5 ปัจจัยความสำเร็จ และ 7 ความล้มเหลวที่ต้องรู้ ในการทำร้านอาหารออนไลน์


อาจารย์พันธุ์ทิตต์ สิรภพธาดา ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ดิจิทัล ได้พูดถึง ประเด็น “Social Media สร้างตลาดออนไลน์ให้ร้านอาหาร” ในงาน แถลงข่าวลงนามความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรม Horeca ระหว่างบริษัทเอเชีย โฮเรก้า จำกัด และ นิตยสาร Thailand Restaurant News ณห้องประชุม Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา

สำหรับการทำธุรกิจขายอาหารบนโซเชียลมีเดีย แบบไม่มีหน้าร้าน หรือที่เรียกว่า Social Food ถือเป็นเทรนด์สำคัญที่น่าจับตามองในขณะนี้ อาจารย์พันธุ์ทิตต์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจทำธุรกิจรูปดังกล่าวเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะทำให้ธุรกิจ Social Food ประสบความสำเร็จท่ามกลางการแข่งขันที่มีคู่แข่งอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการต้องรู้ถึง 5 ปัจจัยความสำเร็จ  และ 7 ความล้มเหลว ดังต่อไปนี้

5 ปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจ Social Food

  1. มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดี เรื่องราวต้องสดใหม่ ทันสถานการณ์ในแต่ละวัน เพราะจะทำให้ผู้ติดตามเพจของคุณรู้สึกมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น
  2. ใช้เครื่องมือ Facebook Live หรือ Instagram Live ให้เป็นประโยชน์ เพราะนั่นคือเครื่องมือจำเป็นที่ผู้คนบนโลกออนไลน์คลั่งไคล้อยู่ในขณะนี้
  3. เชื่อเถอะว่า ในปี 2017 ความถี่ในการโพสต์ จะกลายมาเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ขณะที่เรื่องเล่าที่ปังและน่าสนใจ ชาวโซเชียลจะติดตามและแบ่งปันเรื่องของคุณอย่างล้นหลาม  แม้เพจของคุณจะมีจำนวนโพสต์ไม่มากก็ตาม
  4. ร้านค้าออนไลน์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่มักเป็นเพราะการขาด Social Relations หรือการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเพจได้ดีพอ ด้วยเหตุนี้ การสื่อสารและโต้ตอบลูกค้าได้รวดเร็วและทันท่วงที ลูกค้าไม่ต้องรอนาน จะทำให้ร้านคุณสอบผ่านและปิดการซื้อขายได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
  5. ในขณะที่ Instagram For Business จะเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี 2017 นี้ วันนี้จึงเป็นเวลาที่ดีในการจับจองพื้นที่ให้ได้ก่อนใคร ท่องไว้ว่าถ้าคุณยังช้า อาจเสียทำเลออนไลน์ที่ดีอย่าง “ชื่อร้าน”  ไปอย่างน่าเสียดาย

7 ความล้มเหลวที่ผู้ทำธุรกิจ Social Food ควรรู้ 

  1. โพสต์คอนเทนต์ที่ไม่น่าสนใจ
  2. ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีจุดเด่นที่แตกต่าง
  3. ไม่มีโปรโมชั่น
  4. ไม่ตอบสนองลูกค้า หรือ ตอบสนองช้าเกินไป
  5. ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพจ
  6. ผู้ดูแล หรือ แอดมิน ไม่รู้จักการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆ ในโซเชียล
  7. ผู้บริหาร หรือ เจ้าของร้านใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คไม่เป็น