“รับมือลูกหนี้การค้า” เพื่อลดความเสี่ยงให้ SMEs


ผู้ประกอบการรู้หรือไม่ว่า “ลูกหนี้ คือ สินทรัพย์อย่างหนึ่งของธุรกิจ” บัญชีลูกหนี้ถือเป็นเครื่องมือแสดงให้เห็นว่าธุรกิจมีสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งตามปกติธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการในรูปแบบเงินเชื่อย่อมมีลูกหนี้เกิดขึ้น ลูกหนี้ประเภทนี้ เรียกว่า ลูกหนี้การค้า

การที่ธุรกิจมีบัญชีลูกหนี้เป็นจำนวนมากย่อมมีความเสี่ยงต่อการที่จะเกิดหนี้สูญได้มากขึ้นด้วย แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถที่จะเลี่ยงได้ บัญชีลูกหนี้จึงเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการส่งเสริมการขาย เพื่อทำให้ธุรกิจได้กำไรเพิ่มมากขึ้น เพราะธุรกิจที่จำเป็นต้องขายสินค้าหรือบริการเป็นเงินเชื่อ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. เพื่อเพิ่มยอดขาย การที่ธุรกิจขายสินค้าเป็นเงินเชื่อย่อมส่งผลให้ลูกค้าซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีราคาสูง เช่น บ้านจัดสรร หรือรถยนต์ หากขายเงินสดอย่างเดียว ลูกค้าที่มีกำลังการซื้อน้อย จะซื้อสินค้าประเภทนี้ยากมาก ธุรกิจจึงต้องให้สินเชื่อแก่ลูกค้าส่งผลให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้น
  2. เพื่อเพิ่มผลกำไร อันเนื่องมาจากยอดขายที่ได้เพิ่มขึ้น หากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า ก็จะทำให้ธุรกิจได้กำไรเพิ่มขึ้น
  3. เพื่อผลด้านการแข่งขันทางการค้า เพราะธุรกิจมีการแข่งขันสูง การให้สินเชื่อเป็นนโยบายหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจนั้นดึงดูดใจลูกค้าให้ซื้อมากขึ้นได้

เมื่อธุรกิจก่อเกิดลูกหนี้การค้าขึ้นก็ย่อมสร้างค่าใช้จ่ายให้เกิดขึ้นด้วย เช่น

  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินลงทุน
  • ค่าใช้จ่ายในการเก็บหนี้
  • ค่าใช้จ่ายในการที่ลูกค้าชำระหนี้ล่าช้า
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับหนี้สูญ

ธุรกิจจะมีลูกหนี้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ

  • ขนาดของยอดขาย
  • นโยบายสินเชื่อ
  • เงื่อนไขการขาย

“การบริหารลูกหนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม” หากผู้ประกอบการสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ย่อมทำให้ธุรกิจมียอดขายที่สูงขึ้น แต่หากผู้ประกอบการไม่สามารถบริหารได้ ก็ย่อมส่งผลเสียให้กับธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการควรรู้จักเกณฑ์การวิเคราะห์ความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าโดยพิจารณาจากหลักที่เรียกว่า 5C’s ดังนี้

  1. ความสามารถหรือสภาพคล่องของทรัพย์สินหมุนเวียน
  2. ลักษณะ นิสัยส่วนตัวของลูกค้า
  3. ทุนหรือสิ่งที่บอกถึงฐานะการเงิน
  4. หลักประกัน
  5. สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการใช้หนี้

อยากได้คลังข้อมูลความรู้และกลยุทธ์เพื่อพัฒนาศักยภาพ SMEs อย่างเจาะลึก

สมัคร! www.bizlearning.asia