ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับในภาคส่วนธุรกิจที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในปี 2017 ที่กำลังมาถึงนี้ความท้าทายสำหรับการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจะมีเรื่องอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลยครับ
กับดักรายได้ปานกลาง
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยอยู่ในลักษณะของ Middle Income Trap หรือกับดักรายได้ปานกลางนั่นเอง กล่าวคือ ประเทศไทยมีรายได้ไม่เพิ่มขึ้น แต่กลับมีค่าใช้จ่าย ต้นทุนต่างๆสูงขึ้นทุกปี ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจน เช่น เรื่องการปรับค่าแรง เพิ่มจากเดิมแล้วแต่พื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ รวมไปถึงเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตลอดในแต่ละปี มองย้อนมาดูรายได้ในแต่ละบุคคล พบว่าโอกาสในการเพิ่มเป็นไปในทิศทางค่อนข้างยาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาเรื่องการขาย ลูกค้าลดจำนวนลงจากเดิม ดังนั้น สิงที่คนทำธุรกิจต้องมานั่งคิด จะหลุดพ้นจากสภาวะนี้ได้อย่างไร
GDP เติบโตน้อยลงกว่าเดิม
หากย้อนกลับไปสัก 10-20 ปีที่ผ่านมา ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆถือได้ว่าเป็นยุคที่เฟื่องฟูของประเทศไทย ทำให้ GDP เติบโตถึง 6-10 % ต่อปี ซึ่งนักธุรกิจกลายหลายยังคงยึดติดกับภาพเวลาเหล่านั้นอยู่ แต่เมื่อมองภาพปัจจุบันเราจะพบว่าโอกาสที่ GDP ของประเทศไทยจะกลับไปเติบโตเหมือนกับช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ซึ่งมาจากปัจจัยต่างๆที่เข้ามารุมเร้า ไม่ว่าจะเป็น การส่งออกที่ลดลง รายได้จากการท่องเที่ยว รายได้จากการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งนักธุรกิจต้องมานั่งปรับความคิด หาทางออกว่าจะปรับตัวอย่างไรในเมื่อ GDP ของประเทศโตน้อยลงกว่าเดิม
Industry 4.0
ความท้าทายในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังพบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เป็นต้น ในจำนวนที่สูงหลายสิบล้านคน โดยแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการผลิต การบริการ หรือประมง ปัญหาที่ต้องพบเจอ คือถ้าวันหนึ่งประเทศของแรงงานเหล่านั้นมีเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น ย่อมจูงใจให้แรงงานต่างชาติย้ายกลับไปประเทศบ้านเกิดของตนเอง ปัญหาที่ตามคือ ประเทศไทยจะหาแรงงานจากที่ไหนมาช่วยทำงาน ดังนั้น ใน Industry 4.0 อาจสมควรแก่เวลานำเครื่องจักรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาคการผลิต
เงินทุนด้านเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นโรงงานผลิตสินค้าชั้นดี มีคุณภาพของภูมิภาคเอเชีย เห็นได้จากสินค้าที่ระบุว่า “Made in Thailand” ในหลายประเทศค่อนข้างเยอะ อย่างไรก็ตามในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เงินทุนที่สนับสนุนในด้านนี้ย่อมสูงขึ้นทุกๆปี ปัญหาที่ตามมาคือนักธุรกิจจะมีเงินทุนสนับสนุนมากพอหรือไม่ ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด
สังคมผู้สูงอายุ
หากมองไปที่ประเทศญี่ปุ่น เราจะพบว่าดินแดนซามูไรได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัว งบประมาณส่วนหนึ่งของรัฐบาลญี่ปุ่นต้องถูกจัดสรรไปดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มที ผลกระทบที่ตามมาคือจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณคนทำงานลดน้อยลง
ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ข้อหนึ่งสำหรับผู้ทำธุรกิจว่าจะทำอย่างไร หรือหาวิธีมาทดแทนประชากรวัยทำงานที่ลดลง รวมไปถึงในเรื่องของโอกาสทางธุรกิจที่ตลาดสังคมผู้สูงอายุสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