จากงานเสวนา “อาชีวะ 4.0 ศักยภาพแห่งอนาคต” ซึ่งจัดโดยโครงการ Chevron Enjoy Science เมื่อ 14 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่น่าสนใจผ่านมุมมองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้แรงงานอาชีวะในยุค S-Curve ได้เตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้าในเรื่องของการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของ เทคโนโลยี
เคมี-ไฟฟ้า-วัสดุศาสตร์ เรื่องจำเป็นของ เทคโนโลยี รถพลังงานไฟฟ้า
อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือเรื่องของ “รถพลังงานไฟฟ้า” ทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากลักษณะของรถยนต์จะถูกเปลี่ยนไปให้มีน้ำหนักที่เบากว่าเดิม จึงต้องมีการคิดค้นด้านวัสดุศาสตร์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำให้รถแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา ส่วนเรื่องที่เป็นหัวใจหลักเลยก็คือเรื่องของแบตเตอรี่และการออกแบบระบบการชาร์จและจ่ายไฟ อันนี้ต้องใช้แรงงานด้านวิศวกรเคมีทำงานร่วมกับช่างไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การเรียนการสอนทักษะของอาชีวะจะต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้
ดิจิทัลต้องได้ภาษาอังกฤษก็ต้องเป็น ความต้องการของทุกอุตสาหกรรม
ทุกอุตสาหกรรมใน S-Curve ต่างก็มีความต้องการในเรื่องของออโตเมชันเข้ามาใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่ระบบที่ว่ามีมักจะเป็นเทคโนโลยีที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้นทักษะในการสื่อสารของแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ต้องมีความสามารถในเรื่องของภาษาต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีที่นำเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนอีกทักษะหนึ่งที่จำเป็นพอๆ กับทักษะด้านภาษาก็คือทักษะด้านดิจิทัล เนื่องจากเทคโนโลยีที่นำเข้ามาในปัจจุบันและในอนาคตล้วนแล้วแต่ต้องการทักษะด้านดิจิทัลช่วยในการควบคุมทั้งสิ้น สองเรื่องนี้จึงกลายเป็นของคู่กันที่เป็นที่ต้องการในทุกอุตสาหกรรม
Data Scientist เรื่องจำเป็นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาในด้านความมีประสิทธิภาพของการผลิตชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ต้องออกมาแล้วมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีที่สุด เรื่องนี้การใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง การวิเคราะห์ข้อมูลให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเป็นสิ่งจำเป็น และทักษะด้านนี้นับวันก็จะยิ่งมีความต้องการในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย และจะกลายเป็นความต้องการของทุกอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป การเตรียมทักษะของอาชีวะจึงจะขาดเรื่องนี้ไปไม่ได้
Multi Skill คือทางออกของอาชีวะ 4.0
เมื่อทักษะใหม่ๆ มีเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าแรงงานหนึ่งคนจะมีทักษะเพียงด้านเดียวในตัวย่อมไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้นแรงงานเดิมที่มีอยู่หากไม่อยากหลุดออกไปจากอุตสาหกรรมก็ต้องเรียนรู้และเพิ่มทักษะใหม่ๆ เข้าไปในตัว เด็กที่กำลังเรียนอยู่ทักษะเฉพาะทางเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า Multi Skill ทางออกของอาชีวะ 4.0 ก็คือต้องมีทักษะความสามารถที่หลากหลายอยู่ในตัวเอง ถึงจะอยู่รอดและเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมในอนาคตได้