“การปรับตัวของผู้ประกอบการก่อสร้างไทยในยุค 4.0”


วงการก่อสร้างเป็นธุรกิจเฉพาะที่ต้องมีความรู้ความสามารถ ในขณะที่ประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้น ผู้ประกอบการก่อสร้างไทยย่อมต้องมีการปรับตัวไม่ต่างจากภาคธุรกิจอื่นเช่นกัน และส่วนที่สำคัญก็คือ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามามีส่วนช่วยเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งธนาคารกรุงเทพเองเล็งเห็นถึงความสำคัญตรงจุดนี้เป็นอย่างยิ่ง มีความต้องการที่จะให้ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างไทยได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ขึ้นมา
ช่วงแรกของงานเป็นการกล่าวเปิดงาน โดยคุณกนกศักดิ์ โมกขมรรคกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีใจความสำคัญ คือ “ธนาคารกรุงเทพ เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน สนับสนุนผู้ประกอบการในการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว ทางธนาคารได้เชิญผู้มีความรู้ความสามารถ มาแลกเปลี่ยนมุมมองวิสัยทัศน์ ถ่ายทอดความรู้ ให้กับผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้เพื่อความเจริญก้าวหน้าทางธุรกิจ”
ก่อนเข้าหัวข้อสัมมนา ผู้เข้าร่วมงานรับฟังปาฐกถา เรื่อง แนวโน้มอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยในปี 2560 โดย คุณสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดมุมมองแนวโน้มธุรกิจก่อสร้างปี 2560 วิเคราะห์โอกาสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย โดยส่วนที่น่าสนใจซึ่งคุณสังวรณ์ได้กล่าวไว้ คือบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ซึ่งมีผลกระทบเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการจ้างงาน มีบทบาทในการพัฒนาประเทศด้านการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โครงการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ โครงการก่อสร้างเพื่อการอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และโครงการก่อสร้างพื้นฐานของรัฐ
โดยประมาณการจ้างงาน แรงงาน และลูกจ้างภาคก่อสร้าง ในช่วงปี 58-65 ประมาณการไว้ที่ 4 แสนตำแหน่ง โดยแรงงานด้านทักษะจะมีบทบาทมากขึ้น เน้นหนักที่บุคลากรสายอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น วิศวกร สถาปนิก บุคลากรในสายวิชาชีพทางช่างเทคนิค บุคลากรในสายธุรกิจ เช่น นักบัญชี การเงิน พนักงานระดับปฏิบัติการ ตลอดจนแรงงานก่อสร้าง ที่ต้องมีศักยภาพเพียงพอเพื่อรองรับภาคธุรกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ขยายโอกาสทางธุรกิจก่อสร้างไทยเพื่อเข้าสู่ยุค 4.0” เจาะลึกวงการก่อสร้างไทยกับสุดยอดกูรูคนดังในวงการก่อสร้างไทยชื่อดัง คือ คุณโกมล วงศ์พรเพ็ญภาพ ประธานกรรมการ บมจ. แมคทริค, คุณไผท ผดุงถิ่น กรรมการผู้จัดการบริษัท บิลค์ เอเชีย และผู้ก่อตั้ง Builk.com และคุณจุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บารามิซี่กรุ๊ป และ Wazzadu.com ดำเนินรายการโดยคุณวีรชัย กาญจนฐิติวรณ์ จากรายการ Secrets of Victory
ซึ่งประเด็นแรกในการเสวนา คุณวีรชัยยิงประเด็นคำถามในเรื่องของความแตกต่างของวงการก่อสร้างในอดีตและปัจจุบัน เทคโนโลยีส่งผลอย่างไรบ้าง และผู้ประกอบการในยุคนี้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน
