กาญชนิต เทอดโยธิน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านชะลาด ต.ป่าม่วง อ.เมือง จ.ตาก กล่าวว่า เนื่องจากเป็นพยาบาลในชุมชนอยู่กับผู้ป่วยติดเตียง เป็นแผลกดทับ ซึ่งเมื่อก่อนมีผู้ป่วยไม่มากนัก ทางเราก็พอที่จะหายืมที่นอนลมหรือที่นอนที่สามารถป้องกันแผลกดทับจากโรงพยาบาลแม่ข่ายมาได้ แต่ช่วงหลังผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ มีจำนวนมากขึ้น การหยิบยืมที่นอนลมจึงไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย เพราะต้องเข้าคิวรอ ทำให้แผลกดทับเกิดการลุกลามไปไกลจนยากเกินเยียวยา
“นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรหากที่นอนลมไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย”
จุดเปลี่ยนของการสร้างสรรค์
จากนั้นจึงเริ่มต้นค้นหาข้อมูลจากเว็บไซท์ต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีการผลิตเตียงนอนทางเลือกสำหรับหรับผู้ป่วยประเภทนี้มากนัก จะมีก็เพียงที่นอนลม ที่นอนเจล ที่นอนระบบไฟฟ้า และมีราคาสูง เลยศึกษาข้อมูลต่างๆทางออนไลน์ จนไปเจอข้อมูลงานวิจัยในหอสมุดของสหรัฐฯ จึงได้สมัครเป็นสมาชิกเพื่อขอศึกษาเพื่อประกอบการวิจัย ซึ่งผ่านการตรวจเช็คประวัติถึง 2 เดือนจนได้รับอนุมัติ จากการศึกษาได้ค้นพบว่าที่นอนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยคือที่นอนน้ำ ซึ่งได้มีการคิดค้นมาแล้วกว่า 300 ปี แต่สาเหตุที่ไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากการพัฒนายังไม่ชัดเจนมาก จึงพยามคิดค้นให้เกิดต้นแบบที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ
“ในขณะทำงานที่อนามัยบ้านชะลาด ไปเจอถุงใส่ปัสสาวะของผู้ป่วย เลยทดลองนำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นที่นอนพร้อมใส่น้ำเข้าไป ต่อจากนั้นได้ทำหนังสือขอทดสอบจริงกับผู้ป่วย ผลการทดลองในผู้ที่มีอาการแผลกดทับ 5 รายปรากฏว่าอาการทุกคนต่างดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อนำสถิติมาเปรียบเทียบกับที่นอนแบบอื่นๆแล้ว พบว่าที่นอนน้ำช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น นอกจากนั้นยังได้ทดสอบกับผู้ป่วยที่นอนติดเตียง โดยเริ่มให้นอนตั้งแต่ช่วงแรกๆที่เข้ามารักษา พร้อมทำกายภาพบำบัด ผลออกมาว่าไม่พบแผลกดทับเกิดขึ้นเลย ซึ่งนี่คืออีกจุดเด่นที่ต่างจากที่นอนผู้ป่วยแบบอื่นๆ เพราะในการทำกายภาพบนที่นอนแบบอื่นในระยะยาวจะทำให้เกิดแผลกดทับได้”
ต้นแบบที่ชัดเจนของนวัตกรรมสุดล้ำ
หลังจากการใช้งานในระยะเวลาหนึ่ง มีผลตอบกลับว่า เนื่องจากที่นอนน้ำทำขึ้นมานี้ เป็นถุงพีวีซี ซึ่งมีระยะเวลาการใช้งานเพียงเดือนเดียวทำให้ถุงแตกได้ง่าย เลยเป็นโจทย์การพัฒนาที่นอนน้ำตัวนี้ให้มีมาตรฐาน สามารถใช้งานได้จริงมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ ซึ่งช่วงนั้นมีข่าวว่าราคายางของเราตกต่ำ ทำให้มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้สร้างสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งเป็นอีกทางที่สามารถช่วยเกษตรกรยางพาราได้ จึงส่งเรื่องขอให้ช่วยออกแบบพัฒนาที่นอนยางพาราไปกับสถาบันต่างๆกว่า 22 แห่ง ซึ่งไม่มีใครรับทำเลย จนสุดท้าย “การยางแห่งประเทศไทย” รับปากว่าจะช่วยออกแบบที่นอนน้ำตัวต้นแบบให้ โดยการดูแลของ ดร.นพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งในการพัฒนาช่วงนี้สามารถตอบโจทย์การรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในเรื่องการออกแบบอยู่ ซึ่งขณะนั้นเครื่องมือของการยางที่มีอยู่ยังไม่พร้อมทำออกมาในรูปแบบสำเร็จบวกกับโครงการที่การยางแห่งประเทศไทยได้ช่วยพัฒนาให้ได้สิ้นสุดลงทำให้ต้องมองหาแหล่งพัฒนาต่อ
