บิทคอยน์เกี่ยวอะไรด้วย ถ้าคนจะโกงกันเอง


คดีหลอกเจ้าพ่อ บิทคอยน์ มาร่วมลงทุนแล้วเบี้ยวเอาเงินไปทำอย่างอื่นนั้น ในทางกฎหมายก็ยังมีการดำเนินคดีกันต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องของความไม่ปลอดภัยของสกุลเงินดิจิทัล นั้นควรจะเข้าใจกันได้แล้วว่างานนี้ไม่ได้มีเรื่องของการแฮกหรือเรื่องของทางเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเลย สิ่งที่จะกระทบมากที่สุดจากเรื่องนี้คงเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทยมากกว่า

จุดเริ่มต้นคือคอนเน็กชั่นห้องเรียนการลงทุนในต่างประเทศ

ตัวละครหลักๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้คือ

-นายเออาร์นี โมตาวา ซาริ เจ้าพ่อบิทคอยน์ ร่ำรวยจากสกุลเงินดิจิทัล

-นายปริญญา จารวิจิต ผู้กว้างขวางด้านบิทคอยน์ในมาเก๊า ซึ่งเป็นพี่ชายของ จิรัชพิสิษฐ์ จารวิจิต หรือ บูม

-นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ อดีตผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งในประเทศ

ทั้ง 3 คนได้รู้จักกันในหลักสูตรพิเศษด้านการลงทุนในต่างประเทศ ดูจากโปรไฟล์แต่ละคน เมื่อมาเจอกันก็มีการชักชวนกันจัดตั้งบริษัท ไว โฮลดิ้ง กรุ๊ป เพื่อทำธุรกิจลงทุนในเงินดิจิทัลที่ชื่อว่า Dragon Coin (DRG) โดยมีการแบ่งหน้าที่ตามความรับผิดชอบของแต่ละคนดังนี้ นายประสิทธิ์ เป็นคนทำเรื่องเอกสาร นายเออาร์นี ทำเรื่องบิทคอยน์ นายปริญญา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นั่นคือการลงทุนครั้งแรกของนายเออาร์นี

โดนหลอกซ้ำจนต้องแจ้งความ

เมื่อเวลาผ่านไปกลับไม่ได้รับการโอน Dragon Coin ให้อย่างที่ได้ตกลงกันไว้ จึงขอปรึกษากับผู้ร่วมลงทุน กลับถูกชักจูงให้ร่วมลงทุนกับอีก 3 บริษัท โดยหนึ่งในนั้นคือบมจ. ดีเอ็นเอ 2002 ซึ่งรวมมูลค่าการลงทุนทั้ง 2 รอบรวมกันแล้วเกือบ 800 ล้านบาท แน่นอนว่าการลงทุนเพิ่มครั้งหลังนี้ก็ไม่ได้ผลตอบแทนและจำนวนหุ้นอย่างที่ตกลงกันไว้ ก็เลยต้องแจ้งความและกลายเป็นคดีโด่งดังอย่างทุกวันนี้

คดีนี้ไม่มีเรื่องทางเทคนิคหรือความไม่ปลอดภัยของสกุลเงินดิจิทัลมาเกี่ยวข้องเลย บิทคอยน์ถูกใช้ในการโอนเงินลงทุนเท่านั้น ส่วนดราก้อนก็คือเงินดิจิทัลที่ใช้ในกาสิโนมาเก๊าเป็นตัวนำมากระตุ้นความสนใจในการลงทุน การหลอกลวงครั้งนี้บิทคอยน์ไม่เกี่ยวอะไรด้วยเลย เป็นการหลอกล่อให้ลงทุนแล้วก็โกงกันเหมือนคดีทั่วๆ ไป เพียงแต่คนที่โดนหลอกเป็นเจ้าพ่อบิทคอยน์ ก็เลยมีการโอนเป็นเงินสกุลดิจิทัลนี้มาเข้า E-wallet ก่อนถึงจะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทออกมาได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติไม่มีอะไรซับซ้อน ความคืบหน้าของคดีก็ต้องติดตามกันต่อไป