แนวคิด “การเลือกซื้ออาหารของคนจีน” เปลี่ยนไป


การวิเคราะห์ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในตลาดจีนพบว่า จากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แนวคิดในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคชาวจีนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยแนวคิดในการบริโภคที่เปลี่ยนไปมีลักษณะดังนี้

  1. เน้นความประหยัด > พร้อมจ่ายเพื่อความสะดวก

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ ทำให้การบริโภคระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าแตกต่างกันมาก โดยผู้บริโภครุ่นใหม่จะมีพฤติกรรมการบริโภคตามสถานะทางการเงินและบางครั้งก็มีการใช้จ่ายเกินตัว ส่วนแนวคิดแบบประหยัดค่าใช้จ่ายค่อยๆหายไป ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากยินดีจ่ายเพื่อสินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่ดีสะดวกสบาย ส่งผลให้สินค้าด้อยคุณภาพไม่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลัก ทำให้สินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องประดับและบริการเสริมความงามพัฒนาไปด้วย นั่นเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่เลือกซื้อสินค้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดทางการบริโภคในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คือ

อดออมและประหยัด > การบริโภคอย่างพอเพียง > การบริโภคแบบเกินตัว

  1. อาหารที่มีน้ำตาล/ไขมันสูง > อาหารน้ำตาลน้อย/ไขมันต่ำ

คนรุ่นเก่าต้องพบกับความอดอยากแร้นแค้นทำให้คนกลุ่มนี้นิยมอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่เมื่อคนรุ่นเก่าเริ่มมีบทบาทการบริโภคน้อยลง อาหารที่ให้พลังงานสูงอย่างน้ำตาลและไขมัน จึงไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภครุ่นใหม่อีกต่อไป

ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวคิดเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพให้สวยงาม แข็งแรง จึงทำให้อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น ปี 2558 อัตราการขยายตัวของตลาดเครื่องดื่มในภาพรวมของจีนเพิ่มขึ้นเพียง 1% ขณะที่เครื่องดื่มชูกาลังเพิ่มขึ้นถึง 7.6% น้ำผลไม้เพิ่มขึ้น 4.7% ส่วนน้ำอัดลมที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านผลิตภัณฑ์นม เช่น นมอินทรีย์ นมนำเข้าและโยเกิร์ดเพิ่มขึ้นมากกว่านมธรรมดา

หลังจากปี 2553 สินค้าอาหารที่ค่อยๆขายได้ลดลงที่สุด คือ อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อาหารทอดน้ำมัน puffed food บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ด้านเครื่องดื่มอย่าง น้ำบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มโปรตีนเกษตรมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง ในปี 2558 ปริมาณการขายน้ำบรรจุขวดมีจำนวน 87.66 .66 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (soft drink) คิดเป็นรายได้ประมาณ 140,000 ล้านหยวน แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ค่อนข้างซบเซา แต่ก็ยังมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 12.15% โดยปี 2558 น้ำแร่มีการขยายตัวค่อนข้างสูง ซึ่งมีปริมาณถึง 16 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านหยวนในสัดส่วน 18.3% ของน้ำบรรจุขวดทั้งหมด

ปี 2559 ที่ผ่านมารายได้ของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโปรตีนเกษตรมีมูลค่า 121,720 ล้านหยวน คาดว่าในปี 2563 ขนาดของตลาดเครื่องดื่มโปรตีนเกษตรจะมีมูลค่าสูงถึง 258,300 ล้านหยวน และเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 24.2% ของธุรกิจเครื่องดื่ม