จึงเดินหน้าหาโรงงานต่อจนไปเจอโรงงานผลิตจุกนมเด็ก ชื่อโรงงานไทยยางประดิษฐ์ และควักเงินเก็บของตัวเอง 6 หมื่นบาทมาเป็นค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจำนวน 2 ชิ้น เนื่องจากต้องการให้รูปแบบสินค้าออกมาชัดเจนและได้มาตรฐาน จนพัฒนาองค์ประกอบที่นอนน้ำทั้งหมดจนเป็นที่พอใจ
สินค้าดี การันตีด้วยมาตรฐาน
หลังจากที่ได้ที่นอนน้ำต้นแบบที่ชัดเจนแล้วได้ส่งเข้าประกวดด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยกระทรวงสาธารณสุข จนได้ที่ 1 ระดับประเทศ สาขาครอบครัว ซึ่งก็มีหลายผลิตภัณฑ์ที่เข้าประกวดแล้วแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานต่อ แต่ตนมองว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้กลับมาลุกนั่งได้อีกครั้งด้วยการตีที่นอนน้ำเพื่อไปกระตุ้นร่างกายทำให้ร่างกายเกิดการฟื้นฟู และหากทำกายภาพบำบัดต่อก็จะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีโอกาสเดินเองด้วยการใช้เหล็กค้ำยันได้ ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ไทย, นวัตกรรมแห่งชาติ, พร้อมเตรียมรับมาตรฐาน มอก. และ อย. เร็วๆนี้
สร้างประโยชน์ทั้งคนป่วยและคนดูแล
นอกจากนั้นที่นอนน้ำนี้ยังช่วยลดภาระของพยาบาลและผู้ดูแลคนป่วยได้มาก เช่น ไม่ต้องมาคอยพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง และผลวิจัยจากต่างประเทศยังระบุว่าคนเราสามารถนอนบนที่นอนน้ำได้ถึง 24 ชั่วโมง แต่สำหรับผู้ป่วยนอนนานๆอาจจะเกิดอาการเมื่อยได้ ซึ่งพยาบาลหรือผู้ดูแลก็อาจจะพลิกตัวในระยะเวลาที่นานขึ้นกว่าเดิมได้นาน 6-8 ชั่วโมง ทำให้คนที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยยังมีเวลาทำงานอย่างอื่นหรือออกไปทำงานได้ ทั้งยังช่วยลดการทำแผลและช่วยลดการใช้เงินซื้อเวชภัณฑ์เพื่อการทำแผล มีสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สร้างงาน สร้างอาชีพสู่คนในชุมชน
ส่วนผ้าคลุมที่นอนใช้เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีการวิจัยออกมามากมายว่ามีคุณสมบัติพิเศษ ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย ลดการระคายเคือง ระบายความร้อนได้ดี ลดความอับชื้น แห้งไว ซึ่งในส่วนของการเย็บและการ QC จะเป็นฝีมือของคนในชุมชนบ้านชะลาด เพื่อต้องการสร้างงานสร้างอาชีพในหมู่บ้าน
ขณะนี้ราคาขายอยู่ที่ 15,900 บาท ซึ่งตนเองยังรู้สึกว่าแพงอยู่ นั่นเพราะไม่ได้ผลิตในจำนวนครั้งละมากๆ ทำให้ต้นทุนที่สูงถึง 13,000 บาท ที่ผ่านมามีต่างชาติมาขอซื้อลิขสิทธิ์ แต่มองว่านวัตกรรมนี้ควรจะเกิดการสร้างงานให้คนในชุมชนและควรเป็นสินค้าที่คนไทยได้ร่วมภูมิใจจึงไม่ขาย อนาคตถ้าหากผู้ใช้สินค้าเห็นว่ามันดีจริง ก็อาจมีการบอกต่อและสั่งซื้อเยอะขึ้น เราก็จะสามารถสั่งผลิตได้ครั้งละมากๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง