Industry 4.0 เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารไม่ควรมองข้าม เนื่องจากในอนาคตรูปแบบทางธุรกิจนี้ สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีความเฉพาะเจาะจงและหลากหลายมากขึ้น
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารปลายน้ำจะได้เปรียบสูงสุด เพราะมีความใกล้ชิดและได้รับข้อมูลจากผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งสามารถนํามาวิเคราะห์ต่อยอดร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น
ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ คือ หนึ่งในธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดโลกอย่าง Amazon, Tesco และ Wal-Mart หรือแม้แต่ในประเทศไทย เช่น Big-C, Central Online และ Tops ต่างให้ความสําคัญกับการให้บริการหน้าร้านออนไลน์มากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากการลงทุนนั้นต่ำกว่าการขยายสาขามาก อีกทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ของผู้บริโภค เช่น อายุ รายได้ ประเภทสินค้าที่สั่งบ่อย ซึ่งจะสามารถนําไปใช้พัฒนาการให้บริการที่มีความแตกต่างหรือมีคุณภาพที่ดีขึ้น เช่น Tesco ที่เกาหลีใต้ได้สร้างร้านค้าปลีกเสมือนจริง (Virtual Shop) ที่มีบริการสั่งซื้อสินค้าและส่งถึงบ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางไปซื้อที่ร้านค้าปลีกจริง รูปแบบธุรกิจอาหารใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมปลายน้ำ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ธุรกิจต้นน้ำ และกลางน้ำต้องปรับตัว ตัวอย่างเช่น การพลิกโฉมธุรกิจอาหารในอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ในครัวอย่าง Moley Robotics ที่สามารถทําอาหารได้ตามที่ผู้บริโภคต้องการผ่านทางหน้าจอประมวลผลที่แสดงให้เห็นถึงหน้าตาอาหาร และโภชนาการที่จะได้รับผ่านการอัพโหลดสูตรอาหาร วิธีการทํา หรือแม้แต่เรียนรู้การทําอาหารที่เฉพาะเจาะจงของผู้บริโภคแต่ละคนผ่านการลอกเลียนแบบพฤติกรรมการทําอาหารของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้เล่นระดับกลางน้ำ เช่น ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ส่วนประกอบอาหารหรือเครื่องปรุงรสต่าง ๆ จําเป็นต้องปรับตัวโดยนําชิปข้อมูลที่สามารถสื่อสารกับปัญญาประดิษฐ์หรือกับอุปกรณ์ครัวอัจฉริยะอื่น ๆ หันมาวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารให้มีความทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมกับตนเองมากขึ้นด้วย
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมต้นน้ำจําเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อยกระดับและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องตามไปด้วย เช่น ผู้ผลิตผักเกษตรอินทรีย์ (Organics) จําเป็นต้องลงทุนเพื่อเชื่อมต่อการทํางานของระบบกําจัดสารเคมี อุปกรณ์ตรวจจับความชื้นของพื้นที่เพาะปลูก อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพแร่ธาตุในดิน เครี่องหยอดเมล็ดผักหลากหลายชนิดให้ได้ผลผลิตสูงสุด ทั้งยังต้องสามารถติดตามการบริหารสินค้าคงคลัง และคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคผ่านทางข้อมูลจากธุรกิจอาหารปลายน้ำ เพื่อให้สามารถปลูกและจัดส่งผักเกษตรอินทรีย์ที่สดใหม่ถึงชั้นวางสินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการเน่าเสียของผักจากการสํารองสินค้าที่มากเกินไปแล้ว ยังสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้รักสุขภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ Industry 4.0 ของอุตสาหกรรมอาหารนั้นจําเป็นต้องคํานึงถึงความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมกับอัตลักษณ์รสชาติอาหารไทยสู่สินค้าและบริการ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารนั้นมีความสลับซับซ้อนกว่าอุตสาหกรรมอื่นในหลายๆด้าน ทั้งรูปแบบสินค้า การนําเสนอ รสชาติอาหาร หรือแม้แต่การให้บริการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมย่อมไม่ได้หมายถึงแค่ตัวสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงรูปแบบการนําเสนอที่ทําให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการบริโภค เช่น การนําเครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติเข้ามาทดแทนแรงงานฝีมือที่ทําหน้าที่แกะสลักอาหาร ซึ่งต้องใช้เวลาและความประณีตบรรจงอย่างมาก เพื่อให้ใช้เวลาในการผลิตต่อชิ้นงานที่สั้นลง มีความสม่ำเสมอของคุณภาพมากขึ้น ก่อนส่งต่อให้เชฟปรุงรสชาติอาหารและตกแต่งเพิ่มเติมก่อนเสิร์ฟ หรือแม้แต่บรรจุภัณฑ์แบบนาโนเทคโนโลยีที่สามารถบ่งบอกถึงคุณภาพของอาหารตามสีของบรรจุภัณฑ์ที่เปลี่ยนไปได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคทานอาหารที่เน่าเสียแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถบริหารจัดการกับวัตถุดิบหรืออาหารที่ใกล้หมดอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจอัจฉริยะเหล่านี้เป็นเรื่องที่จําเป็น และไม่อาจมองข้ามได้ในยุค Industry 4.0 เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลายน้ำ มีแนวโน้มเข้าสู่ยุค 4.0 ก่อนผู้ประกอบการในส่วนอื่น เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับข้อมูลของผู้บริโภค ซึ่งสามารถนํามาวิเคราะห์ต่อยอดร่วมกับผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว
คลิกอ่านหัวข้อที่เกี่ยวข้อง
(ไทยแลนด์ 4.0 : EP.1 ) การปฏิวัติอุตสาหกรรมไทยจาก 1 ถึง 4
(ไทยแลนด์ 4.0 : EP.2 ) ผลักดันอุตสาหกรรม 5 กลุ่มสู่ New Startup
(ไทยแลนด์ 4.0 : EP.3 ) ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ
(ไทยแลนด์ 4.0 : EP.5 ) ผลกระทบ ความท้าทาย และความเสี่ยงในอนาคต