เริ่มจากคุณโกมล ได้ตอบคำถามในประเด็นนี้ไว้ว่า ปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยค่อนข้างมาก รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยในการก่อสร้าง รวมถึงการบริหารการก่อสร้าง เช่นช่วยด้านการขนส่งให้รวดเร็ว ลดการสต็อกของ หรือซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยในการสั่งซื้อวัสดุง่ายขึ้น ส่วนเรื่องของดิจิทัลนั้นมีการเข้าถึงมากในระดับ 100% ซึ่งเปลี่ยนไปมากหากเปรียบเทียบกับในยุคเก่า
จากนั้นเป็นมุมมองของคุณจุลเกียรติ ซึ่งอธิบายว่าเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาในการทำงาน ในการจะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ หรือก่อนเข้าถึงเทคโนโลยีนั้น ต้องเข้าใจโจทย์ก่อนว่าปัญหาของเราคืออะไร โดยเฉพาะปัญหาหน้างานต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มองให้ออกว่าปัญหาคืออะไร แล้วนำนวัตกรรมรวมถึงเทคโนโลยีเข้าไปแก้ตรงจุดนั้น
ด้านความคิดเห็นของคุณไผท กล่าวถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มากขึ้นเรื่อย ๆ วงการก่อสร้างมีการปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องนวัตกรรม โดยมีนวัตกรรม 4 ส่วนที่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ 1.Product Innovation (นวัตกรรมเชิงสินค้า) 2.Process Innovation (นวัตกรรมเชิงกระบวนการภายในขององค์กร) 3.Service Innovation (นวัตกรรมการบริการ) 4. Business Model Innovation (นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ) ซึ่งมีความสำคัญมากในกระบวนการต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน
จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้ขอให้วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้พูดในประเด็น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างไร ให้เข้ากับเทคโนโลยียุค Thailand 4.0 เริ่มจากคุณโกมลได้พูดถึงประเด็นนี้ในแง่มุมของการเริ่มต้นทำความเข้ากับคำว่าไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร ทั้งเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้ประกอบการมีรายได้สูงขึ้น ลดความแตกต่างในเรื่องรายได้ เริ่มต้นจากความเข้าใจ การปรับตัวในภาคธุรกิจก่อสร้างหากเทียบกับภาคส่วนอื่น ๆ เช่น เกษตรกรรม การท่องเที่ยว หรือด้านการแพทย์ อาจมองดูยากกว่าในการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน ต้องพยามยามนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาให้ได้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
สิ่งแรกของการปรับตัวให้เข้ายุคปัจจุบัน เพื่อรองรับการทำงานให้เข้ากับยุค 4.0 ก็คือ “ทักษะความรู้” นอกจากนี้ยังต้องนำระบบ ERP เข้ามาเสริม เพื่อตรวจสอบการซื้อของ ดูค่าใช้จ่ายและราคาสินค้า รวมทั้งการซื้อของผ่าน e-Commerce ก็เป็นส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการ ประหยัดทั้งค่าพื้นที่และเงินลงทุนที่ต้องจมลงไปอีกด้วย ทำงาน สิ่งเหล่านี้ก็คือการปรับตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่ 4.0 ได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนคุณไผทพูดในส่วนนี้ว่าหากผู้ประกอบการรุ่นเก่ายังทำตัวเหมือนไดโนเสาร์ จะโดนผู้เล่นรายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและมีการทำงานที่ทันสมัยแย่งการทำงานไปทั้งหมด เห็นตัวอย่างได้จากธุรกิจสื่อต่าง ๆ ที่ต้องปิดตัวเองไป ลูกค้าเปลี่ยนไป การค้าขายก็ต้องเปลี่ยนไป ร้านวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิมจะอยู่ได้ต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลให้มากขึ้น ใครที่คิดว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่ส่งผลกับธุรกิจก่อสร้างนั้นไม่จริง ผู้รับเหมารุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าที่ปรับตัวได้จะมีความได้เปรียบ ทำงานชิ้นใหญ่ใช้เวลาน้อยขึ้น การปรับเปลี่ยนต้องเริ่มจากผู้บริหาร นโยบาย แล้วกระจายลงสู่ทีมงาน สำคัญคือต้องกล้าที่จะเปลี่ยน เชื่อในความเปลี่ยนแปลง
