ปตท.สผ.ชูเทคโนโลยีเป็นทางรอดช่วงน้ำมันผันผวน พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน


ซีอีโอ ปตท.สผ. ขึ้นเวทีเสวนาธุรกิจปิโตรเลียมระดับนานาชาติ แสดงวิสัยทัศน์ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงบริษัทน้ำมันและก๊าซระดับแถวหน้า เช่น PETRONAS, Woodside Energy และ Schlumberger ชูความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสำเร็จและลดต้นทุน เพื่อช่วยให้บริษัทน้ำมันและก๊าซอยู่รอดในภาวะราคาน้ำมันผันผวน รวมไปถึงการเติบโตในอนาคต

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการประชุม IPTC กล่าวบนเวทีเสวนาหัวข้อ “Innovation and Efficiency Excellence for our Energy Future” ในการประชุมเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ ครั้งที่ 10 (the 10th edition of International Petroleum Technology Conference หรือ IPTC) ซึ่ง ปตท.สผ. ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานว่า

การที่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันปัจจุบันนั้น แนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการค้นพบปิโตรเลียมทั้งปิโตรเลียมในรูปแบบเดิม (Conventional) และรูปแบบใหม่ (Unconventional) ลดต้นทุนในการดำเนินงาน และลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน โดยในส่วนของ ปตท.สผ. นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเช่นกัน โดยมองว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จทางธุรกิจและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

เทคโนโลยีที่ ปตท.สผ. ที่กำลังพัฒนานั้นจะมุ่งเน้นในด้านการเพิ่มความสำเร็จในการค้นพบปิโตรเลียม เช่น ศูนย์การประมวลผลเฉพาะงานคลื่นไหวสะเทือน (Dedicated Processing Center หรือ DPC) เทคโนโลยี Enhance Oil Recovery ที่ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียม และยานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติ (Autonomous Underwater Vehicle หรือ AUV) ซึ่งบริษัทร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์การผลิตใต้ทะเล

“บริษัทต่าง ๆ ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซยังมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างต้นทุน โดยในช่วง 2 ปีที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนนั้น ปตท.สผ. ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยการปรับโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด ทั้งที่เกี่ยวกับวิศวกรรมการเจาะหลุม ระบบโลจิสติกส์ และการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง การปรับโครงสร้างต้นทุนทางการเงิน ซึ่งทำให้ ปตท.สผ.สามารถลดรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายดำเนินงานลงได้ถึง 15-20% ในปี 2559 โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยตามนโยบายของบริษัท และการรักษาระดับการผลิตไว้ได้ ซึ่งช่วยให้เรามีขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว” นายสมพร กล่าว

นายสมพร ได้กล่าวถึงโอกาสการลงทุนในธุรกิจน้ำมันและก๊าซด้วยว่า ภูมิภาคเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง โดยในด้านของอุปสงค์นั้น ภูมิภาคเอเชียมีความต้องการพลังงานสูงกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน อินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ด้านอุปทาน ยังคงมีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซอยู่มาก ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับ ปตท.สผ. และบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอื่น ๆ ที่จะเข้ามาลงทุน ปตท.สผ. จึงได้หันมาให้ความสำคัญกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทมีความชำนาญ

สำหรับผู้บริหารของบริษัทอื่น ๆ ซึ่งร่วมเวทีเสวนาครั้งนี้ มีมุมมองเป็นไปในแนวทางเดียวกันว่า บริษัทในธุรกิจน้ำมันและก๊าซต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือกัน (Collaboration) ทั้งบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทผู้รับเหมาและผู้รับจ้าง (Contractors and service companies) รวมทั้งภาครัฐบาล โดยบริษัทเหล่านี้ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในระยะยาวและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่เห็นร่วมกันว่าควรต้องมีการทบทวนกลยุทธ์การลงทุน โดยให้ความสำคัฐกับพื้นที่และประเภทของการสำรวจปิโตรเลียมที่แต่ละบริษัทมีความชำนาญ

“การประชุม IPTC ในปีนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซจากทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ทั้งบริษัทน้ำมัน บริษัทผู้รับเหมาและรับจ้าง ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ นิสิต นักศึกษา และนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรม Emerging Leaders Workshop ซึ่งจัดให้กับคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซนั้น มีผู้เข้าร่วมงานสูงสุดนับตั้งแต่มีการจัดงาน IPTC แสดงให้เห็นว่าบุคลากรในบริษัทน้ำมันและก๊าซมีความตื่นตัว และเล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากงานครั้งนี้” นายสมพร กล่าว ประธานคณะกรรมการบริหารการประชุม IPTC