริการชาวจีนด้วยอีเพย์เมนต์ “WeChat Pay” ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเป้าหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ทันใจ ให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางมายังประเทศไทย ให้ได้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ โดยไม่ต้องพกเงินสดให้ยุ่งยาก  ยิ่งถ้าหากชาวจีนที่มีบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ WeChat อยู่แล้วก็ใช้บริการ “WeChat Pay” ได้ทันทีเช่นเดียวกับ Alipay เป๊ะๆ!!

ปรเมษฐ์ รังรองธานินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซท ไบร์ท กล่าวว่า เป้าหมายแรกของการให้บริการวีแชตเพย์ในไทย จะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งปัจจุบันมีการเดินทางมาในประเทศไทยเฉลี่ย 8 ล้านคนต่อปี และมีการใช้จ่ายเงิน 4.2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับการช็อปปิ้งให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เพราะที่ผ่านมาอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการนำเงินตราเข้าประเทศไทย

นอกจากนั้น ยังเห็นโอกาสจากการที่คนจีนส่วนใหญ่ใช้ WeChat Pay ในการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ในจีนอยู่แล้ว ถ้าเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่าน WeChat Pay จะเป็นการเพิ่มอีกช่องทางหนึ่งในการจ่ายเงิน และ เป็นการเพิ่มการสะพัดเงินของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น โดยร้านค้าทั้งรายเล็ก รายใหญ่แค่มี QR CODE ก็สามารถรับชำระค่าสินค้า และ บริการ ผ่านระบบ WeChat Pay ได้ทันที ซึ่งเป็นการลดต้นทุนให้แก่ร้านค้าและเป็นการเพิ่มช่องทางในการชำระเงินให้แก่ร้านค้าอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

******ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 2559 Tencent Group มีมูลค่าทางการตลาด 2 ล้านล้านเหรียญฮ่องกงถือเป็นหนึ่งในบริษัทไอทีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในเอเชีย WeChat Pay มีจำนวนผู้ใช้ (Active User) ทั่วโลกกว่า 400 ล้านบัญชี โดยมีผู้ใช้แอปพลิเคชั่น WeChat  ทั่วโลก จำนวน 8.06 พันล้านคน ขณะที่ผู้ใช้แอปพลิเคชั่น QQ มี 8.99 ล้านคน ส่วน สตาร์ตอัพบนแพลตฟอร์มของบริษัท 5 ล้านราย