นักช้อปฯ จีน ยังฮิตซื้อสินค้าออนไลน์


จากผลการวิจัยของ eMarketer บริษัททำวิจัยตลาดในโลกดิจิทัลชื่อดัง ระบุถึงสถานการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในจีนว่า ปี 2016 ที่ผ่านมา จำนวนประชากรจีนกว่าร้อยละ 15 นิยมซื้อสินค้าต่างประเทศ โดยมีมูลค่าสูงถึง 85.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งยังคาดด้วยว่าในปี 2020 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ประชากรจีนจำนวน 325 ล้านคน จะสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปี 2016)

ขณะที่ในปี 2016 พบว่าผู้ซื้อในจีนสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน มูลค่าถึง 473 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของการค้าปลีกผ่านอีคอมเมิร์ซทั้งหมด ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวเกิดจากการขนส่งระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และความนิยมบริโภคสินค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น

แม้ว่ามาตรการภาษีเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่บังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2016 จะเป็นผลลบต่อสินค้า บางประเภท แต่ความต้องการบริโภคสินค้าต่างประเทศผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนยังคาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ราคาสินค้าค่อนข้างต่ำกว่าร้านค้าปลีกออฟไลน์ ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจในคุณภาพว่าเป็นของแท้ และสินค้ามีความหลากหลายมากกว่าร้านค้าออฟไลน์

ด้าน McKinsey ที่ปรึกษาด้านการบริหารชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่า ปี 2022 คนชั้นกลางในจีน จะเพิ่มขึ้นเป็น 630 ล้านคน และจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการซื้อสินค้าต่างประเทศ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านั้นจะโหยหาสินค้าของแท้ที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ

นอกจากนั้น Tmall Global ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2014 โดยถือเป็นตลาดกลางอีคอมเมิร์ซอันดับต้นๆ ของจีน และมีส่วนสนับสนุนให้ แบรนด์ต่างชาติขายสินค้าโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยให้ผู้ซื้อติดต่อผ่านผู้ขายโดยตรง เผยข้อมูลในปี 2016 ระบุว่าปริมาณในหมวดสินค้านำเข้าเพิ่มจากปี 2015 ร้อยละ 50 หรือมีสินค้านำเข้าประมาณ 3,700 รายการ

ภาพจาก www.tmall.com

ทั้งนี้ สินค้าแบรนด์ต่างประเทศกว่า 14,500 รายการ จาก 63 ประเทศได้เปิดร้านค้าออนไลน์ โดยที่ร้อยละ 80 ของร้านดังกล่าว
เปิดร้านใน Tmall Global และยังพบด้วยว่า ร้อยละ 70 ของลูกค้า Tmall Global มีช่วงอายุระหว่าง 24 – 32 ปี โดยมีรายได้
ต่อปีประมาณ 100,000 หยวน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลักและเมืองรอง

สำหรับสินค้าที่ขายดี 3 อันดับแรกได้แก่

  • สินค้าหมวดความงามและบำรุงผิว
  • อาหารและเครื่องดื่ม
  • สินค้าเพื่อแม่และเด็ก

ทั้งนี้ ยังพบว่าสินค้าบำรุงผิวส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อจากร้าน Matsumoto Kiyoshi แบรนด์ดังจากประเทศญี่ปุ่น อาหารเสริม จากประเทศออสเตรเลีย และ น้ำมันมะกอกจาก Sainsbury’s จากประเทศอังกฤษ โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าใน Tmall Global เช่น พ่อแม่สั่งซื้อสินค้าแม่และเด็กจากต่างประเทศผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ คนรุ่นใหม่ที่มีอิสระทางความคิดในการเลือกซื้อสินค้าใหม่ โดยมักซื้อสินค้าเลียนแบบนักแสดงและชอบอ่านคำรีวิวสินค้าจาก อินเทอร์เน็ต

*****ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน เผยว่าแนวโน้มจำนวนคนชั้นกลางในจีนที่เพิ่ม ขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อคนที่เพิ่มขึ้น ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวจีนที่นิยมซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความต้องการสินค้าต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ (ปี 2016 จีนนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่ามากที่สุดอันดับ 10) ทั้งนี้ ้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษารายละเอียดที่สำคัญอื่นๆ เช่น กฎระเบียบการนำเข้า ภาษี การหาพันธมิตรชาวจีน ทรัพย์สินทางปัญญา ช่องทางในการรับชำระค่าสินค้า การส่งสินค้า เป็นต้น เพื่อช่วยให้การเข้าสู่ตลาดจีนเป็นไปอย่างราบรื่น

ที่มา : DITP