“แจ๊ค หม่าทุ่มซื้อห้างใหญ่” หวังสร้างประสบการณ์ค้าปลีกใหม่ “O2O”


เร็วๆนี้ อลีบาบา ได้ถือครองหุ้นหลักของห้างใหญ่อย่าง “Intime Retail” โดยทุ่มเงินซื้อกว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ถือหุ้นทั้งหมด 74%) “Intime Retail” มีอยู่กว่า 30 สาขาในประเทศจีนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ปักกิ่ง การที่อลีบาบาเข้าไปถือหุ้นครั้งนี้ก็เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อขายตามแนวคิด Online2Offline (O2O)

แจ๊ค หม่า ประธานบริหาร อลีบาบากรุ๊ป กล่าวย้ำถึง แนวคิด “O2O” ว่าการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียวจะล้าสมัย เพราะในอนาคตการค้ารูปแบบใหม่จะเชื่อมต่อระหว่าง “ร้านค้าที่มีหน้าร้านจริง” (Brick-and-Mortar Retail) กับ “ร้านค้าออนไลน์” และ “โลจิสติกส์”

อลีบาบาเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์เมื่อเดือนเมษายน 2014 และได้เข้ามาถือหุ้นครั้งแรกจาก “Intime Retail” มูลค่า 692 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2015 ได้ซื้อหุ้น Suning.com ซึ่งขายของใช้ภายในบ้าน มีสาขากว่า 1,600 ร้านและกระจายอยู่ 298 เมืองในจีน

ทั้งนี้อลีบาบาได้เข้าสู่ตลาดออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ได้ถือลงทุนใน Sanjiang Retail มูลค่า 310.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (ถือหุ้น 32%) โดย Sanjiang เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในมณฑลเจ้อเจียง

ที่มาของภาพ : UIG via Getty Images

ความเปลี่ยนแปลงในตลาดออนไลน์และออฟไลน์ของจีน

หลายปีที่ผ่านมา มีห้างสรรพสินค้าและร้านค้าออฟไลน์หลายแห่งได้ปิดตัวลง เช่น ห้าง Yokada ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมระหว่างจีนกับต่างชาติ เปิดให้บริการปี 1997 และปิดตัวไป 7 สาขาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (จากทั้งหมด 10 สาขา) ห้าง Marks and Spencer ได้ปิดตัวลงในปี 2016 หลังจากเปิดในจีนมากว่า 8 ปี นอกจากนี้ บริษัท Belle International Holdings จำกัด ที่มีชื่อเสียงในการผลิตรองเท้า ได้ปิดสาขาย่อย 276 ร้าน ในปี 2016 เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร้านค้าออฟไลน์ปิดตัวลง คือ ต้นทุน ค่าเช่าสถานที่และค่าแรงงานที่สูงขึ้น รวมถึงไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เพราะสถานที่และสินค้าคล้ายคลึงกันกับร้านอื่นๆ

Syntun (ผู้ให้บริการข้อมูลอีคอมเมิร์ชของจีน) ระบุว่า การค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้เพิ่มส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีก เช่น ปี 2016 ยอดขายของทางออนไลน์ในช่วงเทศกาล วันคนโสด (วันที่ 11 เดือน 11) มีมูลค่าถึง 25.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 44%

ข้อมูลจากการสำรวจของ KPMG ระบุว่า ผู้บริโภคในจีนได้รับอิทธิพลทั้งจากทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดย 42.6% จะตัดสินใจซื้อทันทีจากการเห็นโฆษณาบนออนไลน์ ส่วนอีก 31.1% ที่เห็นโฆษณาบนออนไลน์แล้วจะไปดูสินค้าจริงอีกครั้งที่หน้าร้าน

สำหรับการจะมี “ร้านค้าแบบออนไลน์และร้านค้าออฟไลน์” อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ลักษณะทางกายภาพของสินค้า ศักยภาพของผู้ประกอบการ พฤติกรรมของผู้บริโภค

ที่มาของภาพบนสุด : scmp.com