ความมั่นใจ เมื่อต้องพูดต่อหน้าผู้คนมากมาย หากคุณไม่เตรียมพร้อมให้ดีอาจมีสะดุด หรือทำภารกิจล้มไม่เป็นท่า ความเชื่อมั่นในตนเองอย่างพอดี ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของคุณดูดีขึ้นเป็นกอง
หากคุณไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เรามี 9 ยุทธวิธีสร้างความเชื่อมั่น…มาฝากคุณ
- รู้ และเชื่อมั่นในสิ่งที่จะถ่ายทอด
รู้จัก เข้าใจในเรื่องที่จะพูด ถ้าไม่รู้ให้อ่าน ค้นคว้าเพิ่มเติม นอกจากรู้และเข้าใจแล้วทางที่ดีจะต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนจะกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่นเกิดจากประสบการณ์ของตนเอง หรือของบุคคลที่เราได้รับรู้มา ซึ่งจะเป็นตัวอย่างในการทำให้ผู้พูด และผู้ฟังเชื่อมั่นไปด้วยกัน
- รู้จักบทบาทตัวเอง
The Show Must Go On บอกตัวเองว่า วันนี้เรามาทำหน้าที่ตามบทบาทต่างๆ เช่น ครู วิทยากร พิธีกร ผู้ถ่ายทอด ฯ ซึ่งผู้ฟังก็ต้องยอมรับบทบาทของตนด้วย เมื่อเราคิดว่าเราเล่นบทบาทผู้พูด ย่อมต้องมีผู้ฟัง ฉะนั้น เมื่อก้าวขึ้นสู่เวทีเราจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะเราได้เตรียมเรื่องไว้อย่างดีกว่าหลายๆ คนที่ฟังอยู่ด้านหน้าเรา
- เชื่อมั่นในตนเอง
สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝน ฝึกหัดได้จากการแสดงออกทางบุคลิกภาพ กิริยาท่าทาง และการแสดงออก คือ การบอกกับตัวเองว่า เราจะแสดงออกอย่างเชื่อมั่น โดยการพูดด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่เรารู้ และมีประสบการณ์ พูดเต็มเสียง จริงจัง จูงใจ เหมาะสมในเวลาเดียวกัน เดินเร็วกว่าปกติเล็กน้อย ยืนอกผายไล่ผึ่ง ไม่ใช่ยืนหลังค่อมห่อไหล่คอเอียง ฯลฯ
- เตรียมบันทึก หรือโน้ตย่อไว้
ผู้ถ่ายทอดที่ดีไม่ควรอ่านจากต้นฉบับในขณะที่พูด ทางที่ดีควรจะมีโน้ตย่อ หรือแผ่นใสบรรจุข้อความเป็นแนวคิดรวบยอดไว้แล้ว
- แต่งกายเหมาะสม
บุคลิกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่งกายดีจะมีความเชื่อมั่น ถ้าวันที่ต้องก้าวขึ้นสู่เวทีแล้วใส่ถุงน่อง ถุงเท้าขาด กระโปรงหรือกางเกงขาด สารพัดจะขาดแบบนี้ จะมีมาดนักพูดอยู่หรือ?
- ควรเตรียมเนื้อหาข้อมูลสำรองไว้
ถ้าคุณรู้ว่าเขาจะให้เราพูด 30 นาที ควรเตรียมเรื่องเผื่อไว้สัก 1 ชั่วโมง เพราะบางท่านสามารถพูดจบไปก่อนเวลา 30 นาที เพราะขาดการเตรียมเนื้อหาสำรองไว้
- บอกกับตัวเองว่า “ต้องสู้ถึงจะชนะ”
ก่อนขึ้นเวทีต้องบอกกับตัวเองว่า “ยังไงๆ วันนี้ฉันขอสู้ตาย” ไม่ใช่บอกกับตัวเองว่า “ขึ้นเวทีวันนี้สงสัยตายแน่ๆ” ถ้าคิดแบบนี้ก็ตายตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวทีแล้ว
- ก่อนเริ่มทำหน้าที่ควรเริ่มทำความคุ้นเคยกับสถานที่ก่อน
ควรสำรวจพื้นที่ ทำความคุ้นเคยกับด้านหน้าเวที ไมโครโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเมื่อใกล้เวลา ก็ควรจะพูดคุยกับผู้ฟังก่อน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรได้
9.พูดเสียง ชัดเจน
ถ้าหากพฤติกรรมเราพบว่า เวลาแสดงในการพูดกลัวเสียงสั่น เสียงแหบ เสียงหาย ให้ใช้วิธีพูดเสียงดังไปเลย แต่ไม่ใช่ตะโกน