คุณจุลเกียรติกล่าวเสริมในเรื่องของการปรับตัวว่าไม่ใช่วงการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่เป็นทุกธุรกิจ ซึ่งจะได้รับผลกระทบหากไม่มีการปรับเปลี่ยนตัวเอง คำถามอยู่ที่ว่าเราจะปรับเปลี่ยนธุรกิจของเราอย่างไร ต้องมองให้ออกว่าลูกค้าของเราต้องการอะไร เอาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าเป็นตัวตั้งต้น แล้วออกแบบธุรกิจให้รองรับกับความต้องการในจุดนั้น
ประเด็นสุดท้ายในการสัมมนา ผู้ดำเนินรายการได้ให้วิทยากรทั้ง 3 ท่าน สรุปภาพรวมการทำงาน โอกาสในการทำงานด้านก่อสร้างในเวทีของ AEC เริ่มที่คุณโกมล ซึ่งได้เล่าประสบการณ์การทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน คือพม่า พบสิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างหลากหลายชนิดที่มาจากประเทศเวียดนาม รวมถึงทักษะแรงงานของคนในพม่าที่มีมากขึ้นโดยได้รับการสอนจากคนเวียดนาม ซึ่งในยุค 4.0 วงการก่อสร้างไทยหากไม่ปรับตัวจะสู้เพื่อนบ้านใน AEC ไม่ได้ โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ต้องพัฒนาตัวเอง หรือจะใช้วิธีรวมกลุ่มกันในการทำธุรกิจ หากธุรกิจจะประสบความสำเร็จในยุค 4.0 ต้องพัฒนาทางด้านทักษะ นวัตกรรม แบรนดิง รวมถึงต้องหาเอกลักษณ์ของตัวเองให้ได้
ด้านคุณไผทพูดถึงผู้ประกอบการก่อสร้างไทยกับโอกาสใน CLMV ซึ่งมองว่าเยอะและเปิดกว้าง แต่ไม่ได้มีไทยประเทศเดียว มีคู่แข่งจากประเทศอื่น ๆ อีกเยอะ ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสมากแต่ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะคนไทยยังทำงานในต่างประเทศไม่เก่ง ขาดความเป็นมืออาชีพ หากจะออกไปต้องมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินก็เป็นอีกส่วนทีสำคัญ ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นตัวช่วยที่ดีเพราะมีสาขาให้บริการในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงเครือข่ายกับนักธุรกิจในท้องถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการไทยต้องช่วยเหลือกันเอง จับมือร่วมกันทำงานก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้
สุดท้าย คุณจุลเกียรติได้แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าจะประมาทคู่แข่งไม่ได้ เวียดนามเน้นพัฒนาโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ไทยต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ที่ตามเทคโนโลยีเป็นผู้นำเทคโนโลยี และเวลาที่ไปทำธุรกิจต้องไปในฐานะเอาแบรนด์ไปตั้ง ไม่ใช่ไปแค่ผลิตหรือ OEM สร้างระบบที่ดี หาพันธมิตรในแต่ละประเทศ ใช้ระบบของเรา จากนั้นรับรายได้ในส่วนของใบอนุญาต ไปทั้งแบรนด์แล้วขายลิขสิทธิ์ให้กับเขา เพราะประเทศเพื่อนบ้านนิยมในแบรนด์ไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ใช้ค่านิยมตรงจุดนี้ให้เกิดประโยชน์
สุดท้ายที่สำคัญคือต้องจับกลุ่มในผู้ประกอบการไทยด้วยกัน ต่างทำหน้าที่ในด้านของตัวเองให้ดีที่สุด ร่วมมือกันปักหมุดในการทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นคนกลางเชื่อมโยงในเรื่องความมั่นคงทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